‘Loud Budgeting’ ไม่ใช้เงินไม่ใช่เรื่องผิด เพราะชีวิตต้องประหยัด

‘Loud Budgeting’ ไม่ใช้เงินไม่ใช่เรื่องผิด เพราะชีวิตต้องประหยัด

รู้จักเทรนด์ “Loud Budgeting” การปฏิเสธทำกิจกรรมที่ต้องเสียเงิน เช่น การสังสรรค์กับเพื่อน เพราะต้องเก็บเงินไว้ใช้จ่ายสำหรับสิ่งที่จำเป็น ที่ช่วยให้รู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะพูดถึงปัญหาทางการเงิน และสร้างทัศนคติเชิงบวกที่มีต่อการตั้งเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว

หลายครั้งที่เราจำเป็นต้องออกไปสังสรรค์กับเพื่อนร่วมงาน เพราะไม่กล้าปฏิเสธ แม้ว่ากำลังเผชิญหน้ากับหายนะทางการเงินอยู่ก็ตาม แต่ตอนนี้ความคิดได้เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อชาวเจน Z หลายคนกล้าที่จะปฏิเสธออกไปตรง ๆ พร้อมให้เหตุว่า “ไม่มีเงิน” ตามเทรนด์ใหม่ที่มีชื่อว่า “Loud Budgeting” 

“Loud Budgeting” เป็นเทคนิคการเก็บเงินที่กำลังโด่งดังใน TikTok ด้วยการลดโอกาสทำกิจกรรมทางสังคม เช่น การสังสรรค์กับเพื่อน ออกไปช้อปปิ้ง ใส่ซองงานแต่ง เนื่องจากกิจกรรมเหล่านี้ทำให้เป้าหมายทางการเงินตกอยู่ในสถานการณ์อันตราย และกล้าบอกกับคนอื่น ๆ ตรง ๆ ว่าสถานะทางการเงินเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้ตัดสินใจไม่ไป

 

  • Loud Budgeting ขั้วตรงข้าม Quiet Luxury

จุดเริ่มต้นของเทรนด์นี้มาจาก ลูคัส แบทเทิล ติ๊กต็อกเกอร์ที่ทำคลิปอธิบายสิ่งที่อินเทรนด์และตกเทรนด์ในปี 2024 เขาระบุว่า “Quiet Luxury” นั้นตกยุคไปแล้ว ตอนนี้ต้องใช้ “Loud Budgeting” โดยแนะนำให้บอกกับเพื่อนตรง ๆ เวลาชวนไปไหนแต่ไปไม่อยากไปเพราะคุณจำเป็นต้องประหยัด เช่น “โทษที เย็นนี้ไปกินข้าวด้วยไม่ได้ ฉันมีเงินเหลือแค่วันละ 7 ดอลลาร์เอง” 

Quiet Luxury หนึ่งในเทรนด์ที่มาแรงในปี 2566 ที่นิยมการแต่งตัวเรียบหรู ดูแพง ให้ความสำคัญกับดีไซน์ การตัดเย็บ คุณภาพเสื้อผ้าแทน ไม่เน้นมีชื่อแบรนด์แปะอยู่บนเสื้อผ้า ซึ่งราคาเสื้อผ้าเหล่านี้ก็แพงไม่ได้ต่างจากเสื้อผ้าแบรนด์เนมเลย ยังคงต้องใช้เงินมากอยู่ดี ทำให้แบทเทิลรู้สึกว่าเทรนด์นี้ไม่ได้ช่วยให้คนประหยัดลง และรู้สึกว่าปีนี้เขาจะต้องเก็บให้ได้มากขึ้น

แบทเบิลกล่าวกับสำนักข่าว Business Insider ว่า เขาคิดคำว่า Loud Budgeting ขึ้นมาเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนพูดถึงความตั้งใจที่จะประหยัดเงินได้ ในแบบสบาย ๆ และสนุกสนาน เพราะไม่ค่อยมีคำเกี่ยวกับการไม่อยากใช้เงินมากนัก 

แนวคิดนี้ช่วยผู้คนจำนวนมากรู้สึกสบายใจมากขึ้นที่จะพูดถึงปัญหาทางการเงินที่กำลังเผชิญอยู่ อีกทั้งเป็นการปรับทัศนคติที่มีต่อการตั้งเป้าหมายทางการเงินในระยะยาว

นอกจากนี้ แบทเทิลยังกล่าวว่า Quiet Luxury เป็นเทรนด์ที่ทำตามและสรรเสริญการใช้ชีวิตของเหล่าคนดัง ต้องไล่ตามพวกเขาอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเขาคิดว่าเป็นเรื่องยากที่จะทำตามเทรนด์ Quiet Luxury ได้ ต่างจาก Loud Budgeting ที่สามารถทำได้ในชีวิตประจำวัน ทุกคนต่างรู้ดีว่าเราสามารถเท่และมีสไตล์ได้ โดยที่ไม่ต้องใช้เงินเลย

 

  • ไม่มีเงินเรื่องใหญ่กว่า ไม่ได้ใช้เงิน

จูลี่ โอไบรอัน ผู้เชี่ยวชาญด้านการเงิน รองประธานอาวุโสและหัวหน้าฝ่ายพฤติกรรมศาสตร์ที่ U.S. Bank บริษัทโฮลดิ้งธนาคาร อธิบายว่า Loud Budgeting เป็นวิธีการที่ช่วยให้ผู้คนรู้สึกโดดเดี่ยวน้อยลง ในขณะที่ต้องดิ้นรนในการจัดการการเงิน 

