หนังสือ “ขบวนเสรีจีน” | วรากรณ์ สามโกเศศ

หนังสือ “ขบวนเสรีจีน” | วรากรณ์ สามโกเศศ

หนังสือ “ขบวนเสรีจีน” ตีพิมพ์ในต้นทศวรรษ 2500 เขียนโดยคุณสด กูรมะโรหิต นักคิดนักเขียนคนสำคัญของไทยยุค 2480 ถึง 2520 เป็นหนังสือทรงคุณค่าที่เยาวชนรุ่นใหม่ควรอ่านอย่างยิ่ง

โดยส่วนตัวแล้วผู้เขียนถือว่าหนังสือเล่มนี้เป็น “หนังสือในดวงใจ” ได้อ่านตอนวัยรุ่นและประทับใจไม่รู้เลือน ผู้เขียนได้ไปพูดถึงหนังสือเล่มนี้ในงาน “มหกรรมหนังสือ 2565” ของสำนักหอสมุด มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้

ขบวนเสรีจีน” เป็นนวนิยายที่อยู่บนพื้นฐานความจริงของประวัติศาสตร์ในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่สอง เป็นบันทึกการต่อสู้ความกล้าหาญของกลุ่มนักศึกษาจีนที่ต่อต้านการรุกรานของทหารญี่ปุ่น หนังสือที่เต็มไปด้วยความตื่นเต้นเล่มนี้มีบทเรียนเกี่ยวกับความรักชาติและความกล้าหาญเสียสละให้แก่เยาวชนทุกชาติ

หนังสือ “ขบวนเสรีจีน” | วรากรณ์ สามโกเศศ

จีนและญี่ปุ่นมีเรื่องกระทบกระทั่งกันมาตลอดประวัติศาสตร์ถึงแม้จะมาจากวัฒนธรรมเดียวกันแต่การอยู่ใกล้กันก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดปัญหาได้เสมอ

สงครามอย่างเป็นทางการครั้งแรกมีชื่อเรียกว่า First Sino-Japanese War เกิดขึ้นระหว่าง ค.ศ. 1894-1895 ประเด็นขัดแย้งคือการแย่งชิงดินแดนเกาหลี ญี่ปุ่นเป็นผู้รุกรานและรัฐบาลของราชวงศ์ชิงต่อสู้แต่พ่ายแพ้  ต้องยอมให้ญี่ปุ่นมีอิทธิพลเหนือคาบสมุทรเกาหลีและจีนสูญเสียไต้หวันให้ญี่ปุ่น

สงครามครั้งที่สอง Second Sino-Japanese War (1937-1945) เป็นจุดเริ่มต้นของหนังสือเล่มนี้ โดยจีนกับญี่ปุ่นเริ่มสู้รบกันในปี 1937 และลามไปเป็นส่วนหนึ่งของสงครามโลกครั้งที่สอง (1939-1945) ในเวลาต่อมา ญี่ปุ่นบุกยึดครองเมืองใหญ่ ๆ เช่น ปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ เทียนจินฯ   

พล็อตก็มีอยู่ว่า ระพินทร์ เป็นนักศึกษาไทยที่ไปเรียนที่มหาวิทยาลัยปักกิ่งก่อนที่จะเกิดการต่อต้านของ “ขบวนเสรีจีน” ใน ค.ศ. 1937 วันหนึ่งหลู ผิงเฟ ซึ่งเคยเป็นเพื่อนนักศึกษาส่งจดหมายและบันทึกเรื่องราวการต่อสู้มาให้เขาเพื่อช่วยเผยแพร่ให้ชาวโลกได้รับรู้

และระพินทร์ก็นำข้อมูลมาเขียนเป็นหนังสือเล่มนี้ ต่อมาได้รับรางวัลตุ๊กตาทอง ในปี 2502 เมื่อมีการนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์            

คุณสด กูรมะโรหิต ในชีวิตจริงเคยเป็นนักศึกษาทุนของไทยที่มหาวิทยาลัยปักกิ่ง และเรียนจบกลับมารับราชการในกระทรวงศึกษาธิการก่อนที่จะลาออกมาเป็นนักหนังสือพิมพ์ และนักเขียนที่มีชื่อเสียงมีผลงานมากมาย คุณสดเขียนได้อย่างเห็นจริงเพราะได้ใช้ชีวิตอยู่ในจีนก่อนการสู้รบใต้ดินของหลูผิงเฟและเพื่อน ๆ นักศึกษาซึ่งในที่สุดจบลงอย่างน่าสงสาร

