ระบบสหกรณ์ ทางเลือกที่สาม | วิทยากร เชียงกูล

ระบบสหกรณ์ ทางเลือกที่สาม | วิทยากร เชียงกูล

สหกรณ์คือ “สมาคมที่เป็นอิสระของกลุ่มคนที่สมัครใจเข้ามาเป็นสมาชิก โดยการเป็นเจ้าของร่วมกันและดำเนินการบริการแบบประชาธิปไตย” ทำได้ทุกกิจการ น่าจะเป็นทางเลือกที่ 3 ที่ดีกว่าระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมและระบบสังคมนิยมแบบวางแผน

ทั้งระบบทุนนิยมอุตสาหกรรม ที่เน้นกรรมสิทธ์และการหากำไรส่วนบุคคล และระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากรัฐส่วน ที่เน้นกรรมสิทธิ์และการจัดการโดยส่วนรวม และการแบ่งปันอย่างเป็นธรรม ต่างมีปัญหาด้วยกันทั้งคู่ 

ระบบทุนนิยมอุตสาหกรรมเพิ่มการกดขี่ ความเหลื่อมล้ำ ความยากจนขาดแคลน และวิกฤตการทำลายสิ่งแวดล้อม ขณะที่ระบบสังคมนิยมแบบวางแผนจากรัฐส่วนกลางก็ล้มเหลวขาดประสิทธิภาพ และกลายเป็นระบบทุนนิยมโดยรัฐไป สหกรณ์น่าจะเป็นทางเลือกที่ 3 ที่ดีกว่าทั้ง 2 ระบบแรก

สหกรณ์คือ “สมาคมที่เป็นอิสระของกลุ่มคนที่สมัครใจเข้ามาเป็นสมาชิก โดยการเป็นเจ้าของร่วมกันและดำเนินการบริการแบบประชาธิปไตย” ทำได้ทุกกิจการ ทั้งสหกรณ์เกษตร สหกรณ์ออมทรัพย์ สหกรณ์บริการ ฯลฯ และน่าจะรวมถึง กลุ่มเหมืองฝาย กลุ่มออมทรัพย์ กลุ่มสัจจะออมทรัพย์ เครดิตยูเนียน ธนาคารข้าว ธนาคารควาย และชื่อของกลุ่มองค์กรทางเศรษฐกิจที่ประชาชนร่วมมือกันบริหารจัดการอื่นๆ ที่ไม่ได้ใช้คำว่า สหกรณ์นำหน้าด้วย

ระบบสหกรณ์ดีกว่าทุนนิยม ในแง่ที่ว่าสมาชิกเป็นทั้งเจ้าของ ผู้ผลิตและหรือผู้ซื้อสินค้า/บริการ จึงตัดการเอาเปรียบหากำไรเกินควรของนายทุนพ่อค้าคนกลาง และเป็นระบบบริหารที่เป็นประชาธิปไตยมากกว่าระบบการถือหุ้นในบริษัทภายใต้ระบบทุนนิยม 

กล่าวคือสมาชิกสหกรณ์แต่ละคนมีสิทธิ์ออกเสียงในที่ประชุมใหญ่ 1 เสียงเท่ากัน ไม่ว่าใครจะถือหุ้นมากหรือน้อย การปันผลกำไรของสหกรณ์นอกจากจ่ายตามสัดส่วนการถือหุ้นแล้วยังจ่ายตามกิจกรรมที่สมาชิกดำเนินการกับสหกรณ์ (คนที่กู้เงินตอนสิ้นปีก็จะปันผลคืนจำนวนหนึ่ง) รวมทั้งสหกรณ์หลายแห่งยังจ่ายเงินปันผลกำไรส่วนหนึ่งให้เป็นประโยชน์ต่อชุมชนด้วย (เช่น ให้ทุนการศึกษาแก่ลูกสมาชิก)

ระบบสหกรณ์ดีกว่าสังคมนิยมแบบวางแผนจากส่วนกลาง แบบอดีตสหภาพโซเวียต รัสเซียและสาธารณะรัฐประชาชนจีนในยุคก่อน ซึ่งเป็นระบบข้ารัฐการแบบรวมศูนย์และหรือรัฐวิสาหกิจที่ใหญ่โตเทอะทะ มีลักษณะบังคับใช้อำนาจจากบนลงล่าง จึงมักจะขาดประสิทธิภาพ และขาดความเป็นธรรม   

