ปั่นเกม “ถอนตัวเพื่อชาติ” ทิ้ง “ประยุทธ์” ได้คุ้มเสีย

ปั่นเกม “ถอนตัวเพื่อชาติ” ทิ้ง “ประยุทธ์” ได้คุ้มเสีย

ชอตต่อจากนี้ต้องจับตาทุกจังหวะก้าวของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” กล้าพอจะเลือกเกมถอนตัวเพื่อชาติหรือไม่

“บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รมว.กลาโหม ออกอาการร่อแร่ เจียนอยู่เจียนไป หลังไม่สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอก 3 ระลอก 4 ได้ จนสถานการณ์บานปลายมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ทะลุหลักหมื่นต่อวัน ทำให้เสียงเรียกร้องให้ “พล.อ.ประยุทธ์” ลาออก หรือยุบสภาดังมากขึ้นทุกทิศทุกทาง

เมื่อ “คนไม่เอาประยุทธ์” ก่อตัว-รวมตัว แยกกันเดินแยกกันตีหลายทาง ทางหนึ่งแนวร่วมโซเชียลมีเดียที่ประชาชนหลายภาคส่วนออกมาแสดงจุดยืน พ่วงด้วยกระแสของดารา-ศิลปิน ออกมาคอลเอาท์ ร่วมแสดงจุดยืนขับไล่นายกฯประยุทธ์ ขับไล่รัฐบาล

ทางหนึ่ง “แนวร่วมบนท้องถนน” ที่มีหลากหลายกลุ่มออกมาเคลื่อนไหวจัดชุมนุมกันมากขึ้นกลุ่มราษฎร“แนวร่วมธรรมศาสตร์และการชุมนุม” ยังเป็นม็อบหลักที่สามารถเรียกรวมตัวแนวร่วมให้ออกมาเคลื่อนไหว ผนวกกับ “กลุ่มไทยไม่ทน” ที่แปลงกายเป็น “คาร์ม็อบ” รวมไปถึง “กลุ่มประชาชนคนไทย” ของทนายนกเขา

ทุกกลุ่มเป็น “แนวร่วมบนท้องถนน” แม้ต่างกลุ่มต่างมีข้อเรียกร้องแตกต่างกันออกไปบ้าง แต่ข้อเรียกร้องหนึ่งเดียวที่เหมือนกันคือ “ขับไล่ประยุทธ์” ให้พ้นจากเก้าอี้นายกรัฐมนตรี

อีกทางหนึ่งคือ “ผู้นำทางความคิด” โดยเฉพาะ “โทนี่ วู้ดซัม” ในคราบ ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ที่ออกมาแสดงความเห็นทางการเมืองผ่านคลับเฮาส์ถี่ขึ้น เพราะอ่านเกมรู้ว่าเก้าอี้นายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เริ่มสั่นคลอน


ไม่แตกต่างจาก “คุณหญิงหน่อย” สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย ที่ไม่ยอมตกขบวน ปล่อยทิ้งโอกาสทอง ออกมารวบรวมรายชื่อสร้างแคมเปญ #รัฐบาลฆาตกร ยื่นฟ้อง “ประยุทธ์” กรณีอนุมัติซื้อวัคซีนซิโนแวค เพิ่มอีกกว่า 6 พันล้านบาท

ทว่า ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจ และน่าจะมีพลังมากที่สุด หนีไม่พ้นเกมของ “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” ที่เตรียมยื่นญัตติอภิปรายไม่ไว้วางใจแบบลงมติในเดือน ส.ค. เพื่อชำแหละแผลเดิมและเปิดแผลใหม่ของ พล.อ.ประยุทธ์ เพื่อกระตุ้นกระแสขับไล่รุนแรงยิ่งขึ้น

บรรดา “แกนนำพรรคฝ่ายค้าน” อ่านกระแสสังคมที่โกรธแค้นต่อการบริหารงานของนายกฯ ที่รวบอำนาจเบ็ดเสร็จ แต่กลับไม่สามารถควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ ทำให้ประชาชนส่วนมากติดเชื้อ และประชาชนเสียชีวิตรายวันอย่างต่อเนื่อง

โฟกัสหลักปักไปที่การบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ แทงม้าตัวเดียว เทหมดหน้าตักไปที่วัคซีนแอสตร้าเซเนก้า เปิดไทม์ไลน์จัดส่ง 61 ล้านโดส ภายในสิ้นปี 2564 ทว่ามีโอกาสสูงที่แอสตร้าเซนเนก้า จะจัดส่งให้ได้ไม่ครบตามที่กำหนดกันเอาไว้

ส่วนวัคซีนอย่างซิโนแวคที่สั่งซื้อมาระหว่างรอแอสตร้าเซนเนก้า ประชาชนเริ่มไม่เชื่อมั่นว่าจะสามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์อัลฟ่า-เดลต้า ได้ แต่ยังดันทุรังสั่งซื้อเพิ่ม กระแสไม่พอใจรัฐบาลจึงทวียิ่งขึ้น

