ผู้นำที่ชอบ หรือ ที่ใช่? | พสุ เดชะรินทร์ 

ผู้นำที่ชอบ หรือ ที่ใช่? | พสุ เดชะรินทร์ 

ถ้าสามารถเลือกผู้นำได้ ท่านอยากจะได้ผู้นำแบบไหน? ถ้าต้องเลือกระหว่างผู้นำที่เป็นที่รักและชื่นชอบ กับ ผู้นำที่อาจจะไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบเท่าคนแรกแต่คิดว่าคือคนที่ใช่และเหมาะกับงาน?

โดยธรรมชาติทุกคนย่อมอยากจะเป็นที่รักและชื่นชอบของบุคคลรอบตัว สำหรับผู้นำแล้ว ย่อมอยากจะเป็นที่รักใคร่และชื่นชอบของผู้ใต้บังคับบัญชาตนเอง ขณะเดียวกันเมื่อเป็นลูกน้องก็ย่อมอยากจะทำงานกับผู้นำที่ตนเองชื่นชอบหรือถูกใจ

มีงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่าการที่พนักงานคนหนึ่งจะได้รับการพิจารณาเลื่อนขั้น ปัจจัยด้านความชื่นชอบหรือถูกใจ (ภาษาอังกฤษคือ Likable) ของบุคคลรอบตัวก็เป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่ง

แสดงให้เห็นว่าบุคคลใดจะได้รับการเลือกให้เป็นผู้นำได้นั้น บุคคลผู้นำย่อมจะได้รับความชื่นชอบหรือถูกใจในระดับหนึ่ง ไม่ว่าจากเจ้านาย ผู้ถือหุ้น กรรมการบริษัท หรือ กรรมการสรรหา

อย่างไรก็ดีก็มีอีกมุมมองหนึ่งว่าการเลือกผู้นำโดยความชอบ โดยละเลยปัจจัยอื่นของความเป็นผู้นำที่ดีนั้นสามารถนำไปสู่ความผิดพลาดสำหรับองค์กรได้เช่นเดียวกัน

ลองนึกถึงสถานการณ์ว่า ถ้ามีพนักงานสองคน (นาย ก. และนาย ข.) ต่างมีโอกาสก้าวขึ้นเป็นหัวหน้างาน นาย ก. เป็นคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี มีความประนีประนอม สามารถเข้ากันได้กับทุกคน ปฏิบัติตัวตามค่านิยมขององค์กรที่ถูกถ่ายทอดกันมา จึงเป็นที่ชื่นชอบของทั้งเจ้านาย เพื่อนร่วมงาน และ ลูกน้อง

ขณะที่ นาย ข. มีความเด็ดขาดมากกว่า ไม่ประนีประนอมเท่า ชอบคิดในสิ่งใหม่ที่แตกต่างจากความคุ้นเคยเดิม ทำให้มีทั้งคนชอบและไม่ชอบคละกันไป ถ้าจากข้อมูลที่มีอยู่ ท่านจะเลือกใครขึ้นเป็นหัวหน้างานคนใหม่?

ไม่แปลกใจว่าถ้ามีโอกาสเลือกได้ พนักงานก็อยากจะได้ นาย ก. มาเป็นหัวหน้า เพราะสามารถเข้ากับทุกคนได้ มีความสบายใจในการทำงานร่วมด้วย อีกทั้งรูปแบบการทำงานก็เป็นไปในรูปแบบเดิมๆ ที่คุ้นเคย

อย่างไรก็ดีถ้าพิจารณาโดยดูจากมิติความก้าวหน้าของหน่วยงาน นาย ข. อาจจะเป็นตัวเลือกที่ดีกว่า (ถึงแม้คนจะชอบน้อยกว่า) เนื่องจากผู้นำที่ดีนั้น ควรจะต้องมีความกล้าที่จะคิดและกล้าที่จะทำในสิ่งใหม่ เพื่อนำความเปลี่ยนแปลงมาสู่องค์กรและหน่วยงาน

ผู้นำที่ต้องการเป็นที่ชื่นชอบมักจะมีพฤติกรรมที่ประนีประนอม เมื่อต้องตัดสินใจก็มักจะตัดสินใจในทางเลือกที่เอาใจคนหมู่มากที่สุด เมื่อต้องพูดกับลูกน้อง ก็จะพูดในสิ่งที่ลูกน้องอยากจะฟัง (ไม่ใช่สิ่งที่ลูกน้องควรจะได้ฟัง) และขณะเดียวกันก็จะเอาใจเจ้านาย เพื่อให้เจ้านายชื่นชอบด้วย

ซึ่งความน่ากลัวของผู้นำประเภทนี้คือในระยะยาวจุดยืนหรือหลักการของการทำเพื่อองค์กรจะหายไป แต่จะเป็นจุดยืนของการทำงานเพื่อให้ไม่มีคนเกลียดตนเอง

จำได้ว่าเคยมีผู้บริหารท่านหนึ่งถามไว้ตอนตัวเองทำงานบริหารว่า มีคนไม่ชอบหรือยัง? เพราะถ้าทำงานจริงจังเพื่อองค์กรแล้ว ยากที่จะทำให้ทุกคนชื่นชอบหมด

การตัดสินใจหลายครั้ง ต้องเลือก และการเลือกสำหรับผู้นำที่ดีนั้น คือเลือกในสิ่งที่เป็นประโยชน์สูงสุดขององค์กร ไม่ใช่ของทุกคนในองค์กร ทำให้อาจจะขัดใจคนได้ และมีคนไม่ชื่นชอบได้

อีกประเด็นที่ต้องระวังสำหรับผู้นำที่อยากจะเป็นที่ชื่นชอบถูกใจ นั้นคือโดยธรรมชาติแล้วคนมักจะชอบในสิ่งที่เหมือนหรือคุ้นเคยกับตนเอง เช่น การคบเพื่อน ก็จะเป็นเพื่อนที่มีความคุ้นเคยชอบในสิ่งเดียวกัน

ดังนั้น สำหรับผู้นำที่อยากจะเป็นที่ชื่นชอบ ก็มักจะแวดล้อมตนเองด้วยคนที่มีลักษณะที่เหมือนกับตนเอง ทั้งรูปแบบความคิด หรือ สไตล์การบริหาร ซึ่งข้อด้อยคือจะไม่เกิดความแตกต่างและหลากหลายในความคิดและการทำงาน ไม่มีการมองในมุมมองใหม่ๆ ที่แตกต่างจากแบบเดิมๆ

ถ้าตัวท่านต้องเลือกระหว่างการเป็นผู้นำที่ทุกๆ คนชื่นชอบ กับผู้นำที่ใช่ ที่อาจจะไม่ได้เป็นที่รักของทุกคน แต่ทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้ ท่านจะเลือกเป็นผู้นำแบบไหน.

คอลัมน์ มองมุมใหม่

รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

[email protected]