ส่วนระบบสหกรณ์เป็นองค์กรแบบกระจายอำนาจแบบสหกรณ์ย่อยๆ ขนาดกะทัดรัด ที่มีระบบบริหารแบบประชาธิปไตย มีความคล่องตัว มีประสิทธิภาพ สมาชิกตรวจสอบดูแลความโปร่งใสในการบริหารของคณะกรรมการที่มาจากการเลือกตั้ง ได้ง่ายกว่าองค์กรของรัฐหรือที่บริหารโดยรัฐ สหกรณ์แต่ละแห่งสามารถรวมมือกันทำงานระดับใหญ่ในรูปสหพันธ์ของสหกรณ์ต่างๆ ได้

สหกรณ์จะพัฒนาได้มากน้อยแค่ไหนอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า สหกรณ์จะต้องมีสมาชิกและคณะกรรมการที่เข้าใจอุดมการณ์สหกรณ์ และมีการจัดระบบบริหารที่โปร่งใสและมีประสิทธิภาพด้วย 

ระบบสหกรณ์ ทางเลือกที่สาม | วิทยากร เชียงกูล

สหกรณ์ในประเทศไทยพัฒนาในเรื่อง สหกรณ์ออมทรัพย์ มากที่สุด แต่สหกรณ์ประเภทอื่นเช่นสหกรณ์ผู้ผลิต ผู้บริโภค สหกรณ์ร้านค้า สหกรณ์บริการ ยังทำได้ในขอบเขตที่จำกัดเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศพัฒนาอุตสาหกรรมและประเทศละตินอเมริกาบางประเทศ 

ปัญหานี้น่าจะเกิดจากหลายปัจจัย เช่น การติดอยู่ในระบบราชการ คนไทยยังมีความรู้ ความเข้าใจ มีจิตสำนึก วินัยเพื่อส่วนรวมน้อย  รัฐบาลส่งเสริมเอื้อประโยชน์ระบบทุนนิยมมากไป ฯลฯ

สหกรณ์ในต่างประเทศที่เขาเติบโตได้เพราะภาคประชาชนเข้มแข็งและสหกรณ์เป็นอิสระจากรัฐบาล โดยที่รัฐบาลอาจให้ความช่วยเหลือในด้านการออกกฎหมาย การส่งเสริมช่วยเหลือให้สหกรณ์มีต้นทุนต่ำพอที่จะแข่งขันกับพ่อค้านายทุนได้ ช่วยเหลือด้านการให้การศึกษาเรื่องสหกรณ์และการบริหารจัดการ และมีกองทุนหมุนเวียนให้สหกรณ์ตั้งใหม่กู้ยืมไปดำเนินการโดยคิดดอกเบี้ยต่ำ หน่วยงานรัฐช่วยซื้อสินค้าบริการจากสหกรณ์ 

สมาชิกและผู้บริหารสหกรณ์ของไทยบางส่วนยังติดอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายและการหวังพึ่งแต่รัฐบาล ทำให้ชาวสหกรณ์ไทยไม่เรียนรู้ที่จะเติบโตด้วยลำแข้งของตัวเองเหมือนชาวสหกรณ์ในประเทศพัฒนาอุตสาหกรรม และในละตินอเมริกาที่พยายามเป็นเอกเทศจากรัฐ และแข่งขันกับธุรกิจเอกชนได้

ระบบสหกรณ์ ทางเลือกที่สาม | วิทยากร เชียงกูล

สหกรณ์ที่ประสบความสำเร็จในประเทศไทย มักจะเป็นสหกรณ์ออมทรัพย์และสหกรณ์การเกษตรบางแห่ง ซึ่งกิจกรรมราวครึ่งหนึ่งของสหกรณ์การเกษตรของไทยก็เป็นธุรกิจออมทรัพย์และให้เงินกู้ เพราะเป็นรูปแบบที่เข้าใจง่ายและบริหารได้ง่ายกว่าสหกรณ์ประเภทอื่น 

สมาชิกสหกรณ์ออมทรัพย์ได้ประโยชน์สูงกว่าการไปกู้เงิน หรือฝากเงินที่ธนาคารพาณิชย์ เพราะระบบสหกรณ์เท่ากับเป็นการตัดคนกลางออกไป สหกรณ์มีกำไรก็ปันผลให้แก่สมาชิก 

ในรอบปี 2563 สหกรณ์ออมทรัพย์ของไทยที่มีผลกำไรสูงสุด 10 อันดับแรก มีกำไรอยู่ระหว่างแห่งละ 1,000-3,040 ล้านบาท ส่วนใหญ่คือสหกรณ์ออมทรัพย์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ บุคคลากรมหาวิทยาลัย และสหกรณ์ครูจังหวัดต่างๆ

