สสจ.ชัยภูมิ ตรวจร้านหมูกระทะพบปลาหมึกกรอบ-สไบนางมีสารฟอร์มาลีนปนเปื้อน

สสจ.ชัยภูมิ ลุยตรวจร้านหมูกระทะทั่วจังหวัด เจอสารฟอร์มาลีนปนเปื้อนในปลาหมึกกรอบ-สไบนาง ย้ำเป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหาร มีโทษจำคุก 2 ปี ปรับ 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

วันที่ 8 ธันวาคม 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นพ.วชิระ บถพิบูลย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอ นำอุปกรณ์ออกเก็บตัวอย่าง "อาหารสด" จากร้านปิ้งย่างทั่วจังหวัดที่มีโอกาสใส่ "ฟอร์มาลีน" โดยมีการสุ่มตรวจอาหารที่ขายในร้านปิ้งย่างจำนวน 10 ตัวอย่าง พบว่าในปลาหมึกกรอบและสไบนางมีสารฟอร์มัลดีไฮด์ หรือ ฟอร์มาลีน ปนเปื้อน ซึ่งต้องส่งตรวจห้องปฏิบัติการที่ศูนย์วิทย์ฯยืนยันอีกครั้ง แต่ยังไม่พบสารฟอร์มัลดีไฮด์ในเนื้อหมู

 

 

นพ.วชิระ บถพิบูลย์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ กล่าวถึงกรณีโรงงานผลิตแปรรูปเนื้อและเครื่องในสัตว์ที่ จ.ชลบุรี ใช้สารฟอร์มัลดีไฮด์แช่เครื่องในและส่งขายตามร้านหมูกระทะและร้านอาหารว่า สารสารฟอร์มัลดีไฮด์ใช้ในทางอุตสาหกรรมและการแพทย์เท่านั้น ห้ามใส่อาหารเพื่อรักษาสภาพอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 151 พ.ศ. 2536 แห่ง พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ. 2522 กำหนดให้สารละลายฟอร์มัลดีไฮด์ หรือ ฟอร์มาลีน เป็นวัตถุห้ามใช้ในอาหารหากตรวจพบถือว่าผลิตจำหน่ายอาหารไม่บริสุทธิ์ต้องถูกดำเนินตามกฎหมาย มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในการเลือกวัตถุดิบ

 

นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดชัยภูมิ กล่าวต่ออีกว่า ตั้งแต่วันที่ 5-7 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ชัยภูมิ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ สสจ.ลงพื้นที่ นำโดยทีมหน่วยตรวจสอบเคลื่อนที่เพื่อความปลอดภัยด้านสุ่มตรวจสารปนเปื้อนในอาหารที่ร้านหมูกระทะทั่วจังหวัดชัยภูมิเป็นการด่วน และพบว่าผลตรวจอาหารจากร้านปิ้งย่างเป็นบวกในปลาหมึกกรอบและสไบนาง ซึ่งจะต้องส่งผลตรวจห้องปฏิบัติการฯเพื่อยืนยันอีกครั้ง แต่ยังไม่พบสารฟอร์มาลีนในเนื้อหมูดังกล่าว

 

สสจ.ชัยภูมิ ตรวจร้านหมูกระทะพบปลาหมึกกรอบ-สไบนางมีสารฟอร์มาลีนปนเปื้อน

 

 

นอกจากนี้ สสจ.ชัยภูมิ ยังสั่งการสำนักงานสาธารณสุขอำเภอทุกอำเภอเร่งออกเก็บตัวอย่างอาหารสดที่มีโอกาสใส่สารฟอร์มาลีน อำเภอละ 10 ตัวอย่าง ส่งตรวจสอบเพื่อความปลอดภัยของประชาชน

 

"หากกินอาหารที่ปนเปื้อนฟอร์มาลีนที่จะเกิดพิษต่อระบบทางเดินอาหาร ปากและคอแห้ง คลื่นไส้อาเจียน ท้องเสีย ปวดท้องรุนแรง กระเพาะอาหารอักเสบเป็นแผล ปวดศีรษะรุนแรง หัวใจเต้นเร็ว แน่นหน้าอก หากสูดดมจะมีฤทธิ์ทำลายระบบทางเดินหายใจ หลอดลมบวม แสบจมูก เจ็บคอ ไอ หายใจไม่ออก ปอดอักเสบ น้ำท่วมปอด ถึงขั้นเสียชีวิต

 

และหากสัมผัสโดยตรงจะทำให้ผิวหนังระคายเคือง เกิดผื่นคัน ผื่นแดงเหมือนลมพิษ ผิวหนังไหม้ หากสัมผัสดวงตาจะระคายเคืองมากทำให้เป็นแผลได้ โดยเฉพาะพ่อค้าแม่ค้าที่จำหน่ายอาหารแช่ฟอร์มาลีนมีโอกาสสูดดมไอระเหยฟอร์มาลีนจากน้ำแช่ตลอดเวลา"

 

ประชาชนที่นิยมกินอาหารนอกบ้าน ก่อนกินเนื้อหมู เนื้อวัว หรืออาหารทะเลทุกครั้ง ควรสังเกตว่าลักษณะเนื้อนั้นสดผิดปกติหรือไม่ ถ้ามีกลิ่นฉุนแปลก ๆ แสบจมูก ก็ไม่ควรบริโภค แต่หากไม่มั่นใจในร้านอาหารที่ไม่ได้มาตรฐาน ควรเลือกปรุงประกอบอาหารเอง โดยเลือกซื้อวัตถุดิบประกอบอาหารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ เช่น ตลาดสดน่าซื้อของกรมอนามัย และให้เลือกกินอาหารที่ปรุงสุกใหม่ ๆ หลีกเลี่ยงการกินดิบ หรือสุก ๆ ดิบ ๆ 

 

สสจ.ชัยภูมิ ตรวจร้านหมูกระทะพบปลาหมึกกรอบ-สไบนางมีสารฟอร์มาลีนปนเปื้อน

 

ข่าวโดย วิรัตน์ ดวงแก้ว จ.ชัยภูมิ