5ส จัดบ้าน และ Minimalism | กฤชชัย อนรรฆมณี

5ส จัดบ้าน และ Minimalism | กฤชชัย อนรรฆมณี

5ส ได้รับการกล่าวถึงว่าเป็นรากฐานของผลิตภาพและคุณภาพในโลกกายภาพ โดยเฉพาะภาคการผลิตหรือโรงงานมานานแล้ว

พร้อมกับการขยายไปยังภาคบริการในเวลาต่อมาด้วยหลักการ ที่เป็นที่รับรู้ทั่วไป คือ มีเฉพาะสิ่งของที่จำเป็นในพื้นที่ทำงาน เป็นระเบียบ เพื่อให้ค้นหาง่าย เก็บง่าย รักษาง่าย และดูแลทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอ 

เมื่อแนวคิด 5ส เชื่อมโยงไปสู่การจัดการในกรณีของบ้านพักอาศัย ทำให้มีแง่มุมมาชวนคุย ขยายความกันได้ครับ

บ้านรกรุงรัง ผลกระทบ

มีงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวกับการจัดบ้าน พบว่าบ้านที่ไม่เป็นระเบียบมีความสัมพันธ์เชิงจิตวิทยา และการทำงานของสมองอย่างคาดไม่ถึง ข้าวของในบ้านที่อยู่อย่างกระจัดกระจาย ทำให้สมาธิในการจดจ่อต่อสิ่งต่างๆ ลดน้อยลง เพราะสายตาและสมองรับรู้ข้อมูลที่เข้ามาอย่างไม่เป็นระบบ ล้นเกิน สมองเกิดความตึงเครียดโดยไม่รู้ตัว

ผู้ที่อาศัยในบ้านที่รกรุงรัง เมื่อหาข้าวของในบ้านไม่เจอ มักผัดผ่อนการค้นหาออกไป นิสัยเช่นนี้มีแนวโน้มส่งผลไปยังการผัดวันประกันพรุ่งในการทำงาน

ข้าวของมากมายยังทำให้การทำความสะอาดยากขึ้น เป็นบ่อเกิดแห่งความขี้เกียจ ความสกปรกจะตามมาได้ง่าย จำคำที่คุณป้าของผมพูดสมัยเด็กๆ ได้ว่า ความสกปรกและฝุ่นนั้นจะทำให้บ้านร้อน ฝุ่นในบ้านส่งผลต่อระบบหมุนเวียนระบายอากาศ และสุขภาพของคนในบ้าน

รูปธรรมที่สำคัญอีกข้อหนึ่งคือ การนอน ห้องนอนที่รกไม่สะอาดทำให้การนอนไม่มีคุณภาพ หลับยาก หลับไม่สนิท เกิดปัญหาสืบเนื่องอื่นๆ ตามมา สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดกลายเป็นปัจจัยเล็กๆ ที่สามารถเชื่อมโยงไปเป็นปัญหาใหญ่ขึ้น ทั้งของสมาชิกในบ้านแต่ละคน รวมถึงความสัมพันธ์ของคนในบ้านด้วย

5ส จัดบ้าน และ Minimalism | กฤชชัย อนรรฆมณี

ต่อยอด 5ส กับการจัดระเบียบบ้าน 

การจัดระเบียบบ้าน ถูกกล่าวถึงในวงกว้าง โดยนักเขียนญี่ปุ่น Marie Kondo กับหนังสือ “ชีวิตดีขึ้นทุกๆ ด้านด้วยการจัดบ้านแค่ครั้งเดียว” (The life-changing magic of tidying up)

หนังสือสร้างปรากฏการณ์ยอดขาย ทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ คุณ Marie กลายเป็นวิทยากรสัมมนาและที่ปรึกษาด้านการจัดบ้านชื่อดัง มีรายการออกอากาศใน Netflix

จากสะสางใน 5ส คือ การคัดแยก เพื่อให้เหลือเฉพาะสิ่งที่จำเป็นในการทำงานเท่านั้น คุณ Marie นำมิติความรู้สึกของความเป็นมนุษย์ มาใช้ในการจัดระเบียบบ้าน จากการพิจารณาด้วย "ความจำเป็น" มาเป็น "การจุดประกายความสุข (Spark Joy)" 

เริ่มต้นด้วยการตั้งคำถาม เช่น อยากใช้ชีวิตในยามเช้าแบบไหน, อยากใช้เวลาก่อนเข้านอนแบบไหน ให้จินตนาการถึงรูปแบบที่ปรารถนา แล้วจึงเลือกเก็บไว้เฉพาะของที่ปลุกเร้าจุดประกายความสุขตามเป้าหมายนั้น และโยนสิ่งที่ไม่ใช่ทิ้งไป