หลังจากนี้ ต้องรอติดตามว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านจะยื่นญัตติซักฟอกรัฐมนตรีคนใดบ้าง แต่คนที่ไม่รอดแน่ๆคือ พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล ส่วนชื่อของ “หมอหนู” อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี รมว.สาธารณสุข ยังไม่แน่ว่า “พรรคร่วมฝ่ายค้าน” จะกำหนดเกมอย่างไร

เพราะเกมการเมืองหมากสำคัญที่พรรคร่วมฝ่ายค้านยื่นญัตติซักฟอก ก็เพื่อแยก “พรรคภูมิใจไทย-พรรคประชาธิปัตย์” ออกจากการร่วมรัฐบาลกับ พล.อ.ประยุทธ์ และพรรคพลังประชารัฐ หากยื่นซักฟอก “อนุทิน” ด้วยอาจจะยากที่จะแยก “พรรคร่วมรัฐบาล” ออกจากกัน

ดังนั้นในช่วงสัปดาห์หน้า จึงต้องจับตาการกำหนดเกมของพรรคร่วมฝ่ายค้านว่าจะออกมาในรูปแบบใด เพราะต้องรอเช็ค “สัญญาณพิเศษ” ที่มีหลายสาย และไม่รู้ว่าสัญญาณแท้-สัญญาณเทียม-สัญญาณหลอก อีกทางหนึ่งด้วย

เช่นเดียวกับ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” ที่ต้องเช็คกระแส-เช็คสัญญาณให้ดี โดยเฉพาะกระแสต่อต้าน “ประยุทธ์” ที่หนาหูมากขึ้น หากเลือกที่จะ “ทน” ร่วมหัวจมท้ายกับรัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ ย่อมเสี่ยงสูงที่คะแนนนิยมของพรรคอาจตกต่ำลงได้

แต่หากเลือกที่จะ “ไม่ทน” ทิ้ง พล.อ.ประยุทธ์ ไว้กลางทาง แม้คะแนนนิยมจะเสียไปบ้างแล้ว แต่ยังมีซีนทางการเมืองให้เล่นมาก ถือโอกาสโชว์สปิริตเรียกศรัทธาให้กลับคืนมาได้

โดยโอกาสดีที่สุดที่จะถอนตัวจากการร่วมรัฐบาล คือการโหวตไม่ไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกต่อไป ซึ่งจะทำให้อนาคตทางการเมืองของทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ และหมายรวมถึงอำนายพี่น้อง 3 ป.ต้องจบลงทันที
 
ในมุมนักรัฐศาสตร์ อย่างอาจารย์ “ไชยันต์ ไชยพร” จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่า พรรคร่วมรัฐบาลบางพรรคน่าจะมีการเตรียมการเพื่อตัดสินใจถอนตัวจากการร่วมรัฐบาลจริง แต่คงยังไม่ใช่ช่วงนี้ เพราะสถานการณ์ในภาพรวมยังขึ้นๆ ลงๆ การถอนตัวจะเกิดขึ้นได้ในช่วงที่สถานการณ์ปะทุร้ายแรงที่สุดเท่านั้น

โดยสาเหตุหนึ่งที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังอยู่ได้ ก็เพราะกลุ่มผู้ชุมนุมบางกลุ่มกระทำในเรื่องที่ไม่สมควร ทั้งความเถื่อนถ่อยหยาบคาย การกระทำต่อสถานที่หรือบุคคลที่คนส่วนใหญ่เคารพสักการะ เช่น พระบรมรูปที่กระทรวงสาธารณสุข “การกระทำแบบนี้ทำให้คนจำนวนมากไม่หันมาสนับสนุนม็อบ แต่ยังยอมทนกับรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ต่อไป หากม็อบเลิกพฤติกรรมมิบังควร จะทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ คะแนนนิยมตกไปมากกว่านี้” อ.ไชยันต์ ประเมิน

หากมองเกมวันนี้ ทุกองคาพยพที่ต้องการขับไล่ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเร่งเร้าสถานการณ์ให้รุนแรง ทั้งการเมืองในสภา-การเมืองบนท้องถนน-การเมืองในโชเซียลมีเดีย เพื่อกดดันให้พรรคร่วมรัฐบาลถอนตัวซึ่งเป็นทางออกที่สั้นและง่ายที่สุด ไม่ต้องเสียเลือดเนื้อ

ฉะนั้น ชอตต่อจากนี้ต้องจับตาทุกจังหวะก้าวของพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะ “ภูมิใจไทย-ประชาธิปัตย์” กล้าพอจะเลือกเกมถอนตัวเพื่อชาติหรือไม่