คาดอีอีซีเน้นดิจิทัล-กรีน-เอจจิ้ง “โควิด-19” ตัวเร่งปรับโครงสร้าง

คาดอีอีซีเน้นดิจิทัล-กรีน-เอจจิ้ง   “โควิด-19” ตัวเร่งปรับโครงสร้าง

ในช่วงที่ผ่านมา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่ภาครัฐเร่งรัดผลักดัน ก็ได้มีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ

ในช่วงที่ผ่านมา ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซีที่ภาครัฐเร่งรัดผลักดัน ก็ได้มีการปรับตัวรองรับการเปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับ ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็กำลังเป็นตัวเร่งให้เกิดการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่เร็วขึ้น

ระยะแรก ต่อยอด “โครงการอิสเทิร์นซีบอร์ด” เนื่องจากประเทศไทยเผชิญแรงกดดัน 2 ด้าน หรือมีสภาพเป็น “แซนด์วิช” ด้านบนถูกบีบจากประเทศพัฒนาแล้วซึ่งสามารถพัฒนาสินค้าที่มีเทคโนโลยีสูง มีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ได้เปรียบการแข่งขัน ขณะที่ด้านล่างถูกบีบจากประเทศกำลังพัฒนาที่มีค่าแรงถูกกว่า จึงเป็นคู่แข่งสินค้าอุตสาหกรรมของไทย แต่จากการวางแผนที่ดีทำให้อีอีซีเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและเหมาะสมต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมใหม่ จึงถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของภาคอุตสาหกรรมไทย

ระยะที่สอง ปรับเปลี่ยน “ยุทธศาสตร์การพัฒนาอุตสาหกรรม” มีการสนับสนุนการลงทุนเพื่อก่อให้เกิดอุตสาหกรรมใหม่ๆ ในภูมิภาค โดยเน้นพื้นที่ภาคตะวันออก ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา เพื่อตอบโจทย์ “ไทยแลนด์ 4.0” และเป็นห่วงโซ่อุปทานโลกให้กับ 12 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ซึ่งมีทั้งการต่อยอดอุตสาหกรรมเดิม (First S-Curve) และการพัฒนาอุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) เพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้เท่าทันต่อโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

ระยะที่สาม พลิกโฉม “อุตสาหกรรมหลังโควิด-19” การเดินหน้าพัฒนาอุตสาหกรรมยังคงเป็นสิ่งสำคัญ โดยได้เดินหน้าควบคู่ไปกับโครงสร้างพื้นฐาน กฎหมายและนโยบายการลงทุน มองในเชิงบวก เราเห็นโอกาสของธุรกิจ/อุตสาหกรรมในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เป็นตัวเร่งให้เกิดการต่อยอดการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านดิจิทัล (Digital), กรีน (Green Business) และเอจจิ้ง/เมดิคัล (Aging/Medical)

ดิจิทัล ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ธุรกิจต่าง ๆ มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในกระบวนการทำงาน ไม่ว่าจะเป็น การทำงานจากที่บ้าน การเรียนการสอนหนังสือ การสั่งซื้อสินค้าและอาหาร การส่งพัสดุด่วน ตลอดจนการสื่อสารในรูปแบบต่าง ๆ เป็นต้น ทุกภาคส่วนคงเล็งเห็นถึงความจำเป็นของการลงทุนในเทคโนโลยีดิจิทัล เนื่องจากได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวันแล้ว ดูได้จากการทำงานจากที่บ้าน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัด สั่งอาหารและใช้จ่ายเงินผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น ตลอดจนเติมเงินเข้าแอ๊ปเป๋าตัง เพื่อใช้จ่ายโครงการ “คนละครึ่ง” เป็นต้น

กรีน บิสซิเนส หรือธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพราะโลกตระหนักดีว่า “ไม่ว่าจะภาวะโลกร้อนหรือสถานการณ์โรคระบาดก็เชื่อมโยงมนุษย์กับธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” องค์กรต่างๆจึงหันมาโฟกัสการสร้างระบบนิเวศที่เป็นมิตรกับธรรมชาติ เช่น ลดใช้พลาสติก ลดการใช้พลังงาน ลดการตัดไม้ ลดสร้างมลพิษทั้งทางอากาศ น้ำ หรือลดขยะจากกระบวนการผลิต แม้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจทำให้เป้าหมายต่าง ๆ ในด้านนี้ของไทยในปีนี้พลาดไปบ้าง จึงจำเป็นต้องเร่งสร้างแรงจูงใจให้กับภาคเอกชนในการลงทุนด้านนี้

เอจจิ้ง/เมดิคัล หลายคนคงทราบดีว่าประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุไปแล้วตั้งแต่ปี 2548 แต่อาจยังไม่ทราบว่าไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปีนี้ ( 20% ของจำนวนประชากร) ตามการคาดการณ์ของหน่วยงานต่าง ๆ มองด้านโอกาสย่อมทำให้ภาคธุรกิจเห็นกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจนขึ้น และสามารถพัฒนาสินค้าและบริการเพื่อรองรับความต้องการของสังคมได้อย่างถูกต้อง

ธุรกิจหนึ่งที่มีแนวโน้มได้รับความสนใจลงทุนมาก ได้แก่ ธุรกิจการแพทย์ครบวงจร ที่ไม่ได้จำกัดเฉพาะโรงพยาบาลเท่านั้น แต่รวมถึงการให้บริการทางการแพทย์ยุคใหม่ ซึ่งทุกประเทศเล็งเห็นความสำคัญของการดูแลสุขภาพและระบบสาธารณสุขมากขึ้น

กล่าวโดยสรุป ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วโดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นตัวเร่ง การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยและอีอีซีเพื่อรองรับด้านดิจิทัล กรีน และเอทจิ้ง เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก คาดว่าจะเห็นธุรกิจเหล่านี้เติบโตมากขึ้นหลังโควิด-19