กลุ่มเสี่ยง - ติดโควิด 'กักตัวในบ้าน' อย่างไร ให้ปลอดภัย

กลุ่มเสี่ยง - ติดโควิด 'กักตัวในบ้าน' อย่างไร ให้ปลอดภัย

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค พบผู้สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโควิด 19 มีอัตราติดเชื้อร้อยละ 11.83 การปฏิบัติตนให้ถูกต้องเมื่อเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือ ผู้ป่วยสีเขียว ที่ต้อง 'กักตัวในบ้าน' จึงเป็นสิ่งสำคัญ เพื่อลดการแพร่กระจายเชื้อ

นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า ผลจากการดำเนินการสอบสวนเพื่อควบคุมโรคในพื้นที่หลังจากมีรายงานผู้ป่วยรายใหม่จากทั่วประเทศจนถึงขณะนี้ พบว่าผู้ที่สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วย โควิด 19 มีอัตราการติดเชื้อร้อยละ 11.83 ซึ่งยังอยู่ในอัตราที่สูง โดยเชื้อที่เป็นปัญหาหลักของไทยขณะนี้ คือสายพันธุ์เดลตาและอัลฟา ที่ติดต่อกันได้ง่าย ผู้ติดเชื้อสายพันธุ์เดลตา 1 คน สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ 5-8 คน ส่วนเชื้อสายพันธุ์อัลฟาแพร่ได้ 4-5 คน

มาตรการที่จะสกัดกั้นการแพร่ระบาดให้ยุติโดยเร็วที่สุด เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ ลดการเสียชีวิตและผลกระทบอื่นๆ คือ การป้องกันการติดเชื้อและควบคุมไม่ให้เชื้อแพร่กระจายไปมากกว่านี้ จะต้องดำเนินการร่วมกันทุกฝ่ายไปในแนวทางเดียวกันอย่างเข้มข้น จึงขอความร่วมมือประชาชนที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ติดเชื้อโควิดระหว่างที่ใช้ชีวิตประจำวัน ขอให้ กักตัวเองที่บ้าน 14 วัน เป็นช่วงที่เชื้อฟักตัวเพื่อสังเกตอาการว่าติดเชื้อหรือไม่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

  

  • แนวทางปฏิบัติ 'กลุ่มเสี่ยง' กักตัวในบ้าน

สามารถดำเนินการได้ทั้งในบ้าน ทาวน์เฮ้าส์ อาคารชุด เช่น หอพักคอนโดมิเนียม อพาร์ตเมนต์ต่างๆ ทั้งประเภทอยู่คนเดียว หรืออยู่ร่วมกับครอบครัวหรือพักร่วมกับผู้อื่น สร้างความปลอดภัย ทั้งตนเองและคนในครอบครัว มีข้อแนะนำให้ปฏิบัติดังนี้

1.ให้จัดสถานที่พัก และอุปกรณ์เครื่องใช้ให้พร้อม เน้นแยกที่พักให้เป็นสัดส่วน เช่นห้องนอน ที่นอน หากแยกไม่ได้ อาจใช้แผ่นกระดาษหรือพลาสติกกั้นห้องเพื่อแบ่งสัดส่วนชั่วคราว เปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทสะดวก แยกของใช้ส่วนตัว แยกห้องน้ำ หากแยกไม่ได้ ให้ใช้เป็นคนสุดท้ายและทำความสะอาดด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อทันที ทำความสะอาดฆ่าเชื้ออุปกรณ์ภายในบ้านด้วยน้ำผสมผงซักฟอก น้ำผสมน้ำยาฟอกขาว หรือแอลกอฮอล์ 70%

2.เน้นการดูแลอนามัยส่วนบุคคล โดยล้างมือฟอกด้วยสบู่หรือแอลกอฮอล์เจล 70 % ทุกครั้งก่อนและหลังสัมผัสสิ่งของที่ต้องใช้ร่วมกับคนอื่น ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลา ไม่คลุกคลีกับคนอื่น แยกซักเสื้อผ้าเอง และให้งดการสัมผัสหรือเล่นกับสัตว์เลี้ยงชั่วคราว

เนื่องจากเชื้อไวรัสสามารถติดไปกับขนสัตว์ได้เช่น แยกทานอาหาร หากให้ผู้อื่นจัดหาอาหารให้ ควรกำหนดจุดรับอาหารเพื่อป้องกันการสัมผัสโดยตรง กรณีใช้ชักโครก ให้ปิดฝาทุกครั้งก่อนกดชักโครก เพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อ ทิ้งขยะในถุงและมัดปากถุงให้แน่นก่อนนำไปทิ้งรวมกับขยะทั่วไป

