โควิดสายพันธุ์เดลตาสร้างรอยแผลเป็นธุรกิจอเมริกัน

โควิดสายพันธุ์เดลตาสร้างรอยแผลเป็นธุรกิจอเมริกัน

โควิดสายพันธุ์เดลตาสร้างรอยแผลเป็นธุรกิจอเมริกัน ขณะบุ๊คกิ้ง โฮลดิงส์ อิงค์ บอกว่า ยอดการจองเพื่อเดินทางท่องเที่ยวโดยรวมลดลงเนื่องจากโควิด-19สายพันธุ์เดลตาระบาดหนักในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา

ผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตาสร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วทุกภาคธุรกิจ เพิ่มต้นทุนด้านแรงงานในธุรกิจที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงวัย สร้างความปั่นป่วนแก่กระบวนการผลิตมันฝรั่งทอดแผ่น และทำให้บริษัทบางแห่งตัดสินใจระงับการคาดการณ์ผลกำไรไว้ชั่วคราว

ประเด็นที่ยังไม่ชัดเจนในตอนนี้คือ ไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้าที่แพร่ระบาดอย่างรวดเร็วและหลบหนีภูมิคุ้มกันจากวัคซีนได้ดีตัวนี้จะฉุดให้เศรษฐกิจของทั่วโลกที่กำลังอยู่ในระยะฟื้นตัวมีปัญหา หรือจะทำให้เกิดปัญหาแก่ระบบเศรษฐกิจโลกในลักษณะที่เลวร้ายยิ่งกว่านี้หรือไม่

ช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เคลล็อกก์ โค บอกว่า การระบาดของโควิดสายพันธุ์เดลตาในมาเลเซียชะลอการผลิตมันฝรั่งแผ่นยี่ห้อพริงเกิ้ล ส่วนบริษัทท่องเที่ยวทางทางอินเทอร์เน็ตอย่างบุ๊คกิ้ง โฮลดิงส์ อิงค์ บอกว่า ยอดการจองเพื่อเดินทางท่องเที่ยวโดยรวมลดลงเนื่องจากโควิด-19สายพันธุ์เดลตาระบาดหนักในเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับบรรดาบริษัทดูแลสุขภาพสัญชาติสหรัฐหลายแห่งที่บอกว่า ธุรกิจให้บริการแพทย์ทางเลือกในบางพื้นที่มีจำนวนผู้ใช้บริการลดลง

นอกจากนี้ การระบาดของโรคโควิด-19สายพันธุ์เดลตายังทำให้ผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจจำนวนมากตัดสินใจเลื่อนให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศออกไปอีกเพื่อความปลอดภัย ถือเป็นแนวโน้มที่เป็นข่าวร้ายสำหรับพนักงานกินเงินเดือนทุกคนที่ทำงานในบริษัทต่างๆ รวมทั้งบริษัทผลิตเนื้อสำเร็จรูปรายใหญ่อย่างไทสัน ฟู้ดส์ อิงค์

“ที่ผ่านมาบริษัทเราไม่มีปัญหา แต่พอโรคโควิด-19สายพันธุ์เดลตาระบาด เราก็ได้รับผลกระทบจนทำให้รายได้บริษัทลดลง”ดอนนี คิง ประธานคณะเจ้าหน้าที่บริหาร(ซีอีโอ)ไทสัน กล่าวต่อที่ประชุมนักลงทุนเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โดยบริษัทเรียกร้องเมื่อต้นเดือนนี้ให้พนักงานทุกคนเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19

ขณะที่ Worldometer ซึ่งเป็นเว็บไซต์รายงานข้อมูลล่าสุดที่มีการรวบรวมจากหน่วยงานด้านสาธารณสุขทั่วโลก ระบุว่า สหรัฐมีผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 สะสมจำนวน 37,469,989 ราย และมีผู้เสียชีวิตสะสม 637,572 ราย ทำให้ขณะนี้สหรัฐติดอันดับ 1 ของโลกทั้งจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 และผู้เสียชีวิต และรัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 4 ล้านราย ได้แก่ แคลิฟอร์เนีย รัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 3 ล้านราย ได้แก่ เท็กซัส รัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 2 ล้านราย ได้แก่ ฟลอริดา นิวยอร์ก