ในขณะที่เป้าหมาย 5ส คือ การสร้างสิ่งแวดล้อมทางกายภาพในการทำงาน เพื่อให้งานมีประสิทธิภาพและคุณภาพ เป้าหมายการจัดบ้านที่คุณ Kondo กล่าวถึงคือ การได้ใช้ชีวิตอย่างมีความสุขทุกวัน

สิ่งของที่จุดประกายความสุขเหล่านั้น ถูกจัดวางให้เป็นระเบียบ ดูแลทำความสะอาดโดยมองเป็นกิจกรรมที่เป็นการออกกำลังกาย ฝึกสมาธิไปในตัว พร้อมกับแนะนำให้สร้างบทสนทนาโต้ตอบ ราวกับบ้านเป็นสิ่งมีชีวิตด้วย เช่น “ขอบคุณที่ช่วยดูแลฉันมาตลอดทั้งวัน” ขณะถูพื้นสัมผัสบ้านไปด้วย

แนวคิด Minimalism

“บ้านชั้นเดียวโทนขาวไม้ สไตล์ Minimal ขนาดพื้นที่กะทัดรัด”

“โต๊ะเครื่องแป้งโรแมนติกแบบ Minimal ดีไซน์เรียบง่าย ให้ความสวยงาม โทนสีอบอุ่นชุดนี้เลย” (จากการค้นหาด้วยคำว่า Minimal บนโลกออนไลน์)

ไม่กี่ปีที่ผ่านมา คำว่า มินิมอล ดูจะกลายเป็นกระแสหนึ่งที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะในแง่สินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่ออกแบบตามประโยชน์ใช้สอยที่จำเป็น ขจัดองค์ประกอบอื่นที่ไม่จำเป็นออกไป โทนสีนุ่มนวลไม่ฉูดฉาด ถ้าเป็นบ้านก็มักจะเป็นสีขาว สีไม้ โทนอบอุ่น

อีกคำหนึ่งที่สื่อความในแนวทางเดียวกัน คือ "น้อยแต่มาก" (Less is more) เน้นหน้าที่ (Function) ตัดส่วนที่ไม่จำเป็นออก

ผลิตภัณฑ์ที่เรารู้จักกันดีในตระกูล iPhone รวมถึงแบรนด์ Muji น่าจะเป็นตัวอย่างใกล้ตัว ที่ได้รับอิทธิพลจากแนวคิดนี้ ออกแบบให้เรียบง่าย เน้นเส้นสายสะอาดตา นอกจากความเรียบง่ายในแง่ตัวสินค้าแล้ว หากมองให้กว้างขึ้น ความเรียบง่ายครอบคลุมไปถึงวิถีการใช้ชีวิต (Lifestyle) ด้วยการมีสิ่งของที่เป็นวัตถุให้น้อยลงด้วย

ในญี่ปุ่นมีแนวคิดแบบเซนที่พยายามใช้ชีวิตด้วยของเท่าที่จำเป็น เช่น มีเสื้อผ้าไม่กี่ชุด เฟอร์นิเจอร์น้อยชิ้น สวนทางกับโลกทุนนิยมปัจจุบันที่กระตุ้นให้คนบริโภค

ในบ้านเรามีการนำแนวคิดนี้มาเป็นพื้นเรื่องราวของภาพยนตร์ “ฮาวทูทิ้ง” เมื่อปี 2562 หลักการ 5ส จนมาถึงการจัดระเบียบบ้าน จึงมีมุมมองความสัมพันธ์กับรูปแบบการใช้ชีวิต ตามหลักการ Minimalism ได้

“เพราะมีลูก Marie Kondo เจ้าแม่จัดบ้าน จึงยอมบ้านรก” เป็นหัวข้อข่าวของคุณ Marie ในปีนี้ เธอกล่าวว่า ตอนนี้บ้านเธอรกมาก ขอยอมแพ้กับการทำบ้านให้เรียบร้อยในตอนนี้ หลังจากคลอดบุตรชายคนที่ 3 เพราะจุดหมายชีวิตในช่วงนี้คือลูก เวลาทุกนาทีกับลูกๆ ที่บ้าน คือสิ่งสำคัญที่สุด

กล่าวได้ว่า ขณะนี้สิ่งปลุกเร้าความสุขของเธอคือลูกนั่นเอง กิจกรรมอื่นๆ กลายเป็นเรื่องรองไปก่อน ตำแหน่งความสมดุลชีวิตในแต่ละช่วงเวลา บางทีอาจไม่ใช่จุดเดียวกันครับ