3.เฝ้าระวังอาการป่วยตนเองระหว่างกักตัว โดยใช้ปรอทตรวจวัดไข้ทุกวัน และสังเกตอาการผิดปกติ หากพบว่ามีไข้เกิน 37.5 องศาเซลเซียส และมีอาการไอ มีน้ำมูก เจ็บคอ หายใจลำบาก หอบเหนื่อย ตาแดง จมูกไม่ได้กลิ่นหรือลิ้นไม่รับรส มีผื่นขึ้น ปวดหัว ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ ท้องเสีย อาเจียน ขอให้แจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้านหรืออาสาสมัครสาธารณสุข(อสม.) ทันที เพื่อเข้าสู่ระบบการดูแลตามขั้นตอนต่อไป หากมีข้อสงสัยสามารถขอรับคำปรึกษาได้ที่สายด่วนควบคุมโรค โทร. 1422

  • ติดโควิด รักษาตัวที่บ้าน ต้องทำอย่างไร

สำหรับผู้ป่วยยืนยันโควิด-19 ที่ต้องทำการ 'กักตัวที่บ้าน' (Home Isolation) ต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้ 

1. ต้องเป็นผู้ติดเชื้อที่มีอายุน้อยกว่า 60 ปี ที่ไม่มีการแสดงอาการ และมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงปกติ

2. อยู่ที่บ้านคนเดียว หรือมีผู้พักร่วมไม่เกิน 1 คน

3. ไม่มีภาวะอ้วนหรือน้ำหนักตัวเกิน 90 กิโลกรัม

4. ไม่มีอาการป่วยหรือโรคที่เกี่ยวกับปอดหรือหัวใจ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ 

5. นอกจากนี้ ผู้ป่วยต้องยินยอมที่จะแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด 

  • การ 'ปฏิบัติตัว' เมื่อ 'กักตัวที่บ้าน'

1. ห้ามให้ใครมาเยี่ยมเยียนที่บ้านเลยแม้แต่คนเดียวในช่วงที่กักตัว

2. ห้ามผู้ป่วยเข้าใกล้และสัมผัส ผู้สูงอายุและเด็ดอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างต่ำ 2 เมตร

3. เป็นไปได้ให้แยกของใช้ส่วนตัวของตนเองกับผู้อื่นทุกอย่าง รวมถึงห้องน้ำและที่เปลี่ยนเสื้อผ้าด้วย รวมถึงห้องที่พักอาศัยควรที่จะเปิดโล่งให้อากาศถ่ายเทด้วย 

4. ไม่ทานอาการร่วมกับคนอื่นๆ เลย ควรทานอยู่คนเดียว หากเลี่ยงไม่ได้ ผู้ป่วยต้องรักษาระยะห่างอย่างต่ำ 2 เมตร 

5. สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่ออกจากห้องนอน-ห้องพักผ่อน

6. ทำความสะอาดมือของตนเองด้วยสบู่และเจลแอลกอฮอล์สม่ำเสมอ 

7. แยกถังซักเสื้อผ้าและสิ่งที่ต้องสวมใส่ทั้งหมดจากคนอื่นในบ้าน รวมถึงเครื่องนอน และโถสุขภัณฑ์ที่บ้านด้วย(หากเลี่ยงไม่ใช้ร่วมกันไม่ได้ ให้ปิดฝาโถก่อนกดน้ำทำความสะอาด)

8. หมั่นสังเกตอาการตนเองทุกวัน และวัดอุณหภุมิสม่ำเสมอ

9. หากมีอาการเหนื่อยหอบ ไข้สูง ไม่สามารถทำสิ่งต่างๆ ได้อย่างปกติให้รีบติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรับการรักษา

10. หากต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถส่วนตัว ไม่เหมาะสมที่จะใช้รถสาธารณะ

11. ใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทางอยู่ข้างนอกบ้าน 

  • สปสช. เปิดเว็บไซต์ ลงทะเบียน ดูแลที่บ้าน ชุมชน

สำหรับ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ได้เปิดเว็บไซต์ ผู้ป่วยโควิดยังไม่ได้รักษา ลงทะเบียน 'ดูแลที่บ้าน - ชุมชน Home/Community Isolation จับคู่ คลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข หรือโรงพยาบาล เข้าสู่ระบบดูแลติดตาม

