พนักงานรูปตัว T และ π | กฤชชัย อนรรฆมณี

พนักงานรูปตัว T และ π | กฤชชัย อนรรฆมณี

ในการอธิบายถึงคุณลักษณะ ศักยภาพ ของพนักงานในองค์กร มีการใช้คำว่า ‘พนักงานรูปตัว T’ มาใช้เปรียบเทียบ จากตัวอักษร T ที่มีเส้น แนวตั้ง และ แนวนอนประกอบกัน ผมจะชวนผู้อ่านมาขยายความไปพร้อมกันครับ

พนักงานแบบ | (ความลึก) และ แบบ – (ความกว้าง)
“อันความรู้ รู้กระจ่างแต่อย่างเดียว แต่ให้เชี่ยวชาญเถิดจะเกิดผล” บทกลอนคุ้นหูข้างต้น เป็นคำอธิบายถึงผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน ด้วยเชื่อว่าความรู้หรือทักษะเพียงสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขอให้เก่งจริงก็จะประสบความสำเร็จได้

ตัวอย่าง เช่น นักวิ่งระยะสั้น แม้ว่าจะไม่เก่งอะไรอย่างอื่นเลย ยกเว้น ‘วิ่งเร็ว’ เพียงอย่างเดียว นั่นก็เพียงพอให้ขื้นสู่จุดสูงสุดในอาชีพได้แล้ว

หลายปีก่อน มีเพลงจากวงเฉลียงชื่อว่า ‘นายไข่เจียว’ ท่อนหนึ่งของเพลงคือ “อาหารแสนโปรด เขาทำอย่างเดียว เขาฝนเขาฝึก..” ทุกวันนี้เราได้เห็นร้านอาหารที่มีไข่เจียวเป็นพระเอก หรือกระทั่งมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น ไข่เจียวปูร้านเจ๊ไฝ

เมื่อเปรียบกับพนักงานในองค์กร แบบ | (ความลึก) คือ คนที่รู้แต่งานตัวเองเท่านั้น ไม่รู้งานผู้อื่นที่ต้องประสานงานด้วย ไม่รู้บริบทอื่นที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจ คู่แข่ง ลูกค้า ตลาดและการแข่งขัน ขาดความกระตือรือร้นในการเรียนรู้สิ่งใหม่

ส่วนอีกแบบคือ –  (ความกว้าง) สื่อถึง รู้ด้านกว้างหลายอย่าง แต่ขาดความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน คำเปรียบเทียบที่ได้ยินเสมอคือ เป็นเป็ด บินได้ ว่ายน้ำได้ แต่ไม่เก่งสักอย่าง

พนักงานลักษณะนี้ เป็นพวกที่รู้อะไรไปหมด แต่ขาดความเชี่ยวชาญ โดยเฉพาะในหน่วยงานหรือความรับผิดชอบที่ตนเองดูแลอยู่ 

พนักงานทั้ง 2 แบบนี้ เผชิญกับความเสี่ยงทั้งคู่ หากมีแต่ ‘ความลึก’ ขาด ‘ความกว้าง’ ในสภาวะที่ ตลาด, สิ่งแวดล้อม และ เทคโนโลยี เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ความเชี่ยวชาญที่มี อาจไม่ใช่สิ่งที่อนาคต ต้องการต่อไป

นอกจากนั้น งานในองค์กรไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยคนเดียว การขาดความรู้ ‘ด้านกว้าง’ ทำให้โอกาสเจริญเติบโตในองค์กรเป็นไปได้ลำบาก

ส่วนพนักงานที่ขาด ‘ความลึก’ ย่อมไม่สามารถดูแลงานในรับผิดชอบโดยตรงได้ดี ถูกแทนที่จากผู้อื่นได้

สำหรับองค์กร ความสามารถพนักงานที่ขาดไป ทำให้เกิดปัญหาผลิตภาพและคุณภาพงานขึ้นได้ การประสานงานระหว่างหน่วยงานไม่ราบรื่น เพราะขาดความเข้าใจซึ่งกันและกัน

