ปัญหา-สาเหตุ-วิธีแก้ “การสื่อสารที่แย่ๆของผู้นำทุกระดับ!”

ปัญหา-สาเหตุ-วิธีแก้ “การสื่อสารที่แย่ๆของผู้นำทุกระดับ!”

เมื่อรู้ปัญหาการสื่อสารแล้ว ค่อยปรับค่อยแก้ ถ้าจะให้ดีต้องเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยว่า ลูกน้องแต่ละคน ส่วนมากมีจริตมีวิธีรับสารที่แตกต่างกัน ถ้าต้องคุยกับใครควรรู้ว่าจะพูดยังไง ถ้าต้องสื่อสารให้ลูกน้องฟังเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ ควรปรับวิธีสื่อสารของท่านผู้นำ

Part.1.ถ้าท่านเป็นผู้นำ(ไม่ว่าจะเป็นทีมเล็กๆ หรือ ผู้นำองค์กร)ลองถามตัวเอง...

สำหรับทุกๆ คน ในฐานะที่เคยเป็นลูกน้อง หรือ ปัจจุบันยังคงเป็นลูกน้องของผู้บริหาร ผู้จัดการ

"มีกี่ครั้งที่ท่านเกิดความรู้สึกเสียใจ หรือหงุดหงิด โมโห จากการสื่อสารแย่ๆของเจ้านายของท่าน ทั้งในอดีตและปัจจุบัน!?"

Part.2.การสื่อสารในยุคปัจจุบัน

ไม่ได้จำกัดเพียงแค่การสื่อสารแบบเจอหน้าเจอตา หรือการสื่อสารด้วยเสียงทางโทรศัพท์ หรือการสื่อสารด้วยข้อความทางe-mail แบบที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบันเท่านั้น

แต่ยังรวมไปถึงการสื่อสานผ่านช่องทางอื่นๆ เช่น เสียง-รูป-ข้อความ-สติ๊กเกอร์ทางLine และ การสื่อสารด้วย เสียง-รูป-ข้อความ -สติ๊กเกอร์ -messengerของ facebook รวมไปถึงการสื่อสารผ่านหน้าจอมือถือและหน้าจอคอมพิวเตอร์ผ่านapp zoom หรือ ms team ในกรณี Work From Home และทุกช่องทางการสื่อสารผ่านSocial Media ระหว่างท่านกับลูกน้อง

มีข้อที่น่าสังเกต ที่ ท่านอ่านจะไม่เคยคิด หรือ มองข้าม ก็คือ....

Part.3.ช่องทางการสื่อสารพัฒนา แต่ วิธีการสื่อสารของผู้นำ ส่วนมากแทบไม่เคยพัฒนา!

ไม่ว่ารูปแบบของการสื่อสารผ่านช่องทางต่างๆจะมีพัฒนามาให้เลือกหลากหลายช่องทาง หลากหลายรูปแบบมากเพียงใดก็ตาม แต่ทำไมบรรดา ผู้จัดการ/ผู้บริหาร/ไปจนถึงผู้นำ จำนวนไม่น้อย ยังคงไม่ยอมพัฒนาการสื่อสารของตนเองซะที!

คนที่มีลูกน้อง ตั้งแต่ระดับหัวหน้างาน /ผู้จัดการ/ไปจนถึงผู้นำสูงสุดขององค์กร ยังคง เคยชินกับ 1.สื่อสารแบบเข้าใจเองคนเดียว 2.สื่อสารแบบคลุมเครือ / อ้อมค้อม 3.สื่อสารโดยการสั่ง 4.สื่อสารด้วยอารมณ์

มีน้อยคนมาก ที่จะสื่อสารด้วย “สติ” มีน้อยคนเช่นกันที่ “สื่อสารอย่างสร้างสรรค์!”

Part.4.สาเหตุไม่มีอะไรซับซ้อน...

ธรรมชาติของคนเราแทบทุกคน โดยเฉพาะคนที่เป็นผู้นำในทุกระดับ...จะไม่เคยสังเกตวิธีการสื่อสารของตนเอง" และไม่รู้ ไม่สนใจด้วยว่า การสื่อสารของตนเอง(ที่ไม่ดีนั้น) จะส่งผลกระทบอะไรบ้างกับทีมงานแล้วย้อนกลับมาหาตนเอง!

ตัวอย่างเช่น ลูกน้องมักจะสับสน ไม่เข้าใจ เวลาที่ผู้นำ สื่อสารแบบคลุมเครือ / อ้อมค้อม

และธรรมชาติของคนที่เป็นลูกน้องแบบไทยๆ มักจะพยักหน้าทั้งที่ไม่เข้าใจ! เดินออกไปหลังคุยกันเสร็จด้วยความงงๆ และบ่นพึมพำว่า “อะไรของมันแว๊!?”