“พวกเขากำลังบอกกับสังคมว่า พวกเขาไม่ละอายใจและความรู้สึกผิดกับสถานการณ์ทางการเงินของพวกเขา และแสดงให้เห็นว่าพวกเขาให้ความสำคัญกับการจัดการเงินอย่างมีคุณภาพ มากกว่าจะแบ่งเงินเป็น 2 ส่วน สำหรับทั้งบริโภคและเก็บ ซึ่งเป็นวิธีที่ดูเป็นอุดมคติมากเกินไป และไม่สอดคล้องกับรายได้ของพวกเขา”

ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์โดย Empower บริษัทให้บริการทางการเงิน ระบุว่าชาวอเมริกันส่วนใหญ่ถึง 73% รู้สึกเครียดกับการเงินของตนเอง และคนรุ่นใหม่เกินครึ่ง (56% ของคนเจน Z และ 51% ของกลุ่มมิลเลนเนียล) นอนไม่หลับเพราะเรื่องการเงินอีกด้วย ซึ่งเป็นตัวเลขที่สูงกว่าคนรุ่นก่อน ทั้งกลุ่มเจน X เพียง 37% และกลุ่มเบบี้บูมเมอร์เพียง 20% เท่านั้น

ชาวอเมริกันถึง 67% กล่าวว่ารายได้ของพวกเขาไม่สอดคล้องกับอัตราเงินเฟ้อ ทำให้พวกเขาต้องวางแผนทางการเงินใหม่และลดค่าใช้จ่ายลง โดย Empower รายงานว่าคนเจน Z มีความเครียดเป็นพิเศษ เนื่องจากพวกเขาไม่มีเงินเพียงพอจะซื้อหรือเช่าบ้านเป็นของตนเอง จำเป็นต้องอาศัยอยู่กับพ่อแม่ และต้องกู้เงินเพื่อการศึกษาด้วยเช่นกัน

 

“ตอนนี้หลายคนต้องจัดลำดับความสำคัญของการใช้จ่ายมากขึ้น เน้นไปที่ค่าอาหารและที่อยู่อาศัยเป็นหลัก มากกว่าจะซื้อของฟุ่มเฟือย และ Loud Budgeting ช่วยสร้างกำลังให้สำหรับคนที่จำเป็นต้องใช้จ่ายเงิน” ไบรอัน ฟอร์ด ที่ปรึกษาด้านการบริหารความมั่งคั่งของ Northwestern Mutual องค์กรบริการทางการเงิน กล่าว

 

  • การเตรียมตัวสู่ Loud Budgeting

 

เจนนิเฟอร์ ดอห์ม หัวหน้าฝ่ายสื่อสารผู้บริโภคของ Chime บริษัทเทคโนโลยีทางการเงิน แนะนำวิธีการเก็บเงินสำหรับ Loud Budgeting มือใหม่

 

1. หาพรรคพวก: คุณอาจรู้สึกไม่ดีหากจะต้องปฏิเสธการไปสังสรรค์กับเพื่อน ๆ ตามลำพัง ลองหาคนที่มีอุดมการณ์คล้าย ๆ กัน และจับกลุ่มไปตามล่าหาของดีในตลาดมือสอง หรือช่วยกันหาวิธีประหยัดเงิน

 

2. เริ่มต้นด้วยการเปลี่ยนแปลงทีละน้อย: นิสัยทางการเงินของคุณจะไม่เปลี่ยนแปลงในชั่วข้ามคืน แต่สามารถค่อย ๆ ปรับเปลี่ยนไป และสามารถเริ่มต้นได้ง่าย ๆ เช่น หันมาชงกาแฟดื่มเองแทนที่จะไปซื้อในร้านกาแฟ หรือ ไม่ซื้อป๊อปคอร์นกินระหว่างดูหนัง

 

3. เผชิญหน้ากับความกลัว: การหลีกเลี่ยงไม่รับรู้ปัญหาทางการเงินอาจสร้างปัญหาใหญ่ได้ เพราะกลัวที่จะต้องรู้ว่าเสียเงินในบัญชีไปเท่าไหร่แล้ว แต่ความจริงแล้วยิ่งเรารู้ข้อมูลทางการเงินของตัวเองเร็วเท่าไหร่ เราก็จะสามารถปรับแผนการเงินได้เร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นดอห์มจึงแนะนำให้เปิดแจ้งเตือน หรือสมัคร SMS แจ้งเงินเข้าออก และทำบัญชีการเงินผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ จะทำให้คุณก้าวไปสู่ความก้าวหน้าทางการเงินได้รวดเร็วขึ้น

 

เอลิซาเบธ ชวาบ ประธานโครงการแผนกเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและจิตวิทยาธุรกิจจาก The Chicago School กล่าวว่า “Loud Budgeting เป็นความคิดที่ดี ถือเป็นการให้ความสำคัญกับการออมและแสดงออกมาด้วยความภาคภูมิใจ ช่วยลดการตีตราทางสังคม ที่คนอเมริกันจำนวนมากกำลังรู้สึกและประสบอยู่” 

 

อย่างไรก็ตาม ชวาบ ชี้ให้เห็นว่าจำเป็นต้องสร้างสมดุลระหว่างการออมเงินกับการทำกิจกรรมที่ทำให้ชีวิตมีความสุข “การปฏิเสธคำเชิญทั้งหมด ไม่ไปไหนกับใครเลย จะส่งผลเสียต่อทักษะทางสังคมและอารมณ์ของคุณในที่สุด” เธอกล่าว


 

https://money.com/what-is-loud-budgeting/

https://www.cnbc.com/select/what-is-loud-budgeting-trend-can-it-work/

https://nypost.com/2024/01/12/lifestyle/why-gen-z-loves-loud-budgeting-the-financial-trend-perfect-for-a-generation-of-oversharers/

https://www.businessinsider.com/loud-budgeting-trend-backlash-against-quiet-luxury-2024-1