ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่ จุดอ่อน“พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม

ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่  จุดอ่อน“พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม

ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่ จุดอ่อนพรรคใหญ่ 2 ขั้ว “พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม “สร้างอนาคตไทย-กล้า” ทีมแน่น - ปชป.ดัน“ดร.บิล”รุ่นใหม่แทน“ปริญญ์”

เศรษฐกิจโลกที่ผันผวนในแดนลบ เนื่องจากวิกฤติโควิด-19 ที่ลากยาวมากว่า 3 ปี ต่อด้วยวิกฤตสงครามยูเครน-รัสเซีย ซึ่งมีเดิมพันการต่อรองเชิงอำนาจของประเทศมหาอำนาจ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจประเทศไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แม้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะพยายามแก้ไขปัญหาด้านเศรษฐกิจ อาทิ ราคาพลังงาน ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค ที่เริ่มปรับตัวสูงขึ้น แต่ยังมีเครื่องหมายคำถามถึงขีดความสามารถของรัฐบาล ที่มีนายกฯ เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจประเทศด้วยตัวเอง และถูกมองว่าเป็นจุดอ่อนในการบริหาร   

การเลือกตั้งครั้งหน้า นอกจากนโยบายประชานิยมด้านต่างๆ แล้ว นโยบายด้านเศรษฐกิจ ย่อมถูกคาดหวังไว้สูง ว่าแนวนโยบาย และทีมเศรษฐกิจของรัฐบาลในอนาคต จะสามารถเข้ามาแก้ปัญหาได้อย่างตรงจุด รวดเร็ว เป็นรูปธรรม 

“กรุงเทพธุรกิจ” พาไปเจาะทีม “ขุนพลเศรษฐกิจ” ของแต่ละพรรคการเมือง เพื่อสะท้อนแนวคิด นโยบายในการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ซึ่งจะเป็นจุดแข็ง และจุดขายสำคัญ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

พปชร.ใช้บริการ“ชาติชาย”

เริ่มที่พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล โดยการเลือกตั้งปี 2562 มี “ทีมเทคโนแครต” ของ “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี เป็นตัวชูโรง ทำให้ภาพลักษณ์ของทีมเศรษฐกิจ ค่อนข้างน่าเชื่อถือ แต่ภายหลังที่ “ทีมเทคโนแครต” ในนาม “กลุ่ม 4 กุมาร” โดยเฉพาะ อุตตม สาวนายน อดีต รมว.คลัง และสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีต รมว.พลังงาน พ่ายศึกการเมืองภายในพรรค ต้องเดินจากไป พลังประชารัฐก็แทบไม่เหลือมือเศรษฐกิจให้ใช้บริการ

โดยในช่วงต้นปี 2565 “สันติ พร้อมพัฒน์” เลขาธิการ พปชร.ระบุว่า ได้แต่งตั้ง “ชาติชาย พยุหนาวีชัย” อดีตผู้อำนวยการธนาคารออมสิน ร่วมทีมเศรษฐกิจของพรรค เพื่อช่วยคิดนโยบาย และกอบกู้ภาพลักษณ์ด้านเศรษฐกิจของพรรค แต่ในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา บทบาทของ “ชาติชาย” แทบไม่ปรากฏชัดเจน งานนโยบายด้านเศรษฐกิจของ พปชร. ไม่มีให้พูดถึง ซึ่งอาจจะมีข้อจำกัดอยู่มาก เนื่องจากหากออกมาเสนอนโยบายทางเศรษฐกิจ อาจจะขัดกับนโยบายหลักของรัฐบาล

ดังนั้นต้องรอติดตามว่า พปชร.จะหาใครจะมาเป็น “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ของพรรค หรือจะเลือกใช้บริการ “ชาติชาย” ที่ได้ทาบทามไว้ หรือยังมี “บิ๊กเนม” รอเปิดตัวหลังวัน ว. เวลา น. เลือกตั้งชัดเจนมากกว่านี้

ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่  จุดอ่อน“พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม

