วันฮาโลวีน Halloween เผยภาพใบหน้าชวนหลอนบนดาวพฤหัสบดี

วันฮาโลวีน Halloween เผยภาพใบหน้าชวนหลอนบนดาวพฤหัสบดี

เฟซบุ๊กเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพใบหน้าสุดหลอนมองแล้วชวนขนหัวลุกบนดาวพฤหัสบดี ต้อนรับวันฮาโลวีน (Halloween) 31 ตุลาคม 2566 ก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี

เฟซบุ๊กเพจ NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ เผยภาพใบหน้าสุดหลอนมองแล้วชวนขนหัวลุกบนดาวพฤหัสบดี ต้อนรับ วันฮาโลวีน (Halloween) 31 ตุลาคม 2566 ก่อนที่จะเกิดปรากฏการณ์ดาวพฤหัสบดีใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 นี้

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ระบุว่า นี่คือภาพพื้นที่ "Jet N7" เป็นพื้นที่ชั้นบรรยากาศที่ปั่นป่วนบริเวณขั้วเหนือของดาวพฤหัสบดี (ละติจูดประมาณ 69 องศาเหนือ) มองดูแล้วมีลักษณะคล้ายใบหน้าที่ชวนขนหัวลุก แท้จริงแล้วเป็นอาจกล่าวได้ว่าเป็นผลพวงจาก "แพริโดเลีย" (pareidolia) ปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาที่สมองเราพยายามทำความเข้าใจกับสิ่งรอบตัวแล้วจินตนาการออกมาลักษณะคล้ายใบหน้าหรือรูปแบบต่างๆทั้งที่ภาพนี้เป็นเพียงเส้นแบ่งระหว่างซีกกลางวันและกลางคืนบนดาวพฤหัสบดี อีกทั้งมุมตกกระทบของแสงอาทิตย์ที่เผยให้เห็นกลุ่มเมฆและพายุที่ปั่นป่วน ช่วยให้นักดาราศาสตร์สามารถศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวพฤหัสบดีได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย

ภาพนี้ถ่ายโดยกล้อง JunoCam ของยานอวกาศจูโน (Juno) ขณะที่โคจรรอบดาวพฤหัสบดีรอบที่ 54 ที่ระดับความสูงประมาณ 7,700 กิโลเมตร เหนือชั้นบรรยากาศ เมื่อวันที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2566 ประมวลผลโดย Vladimir Tarasov นักวิทยาศาสตร์พลเมือง ที่ใช้ไฟล์ raw ซึ่งเป็นข้อมูลต้นฉบับจากกล้อง JunoCam ที่เปิดให้สาธารณชนสามารถเข้าถึงได้

 

วันฮาโลวีน Halloween เผยภาพใบหน้าชวนหลอนบนดาวพฤหัสบดี

สำหรับ "ดาวพฤหัสบดี" กำลังจะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งใกล้โลกที่สุดในรอบปี วันที่ 3 พฤศจิกายน 2566 ที่จะถึงนี้ เป็นโอกาสดีสำหรับผู้ที่อยากจะสังเกตการณ์หรือถ่ายภาพในวันดังกล่าว เมื่อดวงอาทิตย์ลับขอบฟ้า ดาวพฤหัสบดีจะปรากฏสว่างทางทิศตะวันออก สังเกตได้ด้วยตาเปล่า นานตลอดคืนจนถึงรุ่งเช้า หากมองผ่านกล้องโทรทรรศน์ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 4 นิ้ว ที่มีกำลังขยายตั้งแต่ 30 เท่าขึ้นไป จะสามารถสังเกตเห็นดวงจันทร์กาลิเลียนทั้ง 4 ดวง ได้แก่ ไอโอ ยูโรปา แกนีมีด คัลลิสโต รวมถึงแถบเมฆที่สวยงามของดาวพฤหัสบดี และหากใช้กำลังขยาย 100 เท่าขึ้นไป จะสามารถเห็นจุดแดงใหญ่ พายุหมุนยักษ์ที่มีขนาดใหญ่กว่าโลกถึง 1.3 เท่า ได้อย่างชัดเจน