อัตราเข้าพัก มิ.ย.วูบแรงรอบ 15 เดือน! กลุ่มทุนไทย-เทศช้อปโรงแรมซมพิษโควิด

อัตราเข้าพัก มิ.ย.วูบแรงรอบ 15 เดือน!  กลุ่มทุนไทย-เทศช้อปโรงแรมซมพิษโควิด

เมื่อวิกฤตการณ์โควิด-19 ระลอก 3 ก่อตัวเมื่อเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา กระทั่งย่างเข้าสู่ระลอก 4 จากเชื้อกลายพันธุ์สายพันธุ์เดลต้า ทวีความรุนแรงมากขึ้นจนสร้างความหวาดกังวลต่อประชาชน กระทบต่อความเชื่อมั่นในการออกเดินทางท่องเที่ยว

แน่นอนว่าภาคธุรกิจโรงแรมย่อมเจ็บตัวไปตามๆ กัน และคาดการณ์ได้ยากเหลือเกินว่าบาดแผลจากอาการบาดเจ็บนั้นจะสิ้นสุดลงเมื่อไร

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า วิกฤติโควิด-19 ยังคงส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจโรงแรมต่อเนื่อง ทำให้อัตราเข้าพักเมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาเฉลี่ยอยู่ที่ 7.89% เท่านั้น! แม้จะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากเดือน พ.ค.ที่ผ่านมาซึ่งเฉลี่ยอยู่ที่ 4.95% แต่ก็ยังถือต่ำกว่าประมาณการณ์ “จุดวิกฤติของภาคธุรกิจโรงแรม” หรืออัตราเข้าพักเฉลี่ยต่ำสุดที่ทำให้ระดับผลกำไรของโรงแรมเป็นศูนย์ซึ่งอยู่ที่ 28%

และทำให้เดือน มิ.ย.2564 เป็นเดือนที่โรงแรมไทยมีอัตราเข้าพักต่ำที่สุดเป็นอันดับ 4 ในรอบ 15 เดือนนับตั้งแต่รัฐบาลประกาศล็อกดาวน์รอบแรกเมื่อเดือน เม.ย.2563 ซึ่งเป็นเดือนที่มีอัตราเข้าพักต่ำที่สุดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 2.23% ตามมาด้วยเดือน พ.ค.2563 มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยต่ำสุดเป็นอันดับ 2 ที่ 3.79% และเดือน พ.ค.2564 มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยต่ำสุดเป็นอันดับ 3 ที่ 4.95%

“อัตราการเข้าพักเพียง 7% เมื่อเดือน มิ.ย.ที่ผ่านมาถือว่าต่ำมาก สะท้อนว่าผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมกำลังเดือดร้อนอย่างหนักจากสถานการณ์โควิด-19”

และถ้าดูจากสภาพเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน เครื่องยนต์ที่ฟื้นตัวชัดเจนคือ “ภาคการส่งออก” ตอกย้ำภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่น่าจะเหมือนกับหลายๆ ประเทศในลักษณะ K-Shape แต่สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องทำให้ “ภาคการท่องเที่ยว” ซึ่งเป็นอีกหนึ่งเครื่องยนต์สำคัญของเศรษฐกิจไทยกลับมา แต่เนื่องจากสถานการณ์โควิด-19 และการออกมาตรการของรัฐเพื่อสกัดการแพร่ระบาด ทั้งเรื่องห้ามการเดินทาง ห้ามเคลื่อนย้ายคน และห้ามการรวมตัวกลุ่มคนจำนวนมาก ทำให้ภาคท่องเที่ยวโดนผลกระทบเข้าเต็มๆ

“เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น คนไทยได้รับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ตามเป้าหมาย ก็น่าจะทำให้ภาคท่องเที่ยวกลับมาได้ และผลักดันจำนวนนักท่องเที่ยวให้ใกล้เคียงกับเป้าหมายซึ่งปี 2564 ททท.ตั้งเป้ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ 3 ล้านคน นักท่องเที่ยวไทย 90-100 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้การท่องเที่ยวรวม 8.5 แสนล้านบาท”

