‘คนรุ่นใหม่’ หันใช้เงิน ‘ซื้อความสุข’ พับแผนการออม ยอมทำงานตลอดชีวิต

‘คนรุ่นใหม่’ หันใช้เงิน ‘ซื้อความสุข’ พับแผนการออม ยอมทำงานตลอดชีวิต

“Soft Saving” พฤติกรรมการเงินของ “คนรุ่นใหม่” ใช้เงินซื้อความสุข เพื่อให้ชีวิตไม่เครียด เก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณน้อยลง และมีแนวคิดพร้อมทำงานไปเรื่อย ๆ ตลอดชีวิต

สำหรับคนส่วนใหญ่แล้ว พยายามจะทำงานหนักเพื่อเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่า คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะชาว “เจน Z” จะไม่ได้คิดเช่นนั้น เมื่อพวกเขาเลือกที่จะเก็บเงินน้อยลง และใช้เงินซื้อประสบการณ์มากขึ้น จนกลายเป็นเทรนด์ที่เรียกว่า “Soft Saving

ตามรายงานการศึกษาดัชนีความเจริญรุ่งเรืองโดย Intuit บริษัทให้บริการซอฟต์แวร์ทางการเงินระบุว่า Soft Saving ตอบโจทย์การใช้ชีวิตทางการเงินของคนรุ่นใหม่ได้ดี ด้วยการมีวิถีชีวิตที่โอบรับความสะดวกสบายและมีความเครียดในชีวิตต่ำ โดยให้ความสำคัญกับการเติบโตส่วนบุคคลและสุขภาพจิต

รายงานดังกล่าวยังพบว่า แนวทางการลงทุนและการจัดงานเงินของชาวเจน Z ซึ่งเกิดหลังปี 1997 มักจะใช้เงินไปกับสิ่งที่สะท้อนความเป็นตัวตนของพวกเขา รวมถึงยังเลือกใช้แบรนด์ หรือขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญที่พวกเขารู้สึกว่าสามารถเข้ากันได้ คุยกันถูกคอ มีแนวคิดคล้ายกัน

  • คนออมเงินน้อยลง

คนเจนใหม่มีความปรารถนาที่จะหลุดพ้นจากข้อจำกัดทางการเงินของตน จากการศึกษาของ Intuit พบว่า สามในสี่ของคนเจน Z อยากมีคุณภาพชีวิตที่ดีกว่าแค่ได้ดอกเบี้ยสูงขึ้นจากบัญชีเงินฝาก เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับข้อมูลของสำนักงานวิเคราะห์เศรษฐกิจของสหรัฐ พบว่า ในเดือนส.ค. 2023 ชาวอเมริกันออมเงินผ่านบัญชีสะสมทรัพย์เหลือเพียง 3.9% ซึ่งลดลงอย่างมากเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในทศวรรษที่แล้วที่มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 8.51% 

ไรอัน วิคตอริน รองประธานที่ปรึกษาทางการเงินของสถาบันการเงิน Fidelity Investments กล่าวว่าสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การออมส่วนบุคคลลดลงเป็นเพราะการฟื้นตัวจากการระบาดใหญ่ของโควิด-19 เนื่องจากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ชาวอเมริกันใช้เวลาทำกิจกรรมต่าง ๆ น้อยลงอย่างมาก เมื่อกลับมาสู่ภาวะปรกติจึงทำให้ผู้คนใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้นเพื่อชดเชยเวลาที่เสียไป อีกทั้งอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสุงยังทำให้ผู้คนประหยัดเงินได้ยากขึ้น

ขณะเดียวกัน การที่อัตราการออมส่วนบุคคลลดลงยังสะท้อนถึงเป้าหมายทางการเงินของคนทำงานที่เปลี่ยนแปลงไปในปัจจุบันอีกด้วย วิคตอริน ระบุว่า คนรุ่นใหม่ให้ความสำคัญกับเงินแตกต่างจากคนรุ่นก่อน พวกเขาไม่จำเป็นต้องรีบประหยัดเงินทุกบาททุกสตางค์เพื่อเก็บเงินไว้ใช้หลังเกษียณ และนำเงินบางส่วนมาใช้ซื้อความสุขส่วนตัว

  • คนรุ่นใหม่ใช้เงินซื้อความสุข

การศึกษาของ Intuit พบว่าคนรุ่นใหม่ทั้งเจน Z และมิลเลนเนียล เต็มใจที่จะใช้จ่ายกับงานอดิเรกและซื้อสินค้าที่ไม่จำเป็นมากกว่าคนเจน X และรุ่นเบบี้บูมเมอร์ โดยคนรุ่นมิลเลนเนียลประมาณ 47% และเจน Z 40% กล่าว่าจำเป็นต้องมีเงินเพื่อใช้ทำงานอดิเรก หรือทำตามความฝันของตนเอง ขณะที่คนเจน X มีเพียง 32% และรุ่นเบบี้บูมเมอร์ต่ำสุดที่ 20%