จับตาเพื่อไทยดัน“เศรษฐา”คุมทัพ 

พรรคเพื่อไทย รับรู้กันว่านโยบายของพรรคเพื่อไทย จะผ่านกระบวนการคิด การกลั่นกรองมาจาก “โทนี่” ทักษิณ ชินวัตร ร่วมกับทีมยุทธศาสตร์พรรค โดยเฉพาะนโยบายด้านเศรษฐกิจ ซึ่งมี “หมอมิ้ง” พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช และ “หมอเลี้ยบ” สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นคีย์แมนช่วยคิดช่วยขับเคลื่อน

โดย “ทักษิณ-ทีมยุทธศาสตร์” พรรคเพื่อไทย จะคอยสนับสนุนงานด้านนโยบายอยู่หลังฉาก ซึ่งจะมีวงประชุมร่วมกันทุกสัปดาห์ หากมีเรื่องร้อน ต้องแก้เกมอาจจะประชุมหลายครั้งต่อสัปดาห์

ส่วนงานหน้าฉากมี “เสี่ยแดง” พิชัย นริพทะพันธุ์ รองประธานยุทธศาสตร์ ด้านเศรษฐกิจ เล่นบทเป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ เนื่องจากยังไม่มีคำสั่งแต่งตั้งอย่างชัดเจน โดย “พิชัย” คอยกำกับการทำงานของคณะทำงานเศรษฐกิจ

นอกจากนี้ ยังมี เด็กปั้นของ “ภูมิธรรม เวชยชัย” อย่าง “ดร.เผ่าภูมิ โรจนสกุล” รองเลขาธิการพรรค ผู้อำนวยการศูนย์นโยบายพรรคเพื่อไทย และอยู่ในคณะทำงานด้านเศรษฐกิจพรรคมา 4 ปี

ดร.เผ่าภูมิ จบปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์ University of Illinois at chicago สหรัฐอเมริกา กลับมารับราชการที่สำนักนโยบายระบบการเงินและสถาบันการเงิน สำนักงานเศรษฐกิจการคลังได้ปีเศษก็เปลี่ยนมาเดินในเส้นทางการเมืองเข้ามาทำงานที่พรรคเพื่อไทยปี 2557 กับภูมิธรรม เวชยชัย ขณะที่เป็นเลขาธิการพรรค และรอโอกาสที่พรรคจะมอบหน้าที่อย่างเป็นทางการ

ที่ไม่ควรมองข้าม หลังจาก “อุ๊งอิ๊ง” แพทองธาร ชินวัตร เข้ารับตำแหน่งประธานคณะที่ปรึกษาด้านการมีส่วนร่วมและนวัตกรรม ก็ได้คัดเลือก “คนรุ่นใหม่” ที่มีแนวคิดเศรษฐกิจก้าวหน้ามาอยู่ในทีมเศรษฐกิจเพื่อไทย เพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งมากขึ้น

เมื่อมีรุ่นใหม่ ก็มีรุ่นใหญ่ ที่น่าจับตา ชื่อของ “เศรษฐา ทวีสิน” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ถูกคาดหมายว่าจะอยู่ 1 ใน 3 บัญชีรายชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรค และอาจเข้ามารับหน้าที่ “หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ” ควบคู่กัน ซึ่งเศรษฐาถือว่ามีภาพลักษณ์ที่บาลานซ์ภาพ "แดงทั้งแผ่นดิน" ของเพื่อไทยได้อย่างชัดเจน และเขาก็อยู่ในกลุ่มเพื่อนสายตรงอดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ยังมีเพื่อนร่วมก๊วน อย่าง "กิตติรัตน์ ณ ระนอง" เป็นแนวร่วม 

ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่  จุดอ่อน“พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม

ปชป.ดัน"ดร.อิสระ"หน.ทีมศก.ทันสมัย

พรรคประชาธิปัตย์(ปชป.) ในห้วงที่ผ่านมาเผชิญแรงกระเพื่อม จากปัญหาเสถียรภาพภายในพรรค ซึ่งแบ่งออกเป็นกลุ่มก๊วนอย่างเห็นได้ชัด สภาวะเลือดไหล รวมถึงการลาออกของบรรดา “บิ๊กเนม” ในหลายระลอก และส่งผลให้ค่าย ปชป.ต้องฟอร์มทีมครั้งใหญ่ โดยเฉพาะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่เพิ่งเกิดอุบัติเหตุทางคดีกับ “ปริญญ์ พานิชภักดิ์”

