การสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสกับการลดความเหลื่อมล้ำ | นรชิต จิรสัทธรรม

การสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสกับการลดความเหลื่อมล้ำ | นรชิต จิรสัทธรรม

บ่อยครั้งที้ผู้เขียนตั้งโจทย์ข้อสอบถามนักศึกษาว่า นักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่ว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สิน สูงมากประเทศหนึ่งในโลก

 ผู้เขียนไม่แปลกใจที่นักศึกษาทุกคนล้วนให้คำตอบตรงกันว่าเห็นด้วย  และคำถามที่ผู้เขียนมักจะถามถามต่อไปคือนักศึกษาเห็นด้วยหรือไม่กับการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วยการสร้างความเท่าเทียมทางโอกาส  ผู้เขียนไม่แปลกใจอีกเช่นกันที่นักศึกษาเกือบทั้งหมดตอบว่าเห็นด้วยอีกครั้ง  

อย่างไรก็ตามคำตอบว่าเห็นด้วยในครั้งหลังนี้ของนักศึกษา ทำให้ผู้เขียนต้องมาครุ่นคิดต่อว่าพวกเขาเข้าใจเรื่องของความเหลื่อมล้ำมากน้อยแค่ไหน และเข้าใจว่าอย่างไร

ความเหลื่อมล้ำนั้นมีหลายประเภท  แต่ที่มักพูดถึงกันโดยทั่วไปก็คือความเหลื่อมล้ำทางรายและทรัพย์สิน  ซึ่งความเหลื่อมล้ำประเภทนี้เป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมาคู่กับสังคมมนุษย์มาเนิ่นนานทั้งในยุคก่อนทุนนิยมและในยุคทุนนิยม 

 ไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใด เราย่อมสังเกตเห็นได้ว่าในสังคมจะมีผู้ทีมีทรัพย์สินมากมายเหลือคณนานับ มีผู้ที่มีทรัพย์สินปานกลางพอเลี้ยงตัวเลี้ยงครอบครัว และผู้ที่ยากจนข้นแค้นแทบหาทรัพย์สินในครอบครองมิได้  

อย่างไรก็ตามความแตกต่างอย่างสำคัญของความเหลี่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินในยุคก่อนทุนนิยมและในยุคทุนนิยมอยู่ที่การอธิบายว่าที่มาของความเหลื่อมล้ำในยุคก่อนทุนนิยมนั้นมิได้มาจากความรู้ความสามารถของบุคคลหากแต่มาจากชาติกำเนิดเป็นสำคัญ  
 

กล่าวง่าย ๆ ก็คือผู้ที่เกิดมาในตระกูลกษัตริย์และผู้ปกครองย่อมมีรายได้และทรัพย์สินในครอบครองมากกว่าผู้ที่เกิดมาในตระกูลขุนนาง  ผู้ที่เกิดมาในตระกูลขุนนางก็ย่อมจะมีรายได้และทรัพย์สินมากกว่าผู้ที่เกิดในตระกูลสามัญชน  

สิ่งนี้เป็นความจริงที่เห็นประจักษ์ชัดและแทบไม่เคยถูกตั้งคำถามในในบริบทนั้น  แต่เมื่อยุโรปก้าวออกจากยุคกลางเข้าสู่ยุคแสงสว่างทางปัญญาและสู่ยุคสมัยใหม่

 ระบบเศรษฐกิจแบบเสรีนิยมที่ถือกำเนิดขึ้นให้คำอธิบายสำคัญว่าไม่สำคัญว่าบุคคลนั้นจะเกิดมาในสถานะใดและครอบครัวแบบใด  หากบุคคลนั้นมีความสามารถและมีความขยันหมั่นเพียรคนผู้นั้นก็สามารถที่จะแสวงหาความมั่งคั่งร่ำรวยได้ คำอธิบายดังกล่าวสรุปเป็นคำสั้น ๆ ที่เราคุ้นเคยกันได้ว่า อเมริกันดรีม(American Dream)

การสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสกับการลดความเหลื่อมล้ำ | นรชิต จิรสัทธรรม