ก่อนหน้านี้ มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ขณะนี้มีโรงแรมจำนวนมากไม่สามารถแบกรับภาระค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะ “ค่าจ้างพนักงาน” ต่อไปได้ โดยเฉพาะโรงแรมที่เคยได้ลูกค้านักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก! หลังตลอดกว่า 1 ปีนับตั้งแต่เผชิญวิกฤติโควิด-19 เมื่อต้นปี 2563 มีแต่รายจ่าย ไม่มีรายได้เข้ามา ทำให้หลายโรงแรมในไทยทั้งขนาดใหญ่และขนาดกลาง ประกาศขายมากกว่า 10-20% ของโรงแรมในไทย กลุ่มทุนที่สนใจซื้อมีจากหลายประเทศ อาทิ กลุ่มเศรษฐีคนไทย นักลงทุนจากฮ่องกง สิงคโปร์ และจีน

“หลังเกิดวิกฤติโควิด-19 พบว่าช่วงนี้มีคนต้องการขายโรงแรมจำนวนมาก หากขายได้ก็ดี ไม่ต้องแบกรับภาระไว้ โดยกลุ่มธุรกิจที่มีเงินทุนทั้งในไทยและต่างประเทศได้เข้าซื้อกิจการโรงแรมในไทย ถูกเปลี่ยนมือจำนวนไม่น้อย โรงแรมหลายแห่งทางผู้ซื้อก็เจรจากับเจ้าของเดิมให้รับบริหารต่อ”

ทั้งนี้ผู้ประกอบการที่น่าห่วงที่สุดคือ “กลุ่มโรงแรมขนาดกลาง” ที่แม้จะมีสายป่านพอสมควร แต่เนื่องจากรัฐบาลยังไม่สามารถควบคุมการระบาดของโควิด-19 ได้ ส่งผลให้เงินทุนที่มีอยู่กำลังจะหมดลง! จึงอยากให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้ามาช่วยเหลือเรื่องการหยุดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย เพราะที่ผ่านมามีการเจรจาเพื่อขอหยุดชำระหนี้เงินต้น แต่ดอกเบี้ยยังคงเดินอยู่ ส่งผลให้หนี้สินของธุรกิจโรงแรมมีแต่จะพอกพูนสูงขึ้น

หากรัฐบาลจะออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) มองว่าขณะนี้โรงแรมหลายแห่งเป็นหนี้เพิ่มไม่ไหวแล้ว จึงอยากให้พิจารณาช่วยเรื่องเงินกู้ระยะยาว กำหนดอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% มากกว่า ซึ่งน่าจะพอพยุงการจ้างงานต่อไปได้ถึงปี 2565

“นอกเหนือจากมาตรการช่วยเหลือทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการโรงแรมแล้ว อีกสิ่งที่ต้องการมากที่สุดในตอนนี้คือวัคซีน เพราะถ้าไม่มีวัคซีน ทุกอย่างก็เดินหน้าไม่ได้ อย่างไรก็ตามสมาคมฯก็หวังว่ารัฐบาลจะสามารถแก้ปัญหาได้ในเร็ววันนี้ โดยเผื่อใจไว้ว่าสถานการณ์น่าจะค่อยๆ ดีขึ้นในปี 2565-2566 และเตรียมใจไว้หากธุรกิจโรงแรมจำเป็นต้องลดขนาดธุรกิจลง ลดต้นทุน ลดการจ้างงานลงอีกเพื่อคุมค่าใช้จ่าย จากปัจจุบันมีการลดการจ้างงานในภาคท่องเที่ยวไปแล้วกว่า 50% แต่พอมีการเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เมื่อวันที่ 1 ก.ค.ที่ผ่านมา ก็เริ่มเห็นสัญญาณที่ดี มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มมากขึ้น”

ส่วน “กลุ่มโรงแรมขนาดเล็ก” ที่ต้องการเงินมาหมุนสภาพคล่องไม่มาก ทางรัฐบาลก็พยายามหาทางช่วยเหลืออยู่ น่าจะพอประคองตัวอยู่ได้ ประกอบกับลูกค้าส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวคนไทย งานจัดอบรม สัมมนาโดยในช่วงที่ผ่านมารัฐมีมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศ ทำให้พอมีรายได้จุนเจือธุรกิจต่อไปได้