หนังสือ “ขบวนเสรีจีน” | วรากรณ์ สามโกเศศ

นักศึกษากลุ่มนี้เริ่มมีความคิดต่อสู้ญี่ปุ่น เพราะความเกลียดชังร่วมกันเนื่องจากได้เห็นความทารุณโหดร้ายของสงคราม และของผู้รุกราน คาดหวังกันว่าจารกรรมจะช่วยบ้านเมืองได้บ้างจึงมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะยอมเสียสละชีพเพื่อชาติ ไม่ย่อท้อต่อความตายเพราะตระหนักว่า “ความกลัวคือศัตรูของเสรีภาพ” 

หลูผิงเฟและเพื่อน ๆ นักศึกษา อยู่ในวัยต้น 20 ปี และหลายคนต่ำกว่า 20 ปี เริ่มต้นค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องระเบิดเพลิงจากสมุนไพร เพราะไม่มีโอกาสที่จะหาสารเคมีเพื่อทำจารกรรมได้ ไม่มีเงินสนับสนุน มีแต่พลังใจที่พร้อมเสียสละและมีความรักชาติอย่างเต็มเปี่ยม ตอนแรกก็เริ่มจากเผาโรงงานฝ้ายของญี่ปุ่นซึ่งเอาไปใช้เป็นวัสดุประกอบการผลิตกระสุน    

ต่อมาก็โรงภาพยนตร์ ร้านค้าและบริษัทอุตสาหกรรมสนับสนุนญี่ปุ่น ฯลฯ เมื่อประสบความสำเร็จและมีเพื่อนมาร่วมขบวนการมากขึ้นก็เลื่อนขั้นไปถึงการ จ้างวานและลงมือเองในการฆ่าคนจีนที่รับใช้ญี่ปุ่น

เมื่อญี่ปุ่นรู้ตัวก็ต้องระวังมาก เพราะยิ่งมีคนร่วมงานมากก็มีโอกาสที่ข้อมูลและความลับต่าง ๆ จะรั่วไหลออกไป ในช่วงเวลาหนึ่งมีพรรคพวกร่วมงานอยู่ในเมืองต่าง ๆ นับเป็นร้อยเป็นพันคน  

ต่อมาเมื่อรัฐบาลเอื้อมมือมาให้เงินสนับสนุนทำจารกรรม กลุ่มนี้ก็ระวังมากเพราะไม่ต้องการเกี่ยวข้องกับการเมืองซึ่งมีความขัดแย้งระหว่างประธานาธิบดีจอมพลเจียง ไคเช็ก พรรคคอมมูนิสต์ของเหมาเจอตุงและเจ้าพ่อทั้งหลายที่มีอำนาจครอบครองเมืองต่าง ๆ หลังจากราชวงศ์ชิงสิ้นลง และประกาศเป็นสาธารณรัฐครั้งแรกในปี 1911

หนังสือเล่าถึงทารุณกรรมต่าง ๆ ของญี่ปุ่นในปักกิ่ง เซี่ยงไฮ้ โดยเฉพาะในนานกิงที่คนจีนถูกญี่ปุ่นฆ่า (สถิติต่อมาพบว่าตายไม่ต่ำกว่า 200,000 คน ในเวลาเพียง 6 อาทิตย์ของปลายปี1937) และกล่าวถึงการช่วยเหลือของคนต่างชาติ

และคนจีนบางคนที่ทำให้ได้มีโอกาสทำงานลับนี้ก่อนที่จะถูกจับ ทรมานและถูกฆ่าตายไปเกือบหมด หลูผิงเฟรอดเพราะหนีไปอยู่สหรัฐอเมริกาด้วยการสนับสนุนของครอบครัว

