สังคมอุดมคติต้องมีทั้งเสมอภาคและเสรีภาพ | วิทยากร เชียงกูล

สังคมอุดมคติต้องมีทั้งเสมอภาคและเสรีภาพ | วิทยากร เชียงกูล

นักคิดแนวทุนนิยมอ้างว่าสังคมที่ดีคือ ระบบตลาดเสรีที่เอกชนทุกคนมีโอกาสรวย/มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี แต่ในโลกที่เป็นจริง มีคนรวยส่วนน้อยเท่านั้นที่รวยขึ้น แต่ไม่ได้แปลว่ามีความสุขเพิ่มขึ้นด้วยเสมอ

ทั้งคนรวยและคนจนต่างมีชีวิตที่ทำงานหนัก เคร่งเครียด อยากได้เงิน อยากบริโภคเพิ่มขึ้น มีปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูงและปัญหาสาธารณสุข สิ่งแวดล้อม ปัญหาสังคม อื่นๆ มากขึ้น

ระบบทุนนิยมที่ยึดหลักการว่ากรรมสิทธิ์ในปัจจัยการผลิตเป็นของเอกชนและผลิต กระจายสินค้าเพื่อกำไรสูงสุดของเอกชน เป็นระบบที่กดขี่ขูดรีดทั้งคนและระบบธรรมชาติ สร้างความขัดแย้ง ความไม่เป็นธรรม จึงเกิดคติสังคมนิยมมาคัดค้าน

คติสังคมนิยมที่เน้นกรรมสิทธิ์ส่วนรวมและการแบ่งปันที่เสมอภาค เป็นธรรม ก็ยังไปไม่ถึงเป้าหมายเหมือนกัน มีบางประเทศเช่นโซเวียตรุสเซีย จีน ทดลองทำ แต่พวกเขาก็มีปัญหาทั้งทางวัฒนธรรมการเมืองแบบอำนาจนิยม ฯลฯ

และโครงสร้างทางการเมืองแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่รัฐบาลกลางมากไป สังคมนิยมที่แท้จริงจึงไม่เคยเกิดขึ้น

ประเทศบางแห่ง เช่น ในยุโรปเหนือเลือกใช้ระบบผสมเป็นสังคมนิยมประชาธิปไตยผสมกับทุนนิยม คือรัฐเข้ามาแทรกแซง ลดการผูกขาด เก็บภาษีคนรวย จัดระบบประกันสังคมและรัฐสวัสดิการให้คนส่วนใหญ่ พวกเขาทำได้ดีในเชิงเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ เช่น ดัชนีคุณภาพชีวิตอยู่ระดับต้นๆ ของโลก

สังคมในอุดมคติควรจะเป็นสังคมนิยมแบบอนาคิสต์ สังคมนิยมชนิดที่กระจายทรัพยากร อำนาจให้ชุมชนหน่วยย่อยๆ จัดการตนเอง ไม่ต้องพึ่งรัฐบาลกลางแบบรวมศูนย์

 

เพราะการคงมีรัฐบาลกลางแบบมีเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นใช้อำนาจลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้นๆ ทำให้พวกเจ้าหน้าที่รัฐเหล่านั้นใช้อำนาจและเป็นกลุ่มคนที่มีสิทธิเสรีภาพมากกว่าประชาชนทั่วไป

เช่น กรณีของสหภาพโซเวียตรุสเซีย การที่พรรคบอลเชวิคคือผู้ควบคุมรัฐบาลกลางที่มีอำนาจรวมศูนย์มาก ไม่กระจายอำนาจการบริหารไปสู่ภาคประชาชน เช่น สภาคนงาน สหกรณ์ ฯลฯ ทำให้ไม่สามารถสร้างสังคมนิยมแบบประชาธิปไตยที่ประชาชนมีสิทธิเสมอภาคควบคู่ไปกับสิทธิเสรีภาพในทางเศรษฐกิจ การเมืองอย่างแท้จริงได้

สังคมนิยมอนาคิสต์เสนอ การจัดระบบเศรษฐกิจการเมืองใหม่ แบบกระจายอำนาจให้ประชาชนกลุ่มต่างๆ ปกครอง บริหารจัดการตนเองในแนวราบในรูปแบบสหกรณ์ คณะกรรมการคนงาน ประชาคม (Commune) ฯลฯ

สังคมอุดมคติต้องมีทั้งเสมอภาคและเสรีภาพ | วิทยากร เชียงกูล

อย่างเป็นประชาธิปไตย ประชาชนในแต่ละหน่วยเลือกคณะกรรมการบริหารงานกันเอง (คณะกรรมการมีวาระ มีรายได้พอๆ กับแรงงานทั่วไป ไม่ได้มีอำนาจมากและอาจถูกประชาชนลงมติถอดถอนได้ ถ้าทำงานมีปัญหา)

องค์กรเหล่านี้จะทำงานเชื่อมโยงกับองค์กรในพื้นที่อื่นๆ เช่น แลกเปลี่ยนค้าขายกันหรือร่วมมือกันป้องกันภัยและพัฒนาเรื่องใหญ่ๆ ระดับจังหวัดหรือประเทศในรูปเครือข่ายสหพันธ์ที่องค์กรต่างๆ มาตกลงกติการ่วมกัน

โดยที่สังคมไม่จำเป็นต้องมีรัฐบาลกลาง ที่เป็นกลไกของรัฐในการใช้อำนาจ (แบบลดหลั่นกันลงมาเป็นชั้น) และไม่จำเป็นที่จะต้องมีรัฐใช้ความรุนแรงในการควบคุมแทรกแซงสังคม