กว้างแล้วลึก ลึกแล้วกว้าง
หนังสือ Range หรือ ‘วิชารู้รอบ’ ในภาษาไทย ได้เปิดบทกล่าวถึง Roger Federer นักเทนนิสชื่อดังว่า Federer เล่นกีฬาหลากขนิด เช่น ฟุตบอล สกี มวยปล้ำ บาสเกตบอล ปิงปอง แบดมินตัน ก่อนตัดสินใจเล่นเทนนิสเป็นอาชีพ

"เขาเคยยกความดีความชอบ ให้กับทักษะกีฬาหลายอย่างว่า มีส่วนช่วยพัฒนาความสามารถของร่างกาย ตา และ มือ ให้ประสานกันได้อย่างดีเลิศ"

ในเส้นทางการศึกษาตั้งแต่เด็กจะเห็นว่า เริ่มต้นจากด้านกว้าง ทุกคนเรียนเหมือนกันหมดในจุดเริ่มต้น จนเป็นทางแยก สายวิทย์ สายศิลป์ วิชาเลือกที่ต่างกัน ในระดับมหาวิทยาลัย การลงลึกชัดเจนขึ้นตามสาขาวิชาต่าง ๆ และ เมื่อถึงจุดสูงสุดคือปริญญาเอก การเรียนก็จะยิ่งลงลึกไปเรื่อย ๆ  

หลังจบการศึกษาเข้าทำงานในองค์กร เส้นทางชีวิตจะเป็นอีกด้าน จากความรับผิดชอบในขอบเขตเล็ก ๆ เปรียบได้กับด้านลึก เมื่อเจริญเติบโตในองค์กร ความรู้ทักษะที่จำเป็น จะขยายด้านกว้างไปเรื่อย ๆ

T และ π
“ทำไมยอดขายต่างจากแผนมาก ทำให้โรงงานต้องมาปรับแผนการผลิตกระทันหัน ในขณะที่โรงงานวางแผนผลิตไว้เท่าไหร่แล้ว ก็ต้องผลิตให้ได้ตามนั้น ?”  เป็นคำถามด้วยความไม่พอใจ ที่ผมเคยตั้งกับฝ่ายขาย เมื่อครั้งยังทำงานวางแผนการผลิต 

อย่างไรก็ตาม เมื่อผมย้ายมาอยู่การตลาดจึงได้เรียนรู้ว่า ตนเองนั้นเขลามาก สิ่งแวดล้อมระหว่างงานวางแผนการขายกับการผลิตนั้นต่างกัน มีปัจจัยภายนอกที่ควบคุมไม่ได้หลายอย่าง 

ทิศทางการพัฒนาคนในองค์กร จึงควรผสมผสานให้เกิดทั้งทางด้านกว้างและด้านลึก กลายเป็นรูป “T” จึงจะเกิดประโยชน์สูงสุดทั้งต่อองค์กร และ ตัวพนักงานเอง

ด้านลึก แสดงถึงความรู้ ความเชี่ยวชาญ อย่างลึกซึ้งในงานที่กำลังทำอยู่ และสามารถต่อยอดเจาะลึกลงไปได้

ความกว้าง เป็นได้ทั้งใน ‘ขั้นตอนงานก่อนหน้า’ และ ‘ขั้นตอนงานถัดไป’ จนถึงหน่วยงานอื่น ๆ ในองค์กร ความรู้นอกองค์กรที่เกี่ยวข้อง และรวมไปถึงการมีมนุษย์สัมพันธ์กับผู้อื่นด้วย 

ผู้ได้รับรางวัลโนเบล ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านระดับโลก มีจำนวนมากที่เป็นศิลปิน นักประพันธ์ หรือมีความเชี่ยวชาญอื่น ๆ กล่าวกันว่า ด้วยความรู้ด้านกว้างนี่เอง ที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อ ค้นพบสิ่งใหม่ได้ดีกว่าผู้ที่มุ่งความสนใจไปที่จุดเดียวเท่านั้น 

ในโลกที่หมุนอย่างรวดเร็วในปัจจุบัน ความลึกเพียงเส้นเดียวอาจจะไม่เพียงพอ ด้งนั้นรูปตัว T เมื่อเติมเส้นแนวตั้งเพิ่มเข้าไปกลายเป็นตัว π  ความรู้กระจ่างนั้น ไม่จำเป็นต้องจำกัดอยู่ที่ ‘เพียงอย่างเดียว’ เท่านั้นครับ.