จุดจบของ “ขบวนเสรีจีน” เกิดขึ้นเมื่อนักเรียนมัธยมคนหนึ่งที่ไปวางระเบิดเพลิงในโรงหนังเพื่อสร้างความปั่นป่วนวิ่งหนีหลังวางระเบิดแต่ทิ้งสมุดจดงานที่มีชื่อไว้ ทหารญี่ปุ่นตามไปจับถึงบ้านพร้อมกับเพื่อนทุกคนในชั้นเรียน เมื่อค้นบ้านก็พบรายชื่อสมาชิกจำนวนมากจึงกวาดล้างจับไปหมด

เรื่องความโหดร้ายทารุณของญี่ปุ่นนั้นทำให้ผมนึกถึงคำพูดของนักประพันธ์ชาวอังกฤษ คนหนึ่ง (L.P. Hartley, 1895-1972) ที่ว่า “The past is a foreign country : They do things differently there.” (อดีตคืออีกประเทศหนึ่ง ที่นั่นเขาทำอะไรที่แตกต่างออกไป) คนปัจจุบันยากที่จะเข้าใจคนในอดีตได้เพราะเขามีสิ่งแวดล้อม วิธีคิด ประสบการณ์ และค่านิยมที่แตกต่างจากคนปัจจุบันแม้แต่สังคมเราเองก็เถอะ

ขบวนเสรีจีน” ทำให้นึกถึงงานของ “ขบวนการเสรีไทย” ของสังคมเราในช่วงเวลาหลังจากนั้นประมาณ 4 ปี ที่มีแนวคิดอย่างเดียวกัน และหลายคนได้สละชีวิตเพื่อชาติ (คุณจำกัดพลางกูร/คุณการะเวก ศรีวิจารณ์/คุณสมพงศ์ ศัลยพงษ์/คนไทยในต่างจังหวัดอีกหลายคนฯลฯ)

หนังสือเล่มนี้ทำให้นึกถึงแนวคิด “ความรักชาติ” ว่าโดยแท้จริงแล้วก็คือ การรักความอยู่รอดของตนเองและครอบครัว ของพรรคพวก ของเผ่าพันธุ์ตนเอง  

เพราะความจริงของชีวิตมนุษย์นั้นมีแต่การแก่งแย่ง แย่งชิงทรัพยากร และเห็นแก่ตัว ถ้าประเทศจะอยู่รอดแล้วต้องมี “ความรักชาติ” เช่นนี้ในชาติ ซึ่งทุกประเทศในโลกต่างสนับสนุนเพื่อผลประโยชน์ของชาติกันมาตลอดประวัติศาสตร์

ความรักชาติ” หมายถึง (1) การรักอธิปไตยและเอกราชของชาติ (2) การรักคนร่วมชาติ (3) การรักหวงแหนและยอมเสียสละเพื่อรักษาแผ่นดิน ทรัพยากร ศิลปวัฒนธรรม ทรัพย์สมบัติและภูมิปัญญาของชาติที่บรรพบุรุษได้ทิ้งไว้ให้ และ (4) ความมุ่งมั่นสืบทอดให้เป็นชาติที่มีความมั่นคงต่อไปในภายภาคหน้า

ทั้ง “ขบวนเสรีจีน” และ “ขบวนการเสรีไทย” ได้ปฏิบัติตามความหมายของการรักชาติข้างต้น หนังสือเล่มนี้ทำให้ผู้อ่านเข้าใจความหมายของ “ความรักชาติ” ดียิ่งขึ้น และเกิดความรู้สึกรับผิดชอบที่ทุกคนจำต้องมีเพื่อความอยู่รอดของตนเองและครอบครัว   

เรามั่นใจได้แน่ว่าในอีกร้อย ๆ ปีข้างหน้า เหตุการณ์ทำนองนี้ต้องเกิดขึ้นอย่างแน่นอนกับชาติของเรา ถ้าเราจะอยู่รอดอย่างดีเราก็จะต้องมีคนที่รักชาติ และยอมเสียสละ

ถ้าเราไม่ปลูกฝัง “ความรักชาติ” แต่เนิ่น ๆ แล้วต่อไปจะเป็นปัญหาอย่างแน่นอน เหตุการณ์ยูเครนในปัจจุบันเป็นหลักฐานที่ดีที่สุดว่าการต้องต่อสู้เพื่อรักษาชาติของตนเองนั้นอยู่ใกล้ตัวมาก ๆ