ล่าสุด ที่ประชุมคณะกรรมการบริหาร ปชป.วันที่ 2 พ.ค.2565 ได้มีมติแต่งตั้ง “ผศ.ดร.อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ” เป็น "ประธานคณะกรรมการเศรษฐกิจทันสมัย" คนใหม่แทน ปริญญ์

สำหรับ อิสระ หรือ “ดร.บิล” อายุ 39 ปี ถือเป็นคนหนุ่มรุ่นใหม่ สเปก ปชป.เพิ่งเข้ามาเป็นสมาชิกเมื่อปลายปี 2561 และก้าวกระโดดขึ้นเป็นรองเลขาธิการพรรคในปีต่อมา 2562 และได้ลง ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับ 23 กระทั่งต่อมาได้ขยับเป็น ส.ส.แทน จุติ ไกรฤกษ์ รมว.พัฒนาสังคมฯ ที่ลาออก

นับเป็นเลือดใหม่ ปชป.ที่โตเร็ว ด้วยแรงส่งจาก “ชวน หลีกภัย” โดย ดร.บิล เป็นเลขานุการประธานรัฐสภา 

โปรไฟล์ ดร.บิล จบวิศวกรรมเคมี จุฬาฯ และปริญญาเอก ด้านวิศวกรรมศาสตร์ จาก Imperial College London (ทุน Marie Courie Fellowship ของสหภาพยุโรป) เป็นทั้งนักธุรกิจ และนักวิชาการ ดูแลธุรกิจครอบครัว ด้านชิ้นส่วนยานยนต์ โดยร่วมทุนกับบริษัททั้งในภาคพื้นเอเชียและยุโรป มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับองค์กรที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านวิศวกรรมในต่างประเทศ งานด้านวิชาการ เป็นอาจารย์พิเศษสถาบันอุดมศึกษาของรัฐและเอกชน ก่อนโดดเข้าสู่การเมือง

สำหรับทีมเศรษฐกิจทันสมัย ในยุคปริญญ์ มีการฟอร์มทีม โดยดึงบุคคลภายนอกส่วนหนึ่งเข้ามาร่วมงานพรรค ขณะที่ทีมเศรษฐกิจพรรคเดิมรุ่นเก๋า ได้ปรับบทบาท ถอยไปอยู่ฉากหลังแทน ซึ่ง ปชป.ยังมี “กนก วงษ์ตระหง่าน - พิสิฐ ลี้อาธรรม -เกียรติ สิทธีอมร - สรรเสริญ สมะลาภา - ธนา ชีรวินิจ” สแตนบายอยู่อีกแผง

ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่  จุดอ่อน“พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม

"ก้าวไกล" ทีมรุ่นใหม่ 3 ประสาน

พรรคก้าวไกล ปัจจุบันมี “ศิริกัญญา ตันสกุล” เป็นหัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ซึ่งเธอร่วมก่อตั้งพรรคอนาคตใหม่มากับ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายมา ตั้งแต่ยุคพรรคอนาคตใหม่ต่อเนื่องมายังพรรคก้าวไกล

และยังมี เดชรัต สุขกำเนิด เป็นดุษฎีบัณฑิตในทางเศรษฐศาสตร์ เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยเกษตร ศาสตร์มาอย่างยาวนาน และเป็นคนคิดสร้างนโยบาย

ขณะเดียวกันก้าวไกล ก็ได้จัดตั้ง Think Forward Center หรือ “ศูนย์ศึกษานโยบายเพื่ออนาคต” ดึงคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่ง เข้ามาร่วมทำงานด้วย โดยเป็นการรวบรวมข้อมูล และศึกษาปัญหาทางเศรษฐกิจในหลายมิติ

เบื้องต้นมีการศึกษาข้อมูลรากฐานความมั่นคงทางการเงิน และการดูแลผู้สูงอายุแบบถ้วนหน้า รวมถึงการชูนโยบาย “อีสานสองเท่า” เปิดเส้นทางพัฒนาภาคอีสาน กระจายรายได้ให้กับท้องถิ่น