การที่สหกรณ์ออมทรัพย์บางแห่งซึ่งเป็นส่วนน้อยมากมีผู้บริหารทุจริตฉ้อฉล มีส่วนทำให้สหกรณ์ออมทรัพย์โดยรวมเสียชื่อเสียงไปด้วย บางคนเสนอว่าถ้าสหกรณ์ออมทรัพย์เข้าไปอยู่ภายใต้การดูแลของธนาคารชาติ (ธนาคารแห่งประเทศไทย) น่าจะเหมาะกว่าขึ้นอยู่กับกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตร ข้อสำคัญคือสมาชิกต้องตื่นตัวคอยตรวจสอบการบริหารงานของคณะกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์ให้ดีด้วย ไม่ใช่ได้แต่กู้เงินและคอยรับเงินปันผลตอนปลายปีเท่านั้น

สหกรณ์ออมทรัพย์ในประเทศอื่นๆ เติบโตกว่าของไทยมาก ในยุโรป สหกรณ์การเกษตรและสหกรณ์ออมทรัพย์ได้พัฒนาเป็นธนาคารสหกรณ์ขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร RABO BANK ในเนเธอร์แลนด์ ธนาคาร CREDIT AGRICOLE ในฝรั่งเศส ธนาคาร DG ในเยอรมัน

ระบบสหกรณ์ ทางเลือกที่สาม | วิทยากร เชียงกูล

นอกจากนี้สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์ผู้บริโภค สหกรณ์คนงาน สหกรณ์ประกันภัย สหกรณ์อเนกประสงค์ก็เติบโตมากทั้งในญี่ปุ่น สวีเดน สเปน อิตาลีและประเทศอื่นๆ 

ชุมชนสหกรณ์ขนาดใหญ่ที่มีเครือข่ายสหกรณ์หลายร้อยหรือหลายพันแห่งในญี่ปุ่นและยุโรป  มีพนักงานและสมาชิกที่เป็นเจ้าของสหกรณ์เครือข่ายละ 7-8 หมื่นคน และมียอดรวมธุรกิจปีละหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

ระบบสหกรณ์เป็นองค์กรธุรกิจสมัยใหม่ ที่สามารถเข้าไปแทนที่องค์กรธุรกิจเอกชนแบบทุนนิยม และแบบรัฐวิสาหกิจได้ในหลายด้านมาก ประเทศที่พัฒนาทุนนิยมสูงมักมีทั้งสหกรณ์การผลิต สหกรณ์การบริโภค สหกรณ์ที่มีคนงานเป็นเจ้าของ สหกรณ์ผู้ให้บริการ สหกรณ์ประกันภัยและประกันชีวิต สหกรณ์การเกษตร สหกรณ์การประมง สหกรณ์ทำไวน์ สหกรณ์ให้บริการการรักษาพยาบาล การซ่อมแซมดูแลบ้าน การจัดงานศพ  รถโดยสาร รถแท็กซี่ การท่องเที่ยว เทคโนโลยีสารสนเทศ ฯลฯ แข่งขันและเติบโตควบคู่ไปกับภาคธุรกิจเอกชนได้ 

นอกจากสหกรณ์จะช่วยเหลือให้สมาชิกได้รับประโยชน์อย่างเป็นธรรมกว่าในระบบทุนนิยมแล้ว ในยุคที่เศรษฐกิจทุนนิยมโลกมีวิกฤติเศรษฐกิจตกต่ำ/ชะลอตัว ธุรกิจต้องเลิกจ้างงานคนจำนวนมาก สหกรณ์ก็สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างยืดหยุ่น และอย่างเป็นธรรมมากกว่า 

เช่น แบ่งงานกันทำ ให้คนทำงานน้อยวันลง ได้ค่าจ้างลดลง เพราะสหกรณ์ถือว่าเป็นธุรกิจของสมาชิกจำนวนมากร่วมกัน จึงใช้วิธีแบ่งปันทุกข์แบ่งปันสุขในสถานการณ์ที่จำเป็นอย่างเหมาะสมได้

สหกรณ์บางแห่งก็มีนโยบายเน้นด้านอนุรักษ์ฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตสมาชิกและชุมชน ไม่ได้เน้นกำไรสูงสุดเหมือนธุรกิจเอกชน.