ผู้นำที่ไม่ค่อยมีความมั่นใจในตนเอง หรือเป็นประเภทขี้เกรงใจคน ขี้เกรงใจทีมงาน มักจะ สื่อสารแบบคลุมเครือ อ้อมค้อม ไม่บอกให้ชัดเจนว่าต้องการอะไร ปล่อยให้ลูกน้องเข้าใจเอาเอง 

เพราะ “สื่อสาร" นิ่ม ติ๋มเกินไป สุดท้ายไม่มีใครรู้ว่าจริงๆ แล้วจะบอกอะไร!

ในทางตรงกันข้าม... ผู้นำประเภทที่มั่นใจในตนเองมากเกินไป ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงานหรือในธุรกิจที่ทำ มักจะสื่อสารด้วยอารมณ์ ด้วยการสั่ง ใจเร็วใจร้อน ปากไว คิดอะไรได้ก็พูด ปากไวพอๆกับใจคิด

บ่อยครั้งสื่อสารแบบใส่อารมณ์ และอารมณ์ยิ่งขึ้นง่าย ถ้าไม่ได้ดังใจ ลูกน้องยิ่งกลัว เวลาไม่เข้าใจก็ยิ่งไม่กล้าถาม เพราะถามแล้วโดนด่าแน่ ได้แต่รับปากรับคำไปทำ ส่วนมากทำแล้วก็ไม่ได้ดังใจท่านผู้นำอีก เพราะไม่เข้าใจตั้งแต่แรก ทำเอาเร็วเอาด่วนลวกๆให้รีบเสร็จเพราะท่านใจร้อน!

ส่วนท่านผู้นำที่สื่อสารแบบเข้าใจเองคนเดียว ก็เพราะมีประสบการณ์มาก เข้าใจเห็นภาพเห็นรายละเอียดทุกอย่างในหัวตัวเองว่าต้องการอะไร แต่มักจะไม่รู้วิธีเรียบเรียง ย่อยก่อนสื่อสาร

เพื่อให้ลูกน้องที่มีพื้นเพต่างกัน ประสบการณ์ต่างกันเข้าใจ ทุกครั้งที่พูดอะไรไป ลูกน้องได้แต่นั่งหรือยืนฟังตาใสๆ...แต่ในหัวปวดตึ้บๆ ไมเกรนขึ้นหัวทุกทีเวลาฟังท่านพึมพำ!

Part.5.แล้วจะแก้ปัญหานี้ยังไงดีล่ะ!?

ปัญหาเหล่านี้ บรรดาท่านผู้นำมักจะเข้าใจผิด ว่าปัญหาทั้งหมดเกิดจากลูกน้อง ลูกน้องโง่ ฯลฯ

ปัญหาส่วนหนึ่งเกิดจากลูกน้องจริงๆ โดยเฉพาะลูกน้องแบบไทยๆ ที่เวลาไม่เข้าใจมักไม่กล้าถาม กลัวโดนท่านผู้นำตำหนิ หรือกลัวโดนเพื่อนร่วมงานมองว่าเซลส์สมองน้อยจังนิเธอ!

ต้องแก้ไขไปพร้อมๆกันระหว่างท่านผู้นำกับลูกน้อง โดย...

ท่านผู้นำต้องตั้งสติและสังเกตุวิธีการสื่อสารของตนเอง ถ้าจะให้ดี ถาม Feedback จากลูกน้องถึงวิธีการสื่อสารของท่านผู้นำ ว่าส่วนใดที่คิดว่าพอใช้ ส่วนใดที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน อย่าอายที่จะถาม และต้องขอบคุณลูกน้องที่กล้าบอก เพราะกำลังช่วยท่านผู้นำที่เป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่งอย่าง!

เมื่อรู้ปัญหาการสื่อสารของตนเองแล้ว ค่อยปรับค่อยแก้ และถ้าจะให้ดี ต้องเรียนรู้เพิ่มเติมด้วยว่า ลูกน้องแต่ละคน ส่วนมากมีจริตและมีวิธีรับสารที่แตกต่างกัน ถ้าต้องคุยกับใครควรรู้ว่าจะพูดยังไง ถ้าต้องสื่อสารให้ลูกน้องฟังเป็นกลุ่มเล็กหรือกลุ่มใหญ่ ควรปรับวิธีสื่อสารของท่านผู้นำอย่างไร หลักคิดง่ายๆคือ“อย่าสื่อสารตามใจตนเอง และอย่าสื่อสารตามความเคยชิน!”

หลังจากนั้นค่อยปรับแก้ที่ลูกน้อง ย้ำให้ทุกคนถ้าไม่เข้าใจให้ถามทันที และตัวผู้นำต้องพยายามตรวจสอบความเข้าใจของลูกน้อง ด้วยการถามเป็นระยะในทุกการสื่อสาร เป็นต้น

Part.6.จะเห็นว่าไม่ใช่เรื่องยาก..

ถ้าจะแก้ให้ได้ผล ต้องเริ่มต้นแก้ที่ตัวผู้นำ เพราะกฎของธรรมชาติในก็คือ.. “จะประสบความสำเร็จ หรือล้มเหลว ในเรื่องใดก็ตาม ปัจจัยสำคัญอยู่ที่ตัวผู้นำ!”