คณะกรรมการชุมชนผู้ควบคุมทางสังคมใช้กฎเกณฑ์ ขนบธรรมเนียมที่มีเหตุผลที่สมาชิกชุมชนยอมรับและสอนให้ประชาชนมีจิตสำนึกที่จะปฏิบัติตาม

การล่มสลายของสหภาพโซเวียตรุสเซีย เปลี่ยนไปเป็นทุนนิยม และการปรับตัวเป็นระบบตลาดเสรีและทุนนิยมโดยรัฐของจีนและประเทศที่เคยใช้ชื่อว่าสังคมนิยมอื่นๆ นั้น เป็นปัญหาเฉพาะท้องถิ่น

ที่แต่ละแห่งฝ่ายบริหารต่างยังมีข้อบกพร่องของตนเองที่ยังห่างไกลจากสังคมนิยมที่แท้จริง ที่ต้องเน้นทั้งเสมอภาคและเสรีภาพควบคู่กัน

ดังนั้น พวกสังคมนิยมอนาคิสต์และพวกสังคมนิยมแนวอิสระเสรี (Libertarian Socialist) จึงมองว่าสังคมนิยมของแท้ยังไม่แพ้ ที่แพ้คือคนบางกลุ่ม บางประเทศ ที่พยายามสร้าง “สังคมนิยม” (หรือทุนนิยมโดยรัฐ) แบบลองถูกลองผิด และยังไปไม่ถึงเป้าหมายเท่านั้น

สังคมอุดมคติต้องมีทั้งเสมอภาคและเสรีภาพ | วิทยากร เชียงกูล

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมไม่ได้ชนะอย่างเด็ดขาด เพราะระบบทุนนิยมโลกยังคงสร้างปัญหาให้ประชาชนส่วนใหญ่ นายทุน ชนชั้นกลางส่วนน้อยยิ่งรวยขึ้น คนส่วนใหญ่ที่จนกว่าอยู่แล้วยิ่งจนลง คนงานในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมอาจมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นบ้างโดยเปรียบเทียบ

เพราะนายทุนขูดรีดจากประเทศอื่น และขูดรีดจากธรรมชาติมาช่วยให้คนงานส่วนหนึ่งที่มีทักษะสูง/อำนาจต่อรองสูงมีรายได้สูงขึ้น และพอใจหรือยอมรับสภาพได้ แต่ทุกประเทศรวมทั้งประเทศร่ำรวยเองยังมีปัญหาความเหลื่อมล้ำ ความแปลกแยก และปัญหาทางสังคม เช่น อาชญากรรม ความรุนแรง ปัญหาสาธารณสุข ฯลฯ

ปัญหาวิกฤตทรัพยากรสิ่งแวดล้อมของทั้งโลกถูกทำลายมาก เกิดมลภาวะที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ โลกร้อน ภูมิอากาศแปรปรวน ฯลฯ ก็เกิดมาจากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม (รวมทั้งทุนนิยมโดยรัฐ) เ

พราะทุกประเทศต่างมุ่งผลิตและขาย (บริโภค) ให้ได้มากที่สุด เพื่อกำไรสูงสุดของนายทุนเอกชน ประเทศทุนนิยมโดยรัฐ เช่น อดีตสหภาพโซเวียตรุสเซีย จีนก็มุ่งเป้าการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างปัญหาสิ่งแวดล้อมเช่นเดียวกัน

โลกของเราจึงมีวิกฤตใหญ่ 2 เรื่อง คือ

1. วิกฤตของโครงสร้างระบบเศรษฐกิจอุตสาหกรรมที่กดขี่ขูดรีด สร้างความไม่สมดุล ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง เศรษฐกิจถดถอย ชลอตัว ปัญหาเงินเฟ้อ คนตกงาน ฯลฯ

2. วิกฤตความเสื่อมโทรมของระบบนิเวศ

สังคมอุดมคติต้องมีทั้งเสมอภาคและเสรีภาพ | วิทยากร เชียงกูล

ทางที่จะแก้ไขวิกฤตใหญ่ 2 เรื่องนี้ได้จริงคือ จะต้องเปลี่ยนแปลงทั้งระบบโครงสร้างของสังคม จากระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมไปเป็นระบบสังคมนิยมอนาคิสม์แนวอนุรักษ์ระบบนิเวศ (Eco-Anarchism) หรือสังคมนิยมแบบประชาชนจัดการตนเองที่ยึดแนวทางเศรษฐศาสตร์เพื่อระบบนิเวศเป็นหลัก

ตัวระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอุตสาหกรรมเองนั้น ถูกออกแบบมาให้ทำงานเพื่อเอื้ออำนวยประโยชน์ทางเศรษฐกิจนายทุนที่เป็นคนส่วนน้อยอยู่เสมอ

เมื่อน้ำแข็งขั้วโลกละลายมากขึ้นจนถึงขั้นน้ำท่วมเมืองชายฝั่งภูมิอากาศแปรปรวน เกิดภัยธรรมชาติมากขึ้น อาหารไม่พอกิน ฯลฯ

คนทุกคนรวมทั้งคนรวยและหรือลูกหลานของพวกเขาจะเผชิญปัญหาเช่นเดียวกัน เราไม่อาจแก้ไขปัญหาวิกฤต 2 เรื่องใหญ่นี้ภายใต้กรอบโครงสร้างของระบบทุนนิยมได้ (สิ่งที่ทำอยู่เป็นแค่ปะผุปฏิสังขรณ์หรือทำแบบแฟชั่นฉาบฉวยสร้างภาพ)

แนวทางปฏิวัติสังคมทางเลือกอื่นที่ไม่ใช่ทุนนิยมเท่านั้น ที่จะแก้ปัญหาวิกฤตใหญ่ของโลก และเอื้ออำนวยประโยชน์ต่อคนทั้งหมดและลูกหลานของเราด้วยได้อย่างแท้จริง.