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ภายหลังจากที่ประชาชนได้รับการตรวจยืนยันติดเชื้อโควิด-19 แล้ว มาตรการสำคัญที่สุด คือการนำผู้ติดเชื้อเข้าสู่ระบบการดูแล โดยในกลุ่มผู้ติดเขื้อสีเขียวหรือกลุ่มไม่มีอาการ-อาการไม่รุนแรงนั้น สปสช.ได้มีการประสานคลินิกชุมชนอบอุ่น ศูนย์บริการสาธารณสุข โรงพยาบาล เพื่อจับคู่ ดูแลที่บ้าน (Home Isolation)

ในส่วนของกลุ่มที่สภาพที่อยู่อาศัยไม่สามารถดูแลที่บ้านได้ ก็จะเป็นการดูแลในระบบชุมชน (Community Isolation) ซึ่งดำเนินการโดยมูลนิธิสถาบันเพื่อการวิจัยและนวัตกรรมด้านเอชไอวี (IHRI) และราชวิทยาลัยแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ในการเฝ้าระวังอาการและติดตาม

อย่างไรยอมรับว่าด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่เพิ่มสูงมากอย่างต่อเนื่อง ทำให้ระบบการดูแลและประสานงานนำส่งผู้ป่วย โดยเฉพาะในพื้นที่สีแดงไม่ทันต่อสถานการณ์ เฉพาะสายด่วน สปสช. 1330 ที่ผ่านมา มีจำนวนการโทรเข้าสูงถึงกว่า 5,000 ครั้ง/วัน

แม้ว่าจะได้เพิ่มจำนวนคู่สายและจำนวนเจ้าหน้าที่ให้บริการ โดยทำงานให้บริการกันอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม ซึ่งผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่ต้องการโทรเข้ามาเพื่อเข้าระบบดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน โดยโทร 1330 กด 14 จะใช้เวลารอสายนานมาก ดังนั้น สปสช.จึงได้เพิ่มช่องทางออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ขึ้น

โดยเปิดให้ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชนแล้วแต่ยังไม่ได้รับการติดต่อกลับจากเจ้าหน้าที่ หรือผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าสู่ระบบการดูแลที่บ้านหรือที่ชุมชน สามารถกรอกข้อมูลลงทะเบียนด้วยตนเองผ่านเว็บไซต์สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามลิงค์นี้ https://crmsup.nhso.go.th

162722731134

  • การกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ 

1) กรณีในพื้นที่หรือชุมชนมีระบบการเก็บขนขยะติดเชื้อ

  • ให้เก็บรวบรวมขยะติดเชื้อเป็นประจำทุกวัน โดยใส่ถุงขยะ (ถุงแดง) 2 ชั้น โดยถุงชั้นแรกที่สัมผัสมูลฝอยติดเชื้อ มัดปากถุงด้วยเชือกให้แน่น แล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากน้ำยาฟอกขาวผสมน้ำ อัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์

  • มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้ออีกครั้ง

  • เคลื่อนย้ายไปไว้ยังจุดพักขยะที่จัดไว้เฉพาะ ประสานไปยังหน่วยงานที่ทำหน้าที่ให้บริการเก็บ ขน มูลฝอยติดเชื้อในพื้นที่ เช่น องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล เพื่อกำหนดวิธีการนำมูลฝอยติดเชื้อที่เกิดจาก Home Isolation และ Community Isolation ไปกำจัดอย่างถูกต้องต่อไป


2) กรณีในพื้นที่หรือชุมชนไม่มีระบบการเก็บขนมูลฝอยติดเชื้อ

  • ให้เก็บรวบรวมและทำลายเชื้อ โดยใส่ถุงขยะ 2 ชั้น ถุงใบแรกที่บรรจุมูลฝอยติดเชื้อแล้ว ให้ราดด้วยสารฆ่าเชื้อหรือน้ำยาฟอกขาว เช่น ไฮเตอร์ จากนั้นมัดปากถุงให้แน่นแล้วฉีดพ่นบริเวณปากถุงด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น สารโซเดียมไฮโปคลอไรท์ 5,000 ppm หรือเตรียมจากไฮเตอร์ผสมน้ำ อัตราส่วน 1 : 10 หรือแอลกอฮอล์ 70 เปอร์เซ็นต์

  • ซ้อนด้วยถุงขยะอีก 1 ชั้น มัดปากถุงชั้นนอกด้วยเชือกให้แน่น และฉีดพ่นด้วยสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงอีกครั้ง

  • มูลฝอยที่ผ่านการ ทำลายเชื้อแล้ว ให้ประสานและนำส่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ นำไปกำจัดเป็นมูลฝอยทั่วไป

ทั้งนี้ ภายหลังจัดการมูลฝอยติดเชื้อแล้ว ต้องล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำ หรือเจลแอลกอฮอล์ทันที