เรียนรู้จากนักคิดเสรีนิยม - มงแตญ Michel de Montaigne

เรียนรู้จากนักคิดเสรีนิยม - มงแตญ Michel de Montaigne

ปัญหาขัดแย้งทางการเมือง แบบแตกแยกเป็นกลุ่มขั้วตรงกันข้ามของไทย มาทั้งจากปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจสังคมและปัญหาคนที่สนใจและชอบมีบทบาททางการเมืองบางกลุ่มคิดและเชื่อแบบขาวดำ 2 ขั้วสุดโต่งมากไป เช่น พวกเหลืองจัดและแดงจัด (หรือส้มจัด) 

นักคิดนักเขียนที่เราควรเรียนรู้จากเขาคนหนึ่งคือ มงแตญ เขาเป็นปัญญาชนชาวฝรั่งเศสยุคปลายศตวรรษที่ 16 คือเมื่อ 400 ปีที่แล้ว คนฝรั่งเศสในยุคราชาธิปไตยยุคนั้นส่วนใหญ่มีแนวคิดจารีตนิยม อภิสิทธิชนนิยม อำนาจนิยม และพร้อมที่จะใช้ความรุนแรง

มงแตญคิดต่างออกไปจากคนอื่น เพราะเขาเป็นคนรักการอ่าน ฉลาดในการเรียนรู้ คิดอย่างเป็นตัวของตัวเอง เป็นคนที่อยากจะรู้จักความหมายของชีวิตอย่างแท้จริง เขาจึงคิดและเขียนบันทึกหรือความเรียงเรื่องต่างๆ ได้อย่างอิสระ อย่างซื่อตรงได้มากกว่าคนอื่นๆ ส่วนใหญ่ในยุคของเขา 

มงแตญเขียนความเรียง 103 ชิ้น ในหัวข้อต่างๆ เขาชอบเขียนในแนวเสียดสี ประชดประชัน หลายเรื่องดูกำกวม อ้อมค้อม เปิดให้ตีความไปได้หลายทาง เพราะเขาอยู่ในยุคสมัยราชาธิปไตยที่กษัตริย์และศาสนามีอำนาจครอบงำทั้งสังคมสูงมาก การที่ใครจะไปวิจารณ์ความคิดความเชื่อ ค่านิยมแบบหัวเก่าของผู้คนในยุคนั้น จึงเป็นเรื่องเสียงภัย

แต่โดยส่วนใหญ่มงแตญมองแนวคิด พฤติกรรม ค่านิยม ในเรื่องต่างๆ คนส่วนใหญ่อย่างวิพากษ์วิจารณ์ และสะท้อนแนวคิดในแนวเสรีนิยมใจกว้าง มีเหตุผล มีสามัญสำนึกอย่างเป็นตัวของตัวเอง มากกว่าที่จะคิด/ทำตามคนอื่นๆ ในแนวหัวเก่าจารีตนิยม

มงแตญน่าจะได้อิทธิพลในการคิดและเขียนบางส่วนจากโสกราตีสและนักคิดแนว Skeptics กรีกโรมันยุคโบราณที่เป็นพวกนักปรัชญาที่ใจกว้างชอบเขียนแนวเสียดสี เย้ยหยัน ได้อย่างคมคายและมีอารมณ์ขัน

มงแตญเป็นนักคิดเสรีนิยมใจกว้างที่เลือกเดินสายกลาง (Moderate) อย่างคงเส้นคงวา ในยุคที่พวกชาวคริสต์นิกายคาทอลิกและนิกายโปรเตสแตนท์ (และคาลแวง) ทำสงครามฆ่าฟันกันอย่างรุนแรงทั้งในฝรั่งเศสและยุโรปหลายครั้งหลายหน (ส่วนหนึ่งเกิดจากปัญหาอำนาจ/ผลประโยชน์ทางการเมืองของผู้ปกครองที่ต่างคนต่างใช้ศาสนาเป็นข้ออ้าง)

มงแตญเป็นขุนนางท้องถิ่นตำแหน่งผู้พิพากษาและนายกเทศมนตรีเมืองต่างจังหวัด แต่ความเป็นคนตรงไปตรงมาทำให้เขาเป็นผู้ได้รับความไว้วางใจให้เป็นคนกลางในการเจรจาเพื่อระงับสงคราม/ความรุนแรง ทั้งจากพระเจ้าเฮนรี่ที่ 3 กษัตริย์ฝ่ายคาทอลิก และเจ้าชายเฮนรี่แห่ง Navaree เจ้าชายฝ่ายโปรเตสแตนท์ ขั้วที่อยู่ตรงกันข้ามกัน เขาได้ชื่อว่าเป็นคนใจกว้าง ซื่อตรง เดินทางสายกลาง ไม่สุดโต่ง 

มงแตญเป็นคนแรกๆ ที่พยายามเข้าใจมนุษย์คนอื่นๆ ยอมรับและเคารพความหลากหลายทางวัฒนธรรม มองว่ามนุษย์หรือแม้แต่สัตว์ต่างมีสมบัติหลักที่คล้ายกัน แม้จะมีความแตกต่างในบางเรื่องก็ตาม 