รัฐที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่า 1 ล้านราย ได้แก่ อิลลินอยส์ เพนซิลเวเนีย จอร์เจีย โอไฮโอ นอร์ทแคโรไลนา นิวเจอร์ซีย์ มิชิแกน นอกจากนี้ รัฐแคลิฟอร์เนียเป็นรัฐที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุดในสหรัฐ จำนวน 64,670 ราย

เมื่อวันที่ 27 ก.ค. ดร.โรเชลล์ วาเลนสกี ผู้อำนวยการศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค (ซีดีซี) ของสหรัฐฯ ออกข้อแนะนำให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่ที่มีอัตราการติดต่อของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในระดับ “สูง” ควรสวมหน้ากากป้องกันเวลาอยู่ในที่ร่ม แม้ว่าจะฉีดวัคซีนครบแล้วก็ตาม

“ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ดิฉันได้เห็นข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ชิ้นใหม่จากการสืบสวนการระบาดในปัจจุบัน ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไวรัสสายพันธุ์เดลตา มีพฤติกรรมแตกต่างจากสายพันธุ์อื่นๆ ของเชื้อก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์อื่นๆ ที่พบก่อนหน้านี้ ซึ่งไม่ใช่ข่าวดีที่การสวมหน้ากากยังต้องเป็นส่วนหนึ่งในการใช้ชีวิตของผู้คนที่ฉีดวัคซีนครบแล้ว” ดร.วาเลนสกี กล่าว

สหรัฐอนุญาตให้ประชาชนที่ฉีดวัคซีนแล้ว ไม่ต้องสวมหน้ากากอนามัยในเกือบทุกกรณี เมื่อวันที่ 13 พ.ค. แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา ทำให้สหรัฐมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกสัปดาห์

ขณะที่ผลสำรวจความเห็นธุรกิจขนาดเล็กจำนวนกว่า 560 แห่งจัดทำโดยบริษัทวิสเทจ เวิลด์ไวด์ อิงค์ให้แก่หนังสือพิมพ์วอลล์สตรีท เจอร์นัล ระบุว่า ความเชื่อมั่นภาคธุรกิจขนาดเล็กในเดือนส.ค.ร่วงลงแตะระดับต่ำสุดนับตั้งแต่เดือนมี.ค.เป็นต้นมา โดยเจ้าของกิจการประมาณ 39% คาดการณ์ว่าบรรยากาศทางธุรกิจในสหรัฐจะดีขึ้นในปีหน้า ลดลงจาก 50% ในเดือนก.ค.และลดลงจากสองในสามในเดือนมี.ค.

การเลื่อนวันให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศเป็นอีกเรื่องที่เป็นผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในภาคธุรกิจสหรัฐ โดยบริษัทควอลิตี เคเบิ้ล อินสตอลเลอร์ แอลแอลซี ซึ่งว่าจ้างพนักงานประมาณ 25 คนในการทำหน้าที่ติดตั้งเครือข่ายและติดตั้งระบบโสตทัศนูปกรณ์ภายในสำนักงาน ตัดสินใจให้พนักงานทำงานที่บ้านต่อไปอีกอย่างน้อยสองสามเดือน

เมื่อสามเดือนก่อน บริษัทหลายแห่งเริ่มร่างแผนการที่จะให้พนักงานกลับเข้ามาทำงานในออฟฟิศอีกครั้งในเดือนก.ย. เริ่มมีการหารือเกี่ยวกับแผนที่จะขยับขยายออฟฟิศ หรือปรับปรุงออฟฟิศใหม่ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าบริษัทเหล่านี้ต้องชะลอแผนการนี้เอาไว้ก่อน ขณะที่ผลสำรวจของมหาวิทยาลัยมิชิแกน ระบุว่า ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐร่วงลงสู่ระดับ 70.2 ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2554 จากระดับ 81.2 ในเดือนก.ค. และต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ว่าจะทรงตัวที่ระดับ 81.2

ดัชนีปรับตัวลง ขณะที่ผู้บริโภคมีความวิตกเกี่ยวกับภาวะเงินเฟ้อและการจ้างงาน รวมทั้งเศรษฐกิจของสหรัฐที่จะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สายพันธุ์เดลตา

ทั้งนี้ ดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคสหรัฐเป็นการสำรวจความเชื่อมั่นของผู้บริโภค 500 รายต่อภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งได้แก่ สถานะการเงินส่วนบุคคล, ภาวะเงินเฟ้อ, การว่างงาน, อัตราดอกเบี้ย และนโยบายรัฐบาล