แม้พรรคก้าวไกล จะไม่เน้นการสรรหา “บิ๊กเนม” การเมือง แต่ยังมีทีมเศรษฐกิจรุ่นใหม่ ที่รอการเปิดตัวในจังหวะที่เหมาะสม ซึ่งล่าสุด การเปิดตัว “พริษฐ์ วัชรสินธุ” เป็นผู้จัดการการสื่อสารและการรณรงค์นโยบาย ดีกรี เศรษฐศาสตร์ การเมือง ปรัชญา จากออกซ์ฟอร์ด ก็ทำให้เป็นภาพ 3 ประสานด้านเศรษฐกิจของก้าวไกล ได้ชัดเจนขึ้น

ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่  จุดอ่อน“พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม

ศท.รอเปิดตัว “มิ่งขวัญ-ธีระชัย”

พรรคเศรษฐกิจไทย แม้จะเป็นพรรคน้องใหม่ แต่แรงดึงดูดมีสูง เนื่องจาก “บิ๊กน้อย” พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา หัวหน้าพรรค ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ค่อนข้างเอาจริงเอาจังกับการทำพรรคการเมือง

ส่งผลให้ชื่อของพรรคเศรษฐกิจ ดึงดูด “กูรูทางเศรษฐกิจ” ที่ยังไม่มีพรรคการเมืองสังกัด ให้มาอยู่ร่วมช่วยงานพรรคเศรษฐกิจ โดยมีข่าวเปิดดีล “มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์” อดีตรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจหลายกระทรวง ซึ่งถือเป็นนักประชาสัมพันธ์มือทอง รวมถึง “ธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล” อดีต รมว.คลัง มาช่วยงาน

แม้ชื่อของพรรคเศรษฐกิจไทย จะค่อนข้างชัดเจนว่า การสื่อนัยต้องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ “ขุนพล” ตัวหลักยังไม่ตอบโจทย์ ดังนั้น “พล.อ.วิชญ์-ร.อ.ธรรมนัส” จึงพยายามหา “ทีมเศรษฐกิจ” ระดับเชื่อมือได้ เข้ามาเติมเครดิตพรรคอย่างไม่อั้น

ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่  จุดอ่อน“พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม

"เทคโนแครต"จุดแข็งสร้างอนาคตไทย

พรรคสร้างอนาคตไทย มีภาพการชูนโยบายแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจอย่างชัดเจน เนื่องจากมีทีมเทคโนแครตที่เข้มแข็ง ทั้ง “อุตตม สาวนายน” หัวหน้าพรรค “สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์” เลขาธิการพรรค ผ่านงานด้านเศรษฐกิจมาอย่างโชกโชน

ที่สำคัญการชู “สมคิด จาตุศรีพิทักษ์” อดีตรองนายกรัฐมนตรี มาเป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี สามารถการันตีได้ว่าพรรคสร้างอนาคตไทย ถูกดีไซน์มาเป็นพรรคการเมือง ที่มุ่งเน้นการแก้ไขเศรษฐกิจโดยตรง

 ยังไม่หยุดเท่านี้ พรรคสร้างอนาคตไทยยังเดินหน้าทาบทามบุคลากรด้านเศรษฐกิจเข้ามาร่วมทีมอย่างต่อเนื่อง และที่กำลังเข้มข้นคือ การเตรียมโชว์นโยบายเศรษฐกิจของพรรค โชว์ความโดดเด่น ที่เป็นจุดอ่อนของพรรคพลังประชารัฐที่พวกเขาจากมา

ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่  จุดอ่อน“พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม

“สุดารัตน์”ปั้นทีมรุ่นใหม่-สตาร์ทอัพ

พรรคไทยสร้างไทย แม้“คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรค จะยังไม่มีทีมงานด้านเศรษฐกิจระดับบิ๊กเนมมาร่วมงานพรรค แต่ยังมีความพยายามปลุกปั้น “นักธุรกิจรุ่นใหม่” ให้เข้ามามีบทบาทภายในพรรค

โดย “คุณหญิงสุดารัตน์” กำลังทาบทามคนมีชื่อเสียงจาก “ธุรกิจสตาร์ทอัพ” ให้เข้ามาร่วมทำนโยบายด้านเศรษฐกิจ เพื่อรองรับความเปลี่ยนแปลงของโลก

