ใช้เงินอย่างไร...ให้มีความสุข | พสุ เดชะรินทร์

ใช้เงินอย่างไร...ให้มีความสุข | พสุ เดชะรินทร์

หลายท่านอาจจะคิดว่าการมีเงินทำให้มีความสุข แต่จริงๆ แล้ว เงินเป็นเพียงแค่หนึ่งปัจจัยที่นำไปสู่ความสุข มิฉะนั้นแล้วทำไมคนที่มีเงินจำนวนไม่น้อยจึงไม่มีความสุข?

ความสัมพันธ์ระหว่างเงินกับความสุข ไม่ใช่เพียงแค่การมีเงินเท่านั้น การใช้เงินก็นำไปสู่ความสุขได้เช่นกัน ลองมาดูข้อสรุปที่ได้จากวิจัยเกี่ยวกับเรื่อง “การใช้เงินกับความสุข” โดยเรียบเรียงเนื้อหาบางส่วนมาจาก Blog ชื่อ Barking up the wrong tree พอสรุปเป็นประเด็นที่น่าสนใจไว้ดังนี้

1.การใช้เงินเพื่อให้ผู้อื่นนำไปสู่ความสุขที่มากกว่าการใช้เงินเพื่อตนเอง ลองนึกภาพเมื่อซื้อของขวัญให้ผู้อื่น หรือซื้อของเล่นไปมอบให้เด็กที่ด้อยโอกาส ผู้มอบมักจะเกิดอาการปลื้มใจและเป็นสุขทุกครั้งที่เห็นสีหน้า รอยยิ้ม และแววตา ที่ตื่นเต้นของผู้รับ และลองนึกดูว่าความสุข ณ เวลานั้น เมื่อเทียบกับการซื้อของให้กับตนเองแล้ว ช่วงไหนที่มีความสุขมากกว่ากัน

2.การใช้เงินเพื่อซื้อของที่ไม่แพงแต่ซื้อบ่อย นำไปสู่ความสุขมากกว่าการซื้อของที่มีราคาสูงแต่นานๆ ซื้อที เมื่อซื้อของที่ต้องการจะมีความสุข ดังนั้น ถ้าซื้อของไม่แพงแต่ซื้อบ่อย ความสุขก็จะเกิดขึ้นบ่อย ความสุขไม่ได้เพิ่มหรือลดตามมูลค่าของที่ซื้อ

จึงไม่แปลกใจว่าทำไมการเพียงแค่กดซื้อของออนไลน์เพียงไม่กี่สิบหรือร้อยบาท แต่กดซื้อทุกคืนก็เป็นความสุขอย่างมาก

3.การซื้อประสบการณ์นำไปสู่ความสุขมากกว่าซื้อสินค้า เมื่อคนมีอายุมากขึ้นการซื้อสินค้าก็จะไม่ได้ทำให้เกิดความสุขเช่นในอดีต เนื่องจากประสบการณ์ที่มาก ได้เห็นหรือซื้อของมามาก ของที่ซื้อจึงไม่สร้างความตื่นตาตื่นใจหรือแปลกใหม่อีกต่อไป

ดังนั้น การใช้เงินเพื่อซื้อประสบการณ์ จะทำให้เกิดความสุขมากกว่าการซื้อสินค้า แถมประสบการณ์เหล่านั้น ยังจดจำได้ง่ายกว่า และสามารถแชร์หรือแบ่งปันกับบุคคลอื่นได้ด้วย ลองนึกว่าระหว่างการแชร์รูปที่ไปเที่ยวมา กับแชร์รูปของโทรทัศน์เครื่องใหม่ที่ไปซื้อมา อย่างไหนจะทำให้เรามีความสุขมากกว่ากัน

มีงานวิจัยที่พบอีกว่า การซื้อสินค้าก็สามารถนำไปสู่ความสุขได้ แต่จะต้องเป็นการซื้อสินค้าที่นำไปสู่การสร้างประสบการณ์ เช่น การซื้อรถคันใหม่ ไม่ใช่เพื่อได้รถอย่างเดียว แต่สามารถขับพาครอบครัวไปเที่ยวทั่วไทยผ่านทางรถคันใหม่ได้

4.ความสุขจากความคาดหวังจะมากกว่าความสุขจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ความคาดหวังทำให้มีความรู้สึกเฝ้ารอสิ่งใดสิ่งหนึ่งอยู่ และการเฝ้ารอในสิ่งที่ดีนั้นย่อมนำไปสู่ความสุข ตัวอย่างเช่น ความคาดหวังในเรื่องของการท่องเที่ยว ความสุขของการได้วางแผน การเตรียมการ การจัดของ ฯลฯ เพื่อเตรียมการท่องเที่ยวนั้น จะมีมากกว่าความสุขที่เกิดขึ้นระหว่างการท่องเที่ยวด้วยซ้ำ

แนวทางหนึ่งในการสร้างความสุขจากความคาดหวัง คือแทนที่จะท่องเที่ยวปีละครั้ง ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นทริปย่อยๆ ปีละหลายๆ ครั้ง เนื่องจากเมื่อมีทริปย่อยหลายครั้งแล้ว จะมีความคาดหวังเกิดบ่อยขึ้นและนำไปสู่ความสุขที่บ่อยกว่า

5.ใช้เงินเพื่อซื้อเวลาก็สามารถสร้างความสุขได้ เมื่อถามว่าระหว่างเงินกับเวลาสิ่งไหนจะสร้างความสุขได้มากกว่ากัน? คนส่วนใหญ่จะตอบว่าเงิน แต่เมื่อสอบถามอีกครั้งเมื่อเวลาผ่านไป จะพบว่าผู้ที่เลือกเวลา จะมีความสุขมากกว่าผู้ที่เลือกเงิน

สาเหตุคือ ผู้ที่คิดว่ามีเงินจะนำไปสู่ความสุข จะไม่หยุด หรือไม่พอ เพราะคิดว่ามีเงินมากขึ้นก็จะมีความสุขเพิ่มขึ้น ทำให้ความสุขด้วยเงินจึงยากที่จะบรรลุ แต่ผู้ที่เลือกเวลา จะมองว่าเวลาทุกคนมีเท่ากันและมีจำกัด

ดังนั้น ผู้ที่เลือกเวลา จะวางแผนที่จะใช้เวลาให้คุ้มค่าที่สุด เป็นการใช้เวลาที่มีอยู่อย่างคุ้มค่ามากกว่าแสวงหาเงินที่ไม่จบสิ้น

ถ้ามีงานบางอย่างที่ไม่ชอบที่จะทำและสามารถใช้เงินจ้างให้ผู้อื่นทำแทนได้ (เช่น งานบ้าน รีดผ้า ทำอาหาร ล้างจาน) ก็จะเป็นการใช้เงินเพื่อซื้อเวลา เพื่อให้มีเวลามากขึ้น และเวลาที่ได้รับกลับมาก็สามารถนำไปใช้ในกิจกรรมที่สร้างความสุข ก็จะยิ่งทำให้ความสุขทวีมากขึ้น

ลองดูว่าแนวคิดเกี่ยวกับการใช้เงินและเวลาข้างต้นตรงกับท่านหรือไม่ และสามารถนำไปปรับใช้เพื่อสร้างความสุขได้อย่างไร