จากเคส 'แอม ไซยาไนด์' สธ.ปรับแนวทางผ่าชันสูตรศพโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย

จากเคส 'แอม ไซยาไนด์' สธ.ปรับแนวทางผ่าชันสูตรศพโดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย

จากกรณี 'แอม ไซยาไนด์' สธ.แจงการ 'ผ่าพิสูจน์ศพ' ที่ตายผิดธรรมชาติเป็นอำนาจของพนง.สอบสวน เตรียมปรับแนวทางหากระบุสาเหตุไม่ได้ ให้ 'ผ่าชันสูตร' ทุกราย โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย

วันนี้ (29 เมษายน 2566) นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ โฆษกกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เผยการตัดสินใจ 'ผ่าพิสูจน์ศพ' กรณีที่แพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุการตายที่ชัดเจนได้และเป็นการตายที่ผิดธรรมชาตินั้นเป็นอำนาจของพนักงานสอบสวน ล่าสุดหลังมีเคส 'แอม ไซยาไนด์' ได้ปรับแนวทางให้แพทย์ทำการ 'ผ่าชันสูตร' ทุกศพที่ไม่สามารถระบุถึงการเสียชีวิตที่แท้จริงได้ โดยไม่เรียกเก็บค่าใช้จ่าย ส่วนการตรวจวิเคราะห์ 'ไซยาไนด์' สามารถส่งตรวจได้ที่หน่วยงานของกรมวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

 

นพ.รุ่งเรือง กิจผาติ หัวหน้าที่ปรึกษาระดับกระทรวง (นพ.ทรงคุณวุฒิระดับ 11) และโฆษกกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง กรณีข่าวการฆาตกรรมโดยใช้ 'ไซยาไนด์' ซึ่งมีผู้ตั้งประเด็นคำถามถึงเรื่องการชันสูตรพลิกศพที่ตายผิดธรรมชาติว่า กระบวนการและขั้นตอนการพิสูจน์ศพ เมื่อพนักงานสอบสวนไปตรวจสอบที่เกิดเหตุจะแจ้งแพทย์ไปร่วมตรวจสอบด้วย โดยอำนาจในการตัดสินใจผ่าพิสูจน์ศพเป็นของพนักงานสอบสวน ในฐานะหัวหน้าทีมชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ ซึ่งจะให้มีการผ่าพิสูจน์เมื่อแพทย์ไม่สามารถหาสาเหตุการตายที่ชัดเจนได้ และเป็นการตายที่ผิดธรรมชาติ 5 ลักษณะ ได้แก่ การฆ่าตัวตาย, ถูกผู้อื่นทำให้ตาย, สัตว์ทำร้าย, ตายโดยอุบัติเหตุ และตายโดยไม่ปรากฏเหตุ

 

แต่หากญาติไม่ติดใจการตาย และพนักงานสอบสวนเห็นด้วยกับญาติ ก็จะไม่มีการส่งผ่าพิสูจน์ โดยแพทย์จะทำความเห็นเบื้องต้น เขียนใบรายงานชันสูตรพลิกศพในที่เกิดเหตุ และออกหนังสือรับรองการตาย เพื่อให้ญาตินำศพไปประกอบพิธีกรรมทางศาสนา ซึ่งจะระบุเหตุผลการเสียชีวิตกว้างๆ เช่น ระบบไหลเวียนโลหิตล้มเหลว หรือหัวใจวายเฉียบพลัน เนื่องจากไม่มีร่องรอยบาดแผล ถูกทำร้าย หรือฆ่าตัวตาย

 

 

นพ.รุ่งเรือง กล่าวต่อว่า จากกรณีล่าสุดที่เกิดขึ้น กระทรวงสาธารณสุขได้มีการปรับแนวทางในการชันสูตรพลิกศพ โดยให้แพทย์ทำการผ่าชันสูตรทุกศพที่ไม่สามารถระบุถึงการเสียชีวิตที่แท้จริงได้ และไม่มีการเรียกเก็บค่าใช้จ่าย เพื่อสร้างความชัดเจนและนำไปสู่การป้องกันเหตุ หรือสืบหาต้นตอของการเสียชีวิตได้

 

สำหรับการตรวจหาสารไซยาไนด์ หน่วยงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ทั่วประเทศ สามารถตรวจวิเคราะห์ยืนยันไซยาไนด์ในตัวอย่างน้ำล้างกระเพาะ อาหาร วัตถุต้องสงสัย ได้ในระยะเวลา 5-7 วันทำการ ส่วนการหาปริมาณไซยาไนด์ในตัวอย่างเลือด ใช้ระยะเวลา 22-30 วันทำการ และการหาปริมาณเมตาบอไลด์ในตัวอย่างปัสสาวะ ใช้ระยะเวลา 5-10 วันทำการ

 

ทั้งนี้ 'สารพิษไซยาไนด์' เป็นสารเคมีที่มีความเป็นพิษสูงมาก พบได้ 2 รูปแบบ คือ ลักษณะของแข็ง เรียกว่า เกลือไซยาไนด์ เป็นโซเดียมไซยาไนด์ หรือ โปแตสเซียมไซยาไนด์ และลักษณะของก๊าซ เรียกว่า ไฮโดรเจนไซยาไนด์ ซึ่งเมื่อได้รับเข้าสู่ร่างกายจะไปยับยั้งขบวนการทำงานของเซลล์ ทำให้เกิดภาวะขาดออกซิเจน มีผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือด ทำให้ความดันโลหิตตก รวมถึงเกิดภาวะสมองขาดออกซิเจน ส่งผลทำให้ชักหรือหมดสติ และมีการหายใจช้าถึงหยุดหายใจ

 

นอกจากนี้ยังพบได้ตามธรรมชาติในพืชบางชนิด เช่น มันสำปะหลัง สบู่ดำ หน่อไม้ ถั่วลิมา อัลมอนด์ชนิดขม โดยอยู่ในรูปไซยาโนไกลโคไซด์ต่างๆกัน หากรับประทานในปริมาณมากๆอาจเกิดการสะสมเป็นพิษได้ โดยเฉพาะหน่อไม้หมักดอง และมันสำปะหลัง จึงควรต้องทำความสะอาดและทำให้สุกก่อนรับประทาน