จึงต้องรอดูว่า พรรคไทยสร้างไทย จะมี “บิ๊กเนม” รายใด มานั่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจหรือไม่ หรือคุณหญิงหน่อยจะคุมทีมเศรษฐกิจพรรคด้วยตัวเอง

ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่  จุดอ่อน“พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม

"กรณ์-กอร์ปศักดิ์"จุดแข็งพรรคกล้า

พรรคกล้า ภาพของ “กรณ์ จาติกวณิช” หัวหน้าพรรคกล้า อดีต รมว.คลัง  ในยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีชื่อชั้นชัดเจน ทำภาพลักษณ์ด้านเศรษฐกิจของพรรคกล้า ไร้ปัญหา

ที่สำคัญพรรคกล้า ปั้นทีมเศรษฐกิจหน้าใหม่จากหลายวงการ โดยมี วรวุฒิ อุ่นใจ รองหัวหน้าพรรค อดีตนายกสมาคมค้าปลีกไทย นั่งประธานทีมเศรษฐกิจ ร่วมด้วยนักธุรกิจรุ่นใหม่ที่จะมาดูแลภารกิจต่างๆ ของพรรค อาทิ ดร.อัครเวช โชตินฤมล นักธุรกิจด้านอสังหาริมทรัพย์ ดูแล “เศรษฐกิจสีเทา” ด้วยภารกิจการเปลี่ยนส่วยเป็นภาษี ชูนโยบาย “กล้า Green Deal” เพื่อหารายได้เพิ่มเข้าประเทศ 

เทมส์ ไกรทัศน์ นักธุรกิจภาคบริการ ว่าที่ผู้สมัคร ส.ส.ภูเก็ต ดูแลภารกิจเศรษฐกิจท่องเที่ยว ร่วมกับ ดร.เดือนเต็มดวง ณ เชียงใหม่ ที่จะดูแลภารกิจเศรษฐกิจท่องเที่ยวล้านนา สราวุฒิ สุวรรณรัตน์ นักธุรกิจส่งออกจิวเวลรี่รายใหญ่ ดูแลภารกิจเศรษฐกิจการส่งออก สืบศิษฏ์ ศานติศาสน์ ดูแลภารกิจการศึกษาเพื่ออาชีพ กำลังคน กำลังแรงงานภาคการผลิต เพื่อให้คนไทยมีทักษะใหม่ตอบโจทย์ระบบเศรษฐกิจยุคปัจจุบันและอนาคต กฤษดา เฉลิมสุข อดีตนายกสมาคมโปรแกรมเมอร์ เทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจ มาทำงานด้านเทคโนโลยีเพื่อเศรษฐกิจ เสริมยุทธศาสตร์ของพรรค

เมื่อพรรคกล้าเต็มไปด้วยคนรุ่นใหม่ จึงเติมจุดแข็ง ด้วยการดึงบิ๊กเนม อย่าง "กอร์ปศักดิ์ สภาวสุ” อดีตรองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ รัฐบาลอภิสิทธิ์ มาดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์และนโยบาย เพื่อใช้ความเก๋าเกม เข้ามาดูแลนโยบายด้านเศรษฐกิจ เพิ่มความแข็งแกร่งของพรรคยิ่งขึ้น

ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่  จุดอ่อน“พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม

ภท.-ชทพ.-พรรคเล็กชูนโยบายสังคม 

ขณะเดียวกันยังมีพรรคการเมืองอีกหลายพรรค อาทิ พรรคชาติไทยพัฒนา พรรคภูมิใจไทย พรรคชาติพัฒนา พรรคพลังท้องถิ่นไทย และพรรคเล็ก ที่แนวทางพรรคไม่ได้ชู “ทีมเศรษฐกิจ” เนื่องจากนโยบายของพรรคเหล่านี้มุ่งเน้นนโยบายด้านสังคมมากกว่า

ทั้งหมดคือ ภาพของ “ทีมเศรษฐกิจ” ของแต่ละพรรคการเมือง ทั้งที่ชัดเจนแล้วและยังอยู่ในช่วงฟอร์มทีม เพื่อเป็นความหวังให้ประชาชนในการเลือกตั้งครั้งหน้า 

ประชัน “ทีมเศรษฐกิจ”พรรคใหม่-พรรคใหญ่  จุดอ่อน“พปชร.-เพื่อไทย” ไร้บิ๊กเนม