แอนดี้ รีด หัวหน้าฝ่ายพฤติกรรมนักลงทุนของบริษัทจัดการลงทุน Vanguard กล่าวว่าการใช้จ่ายด้านความบันเทิงของชาวเจน Z ในปี 2022 เพิ่มขึ้นเป็น 4.4% ซึ่งสูงขึ้น 1.1% เมื่อเทียบกับปี 2019 ที่ระดับ 3.3% 

นอกจากนี้ ชาวอเมริกันยังใช้เงินไปกับการเดินทางท่องเที่ยว หลังจากอัดอั้นในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นอีกสาเหตุที่เป็นไปได้ที่ทำให้อัตราการออมส่วนบุคคลลดลง 

แม้ว่าคนรุ่นใหม่ในสหรัฐจะออมเงินได้น้อยลง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน รีดกล่าวว่า ในความเป็นจริงแล้ว Z ใช้เงินตามรายได้ที่มี โดยแบ่งบางส่วนออกมาใช้สำหรับ “ซื้อความสุข” ให้ตัวเอง แต่ส่วนต่างค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจะมาจากต้นทุนของค่าครองชีพที่จำเป็นมากกว่าสินค้าฟุ่มเฟือย

 

  • ไม่คิดเกษียณ

แรงงานส่วนใหญ่ต่างหวังที่จะเกษียณไปแล้วมีเงินใช้ตามที่พวกเขาต้องการ แต่ดูเหมือนว่าความฝันนี้อาจจะเป็นไปได้ยากในปัจจุบัน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีเงินเก็บสำหรับใช้ชีวิตหลังเกษียณ ต้องทำงานต่อไปเรื่อย ๆ เพื่อให้มีรายรับที่สมดุลกับรายจ่าย

รายงานของ Blackrock บริษัทลงทุนข้ามชาติ ที่พึ่งเผยแพร่ในปี 2023 มีเพียง 53% ของคนทำงานเท่านั้นที่เชื่อว่าพวกเขาจะมีเงินใช้เพียงพอสำหรับใช้หลังเกษียณในแบบที่พวกเขาต้องการ ซึ่งสาเหตุที่ทำให้เหล่าแรงงานไม่มั่นใจในการใช้ชีวิตหลังเกษียณ เป็นเพราะการขาดรายได้หลังเกษียณ ความกังวลเกี่ยวกับความผันผวนของตลาด และอัตราเงินเฟ้อที่สูง 

การศึกษาของมูลนิธิ Transamerican Center for Retirement Studies พบว่า ราว 2 ใน 3 ของชาวเจน Z เองก็ไม่แน่ใจว่าพวกเขาจะมีเงินเพียงพอที่จะเกษียณ แม้ว่าพวกเขาจะทำงานไปเรื่อย ๆ ก็ตาม นอกจากนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของประชากรวัยทำงานคาดว่าจะต้องทำงานไปเรื่อย ๆ จนอายุเกิน 65 ปี และไม่ได้วางแผนจะเกษียณอายุ

อีกทั้งยังพบว่า ประมาณ 41% ของชาวเจน Z และ 44% ของคนรุ่นมิลเลนเนียล ซึ่งปัจจุบันมีอายุระหว่าง 27-42 ปี ต้องการทำงานที่ได้รับค่าจ้าง แม้จะถึงวัยเกษียณแล้วก็ตาม ซึ่งสูงกว่ากลุ่มเจน X (ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1965 ถึง 1980) ที่มีแนวคิดนี้เพียง 31% ส่วนกลุ่ม Baby Boomers (เกิดระหว่างปี 1946 ถึง 1964) มีเพียง  21% 

ดังนั้นความต้องการมีรายได้ตลอดชีวิต อาจทำให้แนวคิด “การเกษียณ” ล้าสมัยได้ อย่างไรก็ตามแม้คนรุ่นใหม่จะอยากทำงานไปเรื่อย ๆ แต่พวกเขาก็ยังคงจะเก็บเงินไว้ใช้ยามบั้นปลายชีวิตอยู่ เห็นได้จากจำนวนเงินประจำไตรมาสที่ 2 ของแผนการลงทุนเพื่อการเกษียณ 401(k) ของชาวเจน Z เพิ่มขึ้น 66% และคนรุ่นมิลเลนเนียลเพิ่มขึ้น 24.5%

อย่างไรก็ตาม รีดกล่าวว่าไม่ใช่เรื่องผิดที่จะใช้จ่ายกับสิ่งที่ทำให้คุณมีความสุข แต่เขาแนะนำว่าควรจะแบ่งเงินไว้สำหรับใช้ฉุกเฉินในระยะยยาวไว้บ้าง อย่าใช้สนองความต้องการระยะสั้นจนหมด

 

ที่มา: CNBC