นโยบายที่สวยหรู แต่ปฏิบัติไม่สำเร็จ | พสุ เดชะรินทร์ 

นโยบายที่สวยหรู แต่ปฏิบัติไม่สำเร็จ | พสุ เดชะรินทร์ 

ในช่วงเลือกตั้ง เรื่องของเป้าหมายและนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ จะเป็นสิ่งที่ได้เห็นและได้ยินอยู่ตลอดเวลา และทำให้มีคำถามหนึ่งโผล่ขึ้นมาบ่อยครั้งคือนโยบายเหล่านี้ จะมีกี่เปอร์เซ็นต์ที่ได้รับการผลักดันและนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง เมื่อได้รับเลือกตั้งเข้ามา

เมื่อนึกเปรียบเทียบกับระดับองค์กรต่างๆ ที่ผู้บริหารจะประกาศวิสัยทัศน์ กลยุทธ์ และนโยบาย แต่สิ่งที่ประกาศไว้นั้นมีเพียงไม่เกินครึ่งหนึ่งที่สามารถนำไปปฏิบัติจนเห็นผล มีการศึกษาวิจัยในองค์กรต่างประเทศถึงความสำเร็จในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติในองค์กร และผลจะออกมาสอดคล้องกัน McKinsey พบว่าน้อยกว่า 30% ของแผลกลยุทธ์ที่ปฏิบัติจนสำเร็จ 

ขณะที่มีบทความใน Harvard Business Review ที่ระบุว่ามีเพียง 12% ขององค์กรเท่านั้นที่ประสบความสำเร็จในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ Fortune เคยสำรวจซีอีโอและพบว่า 70% ของซีอีโอที่ระบุว่าการที่ไม่สามารถนำกลยุทธ์ที่คิดไว้ไปปฏิบัติจริงเป็นความท้าทายที่สำคัญสุด

PwC เคยสำรวจโดยใช้ข้อมูลกว่า 2,200 บริษัทในช่วงระยะเวลา 10 ปี และพบว่ามีเพียงแค่ 2.5% ของบริษัทที่สามารถนำกลยุทธ์ที่ประกาศไว้ไปปฏิบัติได้ครบถ้วน

เมื่อไปดูในมุมมองด้านการเมือง ก็พบว่าได้มีการสำรวจโดยหลายหน่วยงาน ถึงความสำเร็จในการผลักดันนโยบายที่ประกาศไว้สู่การปฏิบัติ แต่ไม่ได้มีการระบุออกมาเป็นตัวเลขเปอร์เซ็นต์ เนื่องจากในด้านการเมืองและการบริหารประเทศนั้น จะมีปัจจัยที่ท้าทายและควบคุมไม่ได้มากกว่า

เมื่อศึกษาถึงปัจจัยที่จะส่งผลต่อการนำแผน กลยุทธ์ หรือนโยบายไปสู่การปฏิบัติจนเกิดผลสำเร็จนั้น ไม่ว่าจะเป็นในระดับการเมืองหรือระดับองค์กร ก็มีปัจจัยที่พอจะร่วมกันได้หลายประการ ประกอบด้วย

1.แผนที่ไม่ใช่แผน หลายครั้งที่ประกาศว่าเป็นแผนหรือกลยุทธ์นั้น จริงๆ เป็นเพียงแค่เป้าหมายที่ต้องการไปให้ถึง แต่ไม่ใช่แผนที่จะทำเพื่อนำไปสู่เป้า

2.เป้าหมายที่เป็นไปไม่ได้ เกิดจากการขายฝัน ไม่ได้มองในความเป็นจริงว่าเป้าดังกล่าวสามารถบรรลุได้หรือไม่ ไม่ว่าจะเกิดจากข้อจำกัดด้านเวลา หรือข้อจำกัดด้านทรัพยากร หรือความเสี่ยงและความท้าทายที่มีอยู่

3.การไม่สอดคล้องกันทั้งระบบ การที่แผนหรือกลยุทธ์จะถูกนำไปใช้ให้เกิดผลได้จริงนั้น องค์ประกอบที่เกี่ยวข้องต่างๆ จะต้องเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งโครงสร้างในการบริหารไม่สอดคล้อง ไม่ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณหรือทรัพยากร หน่วยงานและบุคลากรที่เกี่ยวข้องไม่ยอมรับและสนับสนุน แผนงานก็ยากจะขับเคลื่อนให้สำเร็จได้

4.ขาดการติดตาม ผู้นำอาจจะเริ่มต้นและทำให้แผนได้เกิดขึ้นจริง แต่แผนหรือกลยุทธ์ไม่ใช่สิ่งที่สามารถสำเร็จได้ในช่วงระยะเวลาที่เป็นสัปดาห์หรือเดือน เมื่อใช้เวลาที่นานและขณะเดียวกัน

ถ้าขาดระบบหรือกระบวนการในการติดตามที่ดีแล้ว ประกอบกับตัวผู้นำเองก็มีงานมากมายทำให้ไม่มีเวลามาติดตามในแผนที่ตนเองได้เริ่มไว้ สุดท้ายแผนดังกล่าวก็จะค่อยๆ เลือนหายไปได้

5.ตัวผู้นำ ถือเป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด ที่จะทำให้แผนและกลยุทธ์ที่ได้ประกาศไว้ มีการนำไปใช้จนประสบความสำเร็จ ผู้นำบางท่านอาจจะประกาศนโยบายที่สวยงามเพื่อให้ได้ดำรงตำแหน่ง แต่เมื่อเข้าสู่ตำแหน่งแล้ว อาจจะลืม หรือยุ่ง

หรือมีอย่างอื่นที่มีความสำคัญมากกว่า จนทำให้ไม่สามารถทำตามแผนที่ตนประกาศไว้ได้ หรือถ้าองค์กรไหนที่ผู้นำขาดการผลักดันขับเคลื่อนอย่างจริงจัง แผนและการปฏิบัติที่ตั้งใจไว้อย่างดีก็อาจจะค่อยๆ เงียบหายไป 

ถ้าผู้นำอยากจะเห็นกลยุทธ์ แผน นโยบายที่ตนเองประกาศไว้ถูกนำไปปฏิบัติจนประสบความสำเร็จนั้น ผู้นำจะต้องเล่นบทผู้นำในการเปลี่ยนแปลง ที่จะต้องทั้งกล้าตัดสินใจ จัดสรรทรัพยากรให้เพียงพอ สื่อสาร ติดตามอย่างใกล้ชิด รวมทั้งการสร้างพันธมิตรและความเข้าใจร่วมกับเครือข่ายและบุคคลที่เกี่ยวข้องด้วย

แนวทางข้างต้นเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของปัจจัย ที่ส่งผลต่อการนำแผนไปปฏิบัติให้สำเร็จ ดังนั้น การเลือกผู้นำ ไม่ว่าจะระดับใด นอกจากจะดูที่แผนและนโยบายแล้ว ก็ควรจะดูด้วยว่าผู้นำดังกล่าวมีศักยภาพและความสามารถในการนำแผนและนโยบายที่ประกาศไว้ไปปฏิบัติจนสำเร็จด้วย.