การปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตลด ‘โกง’ ได้? | ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร

การปลูกฝังความซื่อสัตย์สุจริตลด ‘โกง’ ได้? | ตรีนุช ไพชยนต์วิจิตร

คอร์รัปชันส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคม ทำให้การพัฒนาประเทศเกิดความล่าช้า นอกจากนั้นยังส่งผลต่อการกระจายรายได้ของครัวเรือนทำให้มีความเหลื่อมล้ำกันมากขึ้น

คอร์รัปชันส่งผลกระทบเชิงลบต่อกลุ่มคนยากจนและกลุ่มคนเปราะบางมากกว่ากลุ่มอื่น เพราะลดโอกาสการพัฒนาเชิงระบบและสวัสดิการในการดูแลด้านสุขภาพ การศึกษา การสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ และนโยบายสาธารณะต่างๆ

ปัจจุบันปัญหาคอร์รัปชันมีหลายรูปแบบและมีความซับซ้อนมากขึ้น ดังนั้น มาตรการใดมาตรการหนึ่งอาจไม่สามารถขจัดพฤติกรรมทุจริตได้หมดสิ้น แล้วปัจจัยอะไรที่ช่วยลดปัญหาการคอร์รัปชัน? 

วิธีการที่นิยมใช้ คือ

  • การสร้างพฤติกรรมพึงประสงค์ เช่น การสร้างให้คนหมู่มากมีมุมมองเชิงลบและต่อต้านการคอร์รัปชัน
  • พัฒนานโยบายและพัฒนาระบบเพื่อลดการทุจริต เช่น สร้างระบบการตรวจสอบติดตาม และมีนโยบายการลงโทษผู้กระทำผิด แต่เนื่องจากธรรมชาติของการทุจริตนั้น ทำให้รูปแบบการใช้นโยบายไม่ค่อยมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร เพราะความยากในการค้นหา จับกุม และลงโทษผู้กระทำการทุจริต

เนื่องจากการเข้าถึงข้อมูลการคอร์รัปชันของคนที่แท้จริงนั้นเป็นไปได้ยาก นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจึงใช้เกมรูปแบบต่างๆ ที่มีสภาพแวดล้อมเดียวกันกับธรรมชาติของการคอร์รัปชัน เพื่อจะได้สามารถเข้าถึงพฤติกรรมการคอร์รัปชันของคนได้

ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมามีงานวิจัยหลายชิ้นเริ่มใช้วิธีเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง (experimental economics) เพื่อศึกษาพฤติกรรมทุจริตหรือคอร์รัปชัน งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลอง เป็นประโยชน์อย่างมากต่อการเข้าใจพฤติกรรมการทุจริตและปัจจัยที่สามารถช่วยป้องกันการทุจริตอย่างมีประสิทธิภาพ

เนื่องจากการเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมทุจริตหรือคอร์รัปชันนั้นมีความคลาดเคลื่อนกับค่าความจริงอยู่มาก และส่วนมากข้อมูลที่เก็บได้จะต่ำกว่าค่าความเป็นจริง ด้วยเหตุนี้เองการวัดประสิทธิภาพของนโยบายที่ช่วยป้องกันปราบปรามการทุจริตก็อาจจะมีความคลาดเคลื่อนสูงตามไปด้วย ดังนั้น การทดลองทางเศรษฐศาสตร์จึงเป็นหนึ่งเครื่องมือในการเก็บข้อมูลเพื่อศึกษาพฤติกรรมเกี่ยวกับการคอร์รัปชัน รวมถึงศึกษามาตรการที่สามารถช่วยปราบปรามการคอร์รัปชันด้วย

ยกตัวอย่าง งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการทดลองที่ศึกษาด้านพฤติกรรมคอร์รัปชัน โดยงานของ Chauduri, Paichayontivijit and Sbai (2016) แบ่งกลุ่มผู้เข้าร่วม 3 คน แต่ละคนมีบทบาทต่างกัน คือ 1 คนมีบทบาทเป็นบริษัท 1 คนมีบทบาทเป็นข้าราชการ และอีก 1 คนมีบทบาทเป็นประชาชนทั่วไป 

ในการทดลองบริษัทสามารถยื่นติดสินบนให้กับข้าราชการ โดยข้าราชการตัดสินใจที่จะรับหรือไม่รับสินบนก็ได้ แต่หากรับสินบนประชาชนจะโดนผลกระทบและมีรายได้ลดลง ในขณะที่บริษัทและข้าราชการมีรายได้เพิ่มขึ้น และประชาชนสามารถเลือกที่จะลงโทษบริษัทและข้าราชการได้ งานวิจัยนี้เปรียบเทียบพฤติกรรมในสถานการณ์ที่มีกรอบคำพูด (framing) ที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชันที่ชัดเจน 

