กกต.ย้ำนโยบายหาเสียงใช้เงิน ต้องบอกที่มา-ความคุ้มค่า ฝ่าฝืนโดนปรับ 5 แสน

กกต.ย้ำนโยบายหาเสียงใช้เงิน ต้องบอกที่มา-ความคุ้มค่า ฝ่าฝืนโดนปรับ 5 แสน

กกต.ย้ำนโยบายหาเสียงที่ต้องใช้เงิน ต้องบอกที่มา-ความคุ้มค่า-ความเสี่ยง คาดโทษพรรคไหนฝ่าฝืนโดนปรับ 5 แสน แบไต๋มี จนท.กกต.แฝงตัวสังเกตการณ์ทุกเวทีปราศรัยใหญ่

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2566 แหล่งข่าวจากสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยถึงกรณีมีการวิพากษ์วิจารณ์นโยบายพรรคการเมืองต่าง ๆ โดยหลายนโยบายถูกมองว่าไม่สามารถทำได้จริงว่า ในส่วนของนโยบายที่ไม่ใช้เงินนั้น สามารถเสนอได้เลย หากไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่หากเป็นนโยบายที่ต้องใช้เงิน นโยบายประชานิยม ต้องดำเนินการ ตามมาตรา 57 แห่ง พระราชบัญญัติประอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2560

 

โดยก่อนหน้านี้ สำนักงาน กกต. ได้กำหนดแนวทางเพื่อให้พรรคการเมืองได้ปฏิบัติให้เป็นไปตามมาตรา 57 แห่ง พระราชบัญญัติประอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2560 และมาตรา 74 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561 ที่ต้องดำเนินการให้ถูกต้อง โดยการกำหนดนโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการประกาศโฆษณาให้คำนึงถึงความเห็นของสาขาพรรคการเมืองและตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด นโยบายใดที่ต้องใช้จ่ายเงิน การประกาศโฆษณานโยบายนั้น อย่างน้อยต้องมีรายการ

  1. วงเงินที่ต้องใช้ และที่มาของเงินที่จะใช้ในการดำเนินการ
  2. ความคุ้มค่าและประโยชน์ในการดำเนินนโยบาย
  3. ผลกระทบและความเสี่ยงในการดำเนินนโยบาย

ส่วนการหาเสียงของผู้สมัคร และพรรคการเมือง ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับแนวทางที่กำหนดเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตาม พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง และตามมาตรา 74 แห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ.2561

 

 

ทั้งนี้สำหรับพรรคการเมืองใดที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง กกต. ตามมาตรา 57 วรรคสอง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500,000 บาท และปรับอีกวันละ 10,000 บาท ตลอดระยะเวลาที่ยังมิได้ปฏิบัติให้ถูกต้อง และผู้ฝ่าฝืนมาตรา 74 หรือ หาเสียงเลือกตั้งไม่ว่าด้วยประการใดเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อหรือเข้าใจผิดว่าเป็นนโยบายของพรรคการเมืองตามมาตรา 74 ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งขจองผู้นั้นมีกำหนด 20 ปี

แหล่งข่าว กล่าวถึงกรณีการสังเกตุการณ์ในการปราศรัยของพรรคการเมืองนั้นว่า กกต.ได้ส่งเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์และจะมีการรายงานต่อเลขาธิการ กกต. เพื่อทราบเบื้องต้นว่ามีการปราศรัยหาเสียงอย่างไร ส่วนการปราศรัยที่อาจจะเป็นเรื่องผิดกฎหมายหรือเข้าข่ายผิดกฎหมาย ก็จะมีการแจ้งต่อเลขาธิการ กกต.อีกครั้งหนึ่ง โดยการลงพื้นที่สังเกตการณ์ของเจ้าหน้าที่ กกต.ในการปราศรัยของพรรคการเมืองนั้น จะเป็นการไปสังเกตการณ์โดยไม่แสดงตัว ซึ่งพรรคการเมืองจะไม่รู้ว่ามีเจ้าหน้าที่ กกต.อยู่ ทั้งนี้หากเป็นเวทีปราศรัยใหญ่ของพรรคก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปสังเกตการณ์ทั้งหมด