ตัวอย่างข้อเขียนของมงแตญ
“ภาระหน้าที่คนเราคือการพัฒนาบุคลิกนิสัยที่ดี ไม่ใช่การเขียนหนังสือ การเอาชนะ ไม่ใช่สงครามหรือการยึดเมือง แต่คือการรู้จักใช้ชีวิตอย่างมีวินัยและอย่างสงบ งานที่ยิ่งใหญ่รุ่งโรจน์ที่สุดในชีวิตของเราคือ การใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม เรื่องอื่นๆ เช่น การปกครอง การสะสมทรัพย์ การก่อสร้าง เป็นได้อย่างมากที่สุดก็เพียงแค่ส่วนเกินและค้ำจุนเล็กๆ น้อยๆ ของชีวิต”

งานเขียนของมงแตญเป็นที่นิยมอ่านและได้รับการยกย่องสูงทั้งในหมู่ผู้มีการศึกษาในยุคของเขาและหลังจากนั้น มีการแปลเป็นภาษาอังกฤษและภาษาอื่นๆ พิมพ์ซ้ำและมีคนอ่านงานของเขากันมาจนถึงปัจจุบัน ส่วนหนึ่งเพราะเขาเขียนหนังสือได้อย่างคมคาย สละสลวย มีเหตุผล กล้าหาญ ซื่อตรง มีอารมณ์ขันและมีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยที่แตกต่างไปจากนักเขียนคนอื่นๆ ในยุคของเขาหรือยุคใกล้กัน 

อิทธิพลมงแตญต่อนักคิดนักเขียนรุ่นหลัง
งานเขียนของมงแตญมีอิทธิพลต่อทั้งนักคิดนักเขียนฝรั่งยุคทำให้โลกสว่างด้วยเหตุผล เช่น เดสคาร์ต, ปาสคาล, วอลแตร, รุสโซ และคนอื่นๆ (แม้ปาสคาลจะเห็นต่างและวิจารณ์เขา) นักคิดนักเขียนในอังกฤษ เช่น ฟรานซิส เบคอน, เชคสเปียร์ (หลังจากมีคนแปลงานเขาเป็นภาษาอังกฤษมาตั้งแต่ยุคนั้น)

วอลแตร์ (1694-1778) นักเขียนและนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส กล่าวถึงมงแตญว่า “เป็นคนที่ได้รับการศึกษาจากเพียงแค่การอ่านหนังสือเอง จากพ่อของเขา และครูพิเศษสมัยเด็ก เป็นนักปรัชญาที่คิด เขียน อย่างมีระเบียบวิธีน้อยที่สุดในบรรดานักปรัชญาทั้งหมด แต่เป็นคนที่ฉลาดที่สุดและน่ารักมากที่สุด”

บัลซัค (1799-1850) นักเขียนนวนิยายชาวฝรั่งเศส กล่าวว่า “มงแตญนำพาเหตุผลของมนุษย์ไปได้ไกลและสูงที่สุดเท่าที่มันสามารถไปได้ ทั้งในเรื่องการเมืองและจริยธรรม”

นิทเช่ (Nietzsche 1844-1900) นักปรัชญาชาวเยอรมัน เขียนถึงมงแตญว่า “คนที่เขียนงานได้ถึงขนาดนี้ ทำให้เกิดความปิติยินดีในโลกเพิ่มขึ้นอย่างแท้จริง ถ้าหากภาระหน้าที่ของผมคือทำให้โลกนี้เป็นบ้าน ผมจะผูกพันตัวเองไว้กับเขา”

Sten Zweig (1881-1942) นักเขียนเรื่องชีวประวัติบุคคล ประวัติศาสตร์แนวนวนิยาย ชาวออสเตรีย ผู้โด่งดังในทศวรรษ 1920-1930 และยุคต่อต้านนาซีของฮิตเลอร์ เขียนไว้ว่า “มงแตญช่วยให้เราเข้าใจคำถามนี้ “เราจะอยู่อย่างอิสระชนได้อย่างไร?” เราจะรักษาความคิดจิตใจที่ชัดเจนมาตั้งแต่กำเนิดในท่ามกลางการคุกคามและอันตรายจากลัทธิที่บ้าคลั่ง เราจะรักษาความเป็นมนุษย์ที่อยู่ในหัวใจของเรา ในท่ามกลางความป่าเถื่อนโหดร้ายในโลกนี้ได้อย่างไร?”

สารานุกรมบริตานิก้ากล่าวถึงมงแตญว่า “ในวันนี้ งานของมงแตญยังคงถูกศึกษาในทุกแง่ โดยนักวิชาการจำนวนมาก และโดยนักอ่านจากทุกมุมโลก ในโลกยุคปัจจุบันซึ่งยังคงมีความรุนแรงและประหลาดอย่างเหลือเชื่อ คล้ายกับโลกในยุคของมงแตญ การที่มงแตญคัดค้านเรื่องความไม่รู้จักอดกลั้นและลัทธิบ้าคลั่งงมงาย

และการที่เขาตระหนักอย่างชัดเจนถึงศักยภาพของมนุษย์ในการทำลายล้าง บวกกับความเชื่อของเขาในเรื่องความสามารถของมนุษย์ที่จะประเมินตนเอง ที่จะซื่อตรงและมีเมตตา ทำให้คนจำนวนมากเชื่อมากขึ้นว่า มงแตญคือผู้นำทางและเพื่อนที่ดีของพวกเขา”