เช่น “บริษัท” “ข้าราชการ” “ประชาชน” “ปริมาณการติดสินบน” “การลงโทษ” กับสถานการณ์ที่มีกรอบคำพูดที่เป็นกลาง เช่น “คน ก” “คน ข” “คน ค” “การส่งตัวเลขไปให้ ข เพื่อเพิ่มเงินเค้า” “การส่งตัวเลขไปให้ ก กับ ข เพื่อลดเงินเค้า” ว่าส่งผลอย่างไรกับพฤติกรรม และพบว่าคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่มีกรอบคำพูดที่เกี่ยวกับการคอร์รัปชันจะติดสินบนน้อยกว่าและพบการลงโทษมากกว่าเมื่อเทียบกับคนที่อยู่ในสถานการณ์ที่มีกรอบคำพูดที่เป็นกลาง

การคอร์รัปชันและการโกงหรือทุจริตมีความสัมพันธ์กัน งานวิจัยที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพฤติกรรมการโกงหรือทุจริตกับการคอร์รัปชันของแต่ประเทศพบว่า คนในประเทศที่มีการคอร์รัปชันสูงจะมีพฤติกรรมการโกงหรือทุจริตสูง และคนในประเทศที่มีการคอร์รัปชันต่ำจะมีพฤติกรรมการโกงหรือทุจริตต่ำ 

ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าการโกงและการทุจริตนั้นเป็นพื้นฐานของพฤติกรรมการคอร์รัปชัน เช่นเดียวกับการคอร์รัปชัน การเข้าถึงข้อมูลการทุจริตที่แท้จริงนั้นเป็นไปได้ยาก นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจึงใช้กิจกรรมการโยนเหรียญในการศึกษาพฤติกรรมการทุจริตนี้

งานวิจัยที่ดำเนินการศึกษาพฤติกรรมการทุจริตในประเทศไทยศึกษาภายใต้ “โครงการการศึกษาความสำคัญของการสื่อสารต่อการตัดสินใจทุจริต : การทดลองทางเศรษฐศาสตร์” ภายใต้แผนงานบูรณาการยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead) ด้านสังคม คนไทย 4.0 สนับสนุนโดยสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ใช้กิจกรรมการโยนเหรียญเพื่อศึกษาพฤติกรรมการทุจริต โดยกลุ่มตัวอย่างโยนเหรียญบาทในพื้นที่ส่วนตัวและแจ้งว่าออกหัวหรือก้อย ถ้าออกหัว กลุ่มตัวอย่างจะได้รับเงิน แต่ถ้าออกก้อยจะไม่ได้รับเงิน 

การให้เงินเป็นการสร้างแรงจูงใจเพื่อแสดงตัวตนและการตัดสินใจที่แท้จริงออกมา เราคาดการณ์ได้ว่าค่าเฉลี่ยการโยนเหรียญ 10 ครั้ง ควรออกหัว 5 ครั้ง และออกก้อย 5 ครั้ง การทำกิจกรรมการโยนเหรียญในต่างประเทศ พบว่าคนมีแนวโน้มที่จะโกงโดยแจ้งว่าออกหัวมากกว่า (ได้เงินตอบแทน) การโยนเหรียญทำในพื้นที่ส่วนตัว นั้นหมายความว่าไม่มีใครรู้ได้ว่าจริงๆ แล้วโยนเหรียญได้เท่าไรกันแน่

ปัจจุบันจะเห็นการผลักดันข้อมูลผ่านการรณรงค์ไม่โกงผ่านสื่อมากมาย และมีข้อมูลการรณรงค์หลากหลาย แต่คำถามคือ ประสิทธิผลของการรณรงค์เป็นอย่างไร และข้อความการรณรงค์แบบใดให้ผลลัพธ์ดีกว่ากัน ระหว่างข้อมูลตามหลักการด้านการลงโทษ หรือหลักการด้านศีลธรรม

งานวิจัยนี้จึงศึกษาความสำคัญของการสื่อสารข้อมูลที่มีหลักการด้านศีลธรรม ยึดมั่นในหลักของความถูกต้อง ความซื่อสัตย์สุจริต (moral persuasion) ที่ใช้คำพูดเช่น “ยึดมั่นในหลักของความถูกต้อง" "ไม่เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น" "ซื่อสัตย์สุจริต" "ชีวิตที่สมบูรณ์" "ความภาคภูมิใจ” และ "คุณธรรม" เปรียบเทียบกับข้อความที่สื่อความหมายด้านการลงโทษ ที่ใช้คำพูดเช่น "จ่ายเงินค่าปรับ" "จำคุก" "รายได้ลดลง" "เสียชื่อเสียง" "ขาดการพัฒนาทักษะ" และ "สร้างอับอายให้กับครอบครัว" เป็นต้น 

โดยการผลักดันข้อมูลซ้ำๆ เพื่อให้แต่ละบุคคลซึมซับและเข้าใจถึงความหมายอย่างแท้จริง โดยมีกลุ่มตัวอย่างในงานวิจัยเป็นเยาวชนคนรุ่นใหม่และข้าราชการ และพบว่าคนรุ่นใหม่มีแนวโน้มที่จะ “โกง” และทุจริตมากกว่าผู้ใหญ่

ท่านที่สนใจสามารถอ่านรายงานฉบับสมบูรณ์ผ่านช่องทางเว็บไซต์ของ “คนไทย 4.0”  หรือโดย google search “คนไทย 4.0”