    ด้วยเหตุดังกล่าวความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สิน จึงมิได้มีสาเหตุหรือที่มาจากระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมและเอาเข้าจริงแล้วแต่ไหนแต่ไรมามนุษยชาติก็มิได้เคยรังเกียจความเหลื่อมล้ำ   หากความเหลื่อมล้ำนั้นมีที่มาอย่างชอบธรรม ตรงกันข้ามสังคมกลับจะชื่นชมความเหลื่อมล้ำเสียด้วยซ้ำหากผู้ที่มีทรัพย์สินมากได้ใช้ทรัพย์สินของตนไปในทางที่เกิดประโยชน์ต่อสังคม  

ดังจะเห็นได้ว่าไม่มีวรรณกรรมของชาติใดภาษาใดที่ตั้งข้อรังเกียจกษัตริย์ ขุนนางหรือผู้ที่ครอบครองทรัพย์สินจำนวนมากมายมหาศาล  หากคนเหล่านั้นตั้งตนอยู่ในทำนองคลองธรรม และมิได้เบียดเบียนเอาทรัพย์สินมาจากผู้ใดอย่างไม่ชอบธรรม

    เช่นนั้นแล้วความห่วงกังวลและความไม่พอใจในเรื่องความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นได้อย่างไร  ผู้เขียนคิดว่าคำตอบอยู่ที่การที่ผู้คนในสังคมเริ่มตระหนักว่าตนเองกำลังถูกเอารัดเอาเปรียบจากผู้ที่มีอำนาจ ไม่ว่าจะเป็นอำนาจที่มีฐานมาจากการเมืองหรืออำนาจที่มีฐานมาจากทรัพย์สิน  

นอกจากความรู้สึกว่าตนเองถูกเอารัดเอาเปรียบคนจำนวนมากยังเห็นว่าสังคมของเรากำลังย้อนหลังกลับไปสู่ยุคก่อนทุนนิยม ที่ความมั่งคั่งร่ำรวยมิได้มีฐานมาจากความรู้ความสามารถ และความขยันหมั่นเพียรของบุคคล  หากแต่อยู่ที่ว่าคนคนนั้นเกิดมาในตระกูลร่ำรวยหรือยากจน  

การสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสกับการลดความเหลื่อมล้ำ | นรชิต จิรสัทธรรม

กล่าวคือคนที่มีความรู้ความสามารถและความขยันหมั่นเพียร หากโชคร้ายไปเกิดในครอบครัวที่ยากจนก็ยากยิ่งที่จะเติบโตก้าวหน้าร่ำรวยหรือแม้กระทั่งลืมตาอ้าปากก็ยังลำบาก  

ในโลกยุคข้อมูลข่าวสาร  ความอึดอัดคับข้องใจดังกล่าวโหมกระพือได้ง่ายดายทั้งจากกระแสเชี่ยวกรากทางโซเชียลเน็ตเวิร์คที่ส่งต่อกันได้ง่ายดายและทั้งจากความจริงที่เห็นต่อหน้าอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน  

ความจริงที่ธุรกิจขนาดใหญ่มหึมาจำนวนน้อยน้อยแผ่ขยายกิจการออกไปกว้างไกลเกินจินตนาการ  ความจริงที่ว่ามีเด็กนักเรียนหลุดออกจากระบบการศึกษานับหมื่นนับแสนเพียงเพราะไม่มีอุปกรณ์การเรียนออนไลน์และต้องช่วยพ่อแม่ผู้ปกครองทำมาหากิน  

ความจริงที่ผู้กู้ยืมเงินทุนเพื่อการศึกษา ถูกบีบบังคับให้ต้องเข้าร่วมกิจกรรมที่ไม่สมเหตุสมผลและไม่อาจปฏิเสธหากต้องการกู้ยืม

    ความจริงดังกล่าวล้วนเป็นสิ่งที่ไม่อาจปฏิเสธ  แต่ในขณะเดียวกันความจริงนั้นก็ได้สร้างความรู้สึกอึดอัดคับข้องใจให้กับผู้คน จนไปบดบังแลพร่าเลือนข้อเท็จจริงเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ 

การสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสกับการลดความเหลื่อมล้ำ | นรชิต จิรสัทธรรม

 ข้อเท็จจริงที่ว่า ความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับสังคมมนุษย์มาเนิ่นนานและสังคมมนุษย์มิได้เคยรังเกียจความเหลื่อมล้ำ  และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในปรัชญาแบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ ที่เห็นว่าความเหลื่อมล้ำถือเป็นเครื่องมือสำคัญประการหนึ่งที่จะนำไปสู่ความก้าวหน้าของสังคม  

เพราะผู้ที่ต้องการก้าวขึ้นไปยืนอยู่บนจุดสูงสุด ไม่ว่าจะในทางใดก็จะต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถและความขยันหมั่นเพียร  ซึ่งผลของความสามารถและความขยันหมั่นเพียรนั้นเองที่จะช่วยขับเคลื่อนให้สังคมเจริญก้าวหน้าไปไม่อย่างไม่จบสิ้น

เช่นนั้นแล้วความเท่าเทียมทางโอกาสที่จะเป็นคำตอบของการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สินได้หรือไม่  ผู้เขียนคิดว่ามาจนถึงตรงนี้ผู้เขียนคงสามารถตอบได้อย่างเต็มปากเต็มคำว่าไม่ได้ 

 เพราะเป็นธรรมชาติของผู้คนที่จะมีความแตกต่างหลากหลาย  มีคนตัวสูงมีคนตัวเตี้ย มีคนผิวขาวมีคนผิวดำ  มีคนแข็งแรงมีคนอ่อนแอ  มีคนเก่งเลขมีคนเก่งภาษาและมีคนที่ไม่เก่งทั้งเลขและภาษา  มีคนวาดรูปเก่งร้องเพลงเพราะและมีคนที่วาดรูปก็ไม่เอาไหนร้องเพลงก็ไม่เพราะ  

เมื่อเป็นเช่นนี้แล้วต่อให้ทุกคนมีโอกาสได้เรียนร้องเพลงและเล่นเปียโนเหมือนกันย่อมแน่นอนว่าไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักร้องนักเปียโนได้เหมือนกัน  ต่อให้ทุกคนได้เรียนกับครูวิทยาศาสตร์ที่เก่งที่ และด้วยเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ที่ดีที่สุดเหมือนกัน ก็ไม่ใช่ทุกคนจะเป็นนักวิทยาศาสตร์อัจฉริยะได้เหมือนกัน  

เช่นนี้แล้วความเท่าเทียมทางโอกาสจะสร้างความเท่าเทียมทางรายได้และทรัพย์สินได้อย่างไร  อย่างมากความเท่าเทียมทางโอกาสก็เพียงแต่จะนำสังคมไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่ “ยอมรับได้” ตามแนวคิดแบบเสรีนิยมเท่านั้นเอง  

ดังนั้นแล้ว หากเรายอมรับว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้และทรัพย์สิน เป็นสิ่งที่มิอาจขจัดให้หมดไปและไม่ควรขจัดให้หมดไปโดยสิ้นเชิง ด้วยเหตุผลทางด้านแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองและสังคม  

หากแต่ต้องควบคุมให้ความเหลื่อมล้ำนั้นมีที่มาอย่างชอบธรรมและควบคุมมิให้ความเหลื่อมล้ำนั้นอยู่ในระดับที่สูงมากอย่างที่เป็นอยู่  ผู้เขียนก็คิดว่าการสร้างความเท่าเทียมทางโอกาสนั้นเป็นคำตอบที่จำเป็นหากแต่ไม่ใช่คำตอบที่เพียงพอ 

หรือจริงๆ แล้วสังคมยังต้องการมุมมองที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมในเชิง “ผลลัพธ์” ด้วย แต่แน่นอนว่าระดับและรูปแบบของทรัพยากรที่แต่ละคนควรได้ และผลลัพธ์ของการกระจายย่อมต้องเปิดพื้นที่ให้ถกเถียงกันต่อไป. 

คอลัมน์ : มุมมองบ้านสามย่าน
ตะวัน วรรณรัตน์ คณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร
นรชิต จิรสัทธรรม คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น