เปิดแนวทาง”พาณิชย์”คุมราคาชุดตรวจโควิด

เปิดแนวทาง”พาณิชย์”คุมราคาชุดตรวจโควิด

พาณิชย์พร้อมเคาะชุดตรวจโควิด-19 เป็นสินค้าควบคุม  หากมีข้อสรุปจากสาธารณสุข รับแตกต่างจากหน้ากากอนามัย เหตุเป็นเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ ต้องนำเข้าทั้งหมด

ที่ประชุม EOC ศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉิน (Emergency Operation Center) ของกระทรวงสาธารณสุข กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง มีมติเห็นชอบให้ประชาชนสามารถตรวจหาเชื้อโควิด-19 ได้ด้วยตนเองจากจากชุดตรวจสอบคัดกรองเบื้องต้นเพื่อตรวจหาเชื้อไวรัสเบื้องต้นก่อนเข้ากระบวนการตรวจชนิดยืนยันผลจากห้องปฏิบัติการ หรือที่เรียกว่า  Antigen Test Kit หรือ ATK ซึ่งจะเป็นทางออกให้กับผู้ติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งทำการตรวจได้ง่าย รู้ผลไว ลดความแออัดและแก้ปัญหาโรงพยาบาลปฏิเสธตรวจโควิดได้นั้น

ปัจจุบัน ชุดตรวจ Antigen Test Kit หรือ ATK เป็นเครื่องมือแพทย์ ตามพ.ร.บ.เครื่องมือแพทย์ซึ่งกำหนดให้ใช้ได้เฉพาะบุคคลกรทางการแพทย์และสาธารณสุขเท่านั้น  และไม่สามารถจำหน่ายได้ตามร้านค้า อินเตอร์เน็ต โดย นพ.ไพศาล ดั่นคุ้ม เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)  ระบุว่า ชุดตรวจด้วยตนเอง หรือ Home use ซึ่งเป็นเครื่องมือแพทย์ การตรวจด้วยตัวเองต้องรอการอนุญาตก่อน รวมถึงช่องทางจำหน่ายต้องรอประกาศในราชกิจนุเษกษาด้วย ปัจจุบันมี 24 บริษัทที่ผ่านการขึ้นทะเบียนกับ อย.  ที่บุคคลการทางการแพทย์ใช้อยู่ ส่วนประชาชนทั่วไปยังใช้เองไม่ได้ ขณะนี้อยู่ระหว่าง รอปลดล็อกให้วางจำหน่ายในร้านขายยา และประชาชนซื้อไปตรวจเอง

แม้ว่าขณะนี้ประชาชนยังไม่สามารถซื้อชุดตรวจโควิดได้ด้วยตนเองก็ตามแต่ความต้องการซื้อชุดตรวจโควิดก็พุ่งขึ้นมากมาย ทำให้ราคาพุ่งเกินเท่าตัว จากราคาที่ขายอยู่ในไม่เกิน 400 บาท ขยับเป็นชุดละ 800 บาทขึ้นไป ทำให้มีข้อเรียกร้องให้กระทรวงพาณิชย์เข้ามาควบคุมราคาของชุดตรวจโควิด

 

ร้อนถึง”จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์”รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ออกมาระบุว่า  ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์กำลังรอข้อมูลจากกสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) อยู่ว่าอนุญาตให้ผู้นำเข้ามาขึ้นทะเบียนกี่ราย ปริมาณเท่าใด ราคาต้นทุนเท่าใด การกำหนดราคาขายในความเห็นของ อย. ในฐานะต้นเรื่องมีราคาเท่าไร เพราะกระทรวงพาณิชย์ไม่สามารถกำหนดได้เอง เนื่องจากไม่มีพื้นฐานด้านเครื่องมือแพทย์ ซึ่งการคุมราคาไม่อยากแต่ต้องสอดคล้องกันหลายมิติทั้งความหลากหลายของยี่ห้อ คุณภาพ มาตรฐาน และราคาต้นทุนที่มีความแตกต่างกัน จึงต้องดูด้วยความรอบคอบว่าถ้าไปกำหนดราคาในระดับหนึ่ง จะมีผลเป็นการสกัดไม่ให้มีการนำเข้าหรือไม่ เพราะถ้านำเข้ามาแล้ว ไม่กำไร ก็ไม่มีผู้นำเข้ามา ทำให้สุดท้ายประชาชนจะไม่สามารถมีชุดตรวจโควิด-19 ได้

ขณะที่นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้ร่วมประชุมกับอย. องค์การเภสัชกรรม กรมสนับสนุนสุขภาพ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ สำนักงานกฤษฎีกา และกรมศุลกากร เพื่อหาแนวทางในเรื่องนี้แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุปที่ชัดเจน ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะต้องมีรายละเอียดต่าง ๆ ของชุดตรวจดังกล่าว เนื่องจากเป็นสินค้านำเข้าทั้งหมด ที่จะต้องทราบข้อมูลแต่ละชนิด มีต้นทุนที่แท้จริงเป็นอย่างไร มีจำนวนผู้นำเข้าที่ได้รับอนุญาตขึ้นทะเบียนอย่างถูกต้องมากน้อยแค่ไหน มีชนิดชุดตรวจกี่ประเภท กี่ชนิด และมีต้นทุนชุดตรวจแยกแต่ละชิ้นว่ามีต้นทุนมากน้อยแค่ไหน เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ได้พิจารณาต้นทุนที่แท้จริงได้ทั้งหมด เพื่อจะได้นำมาพิจารณา หากจะดึงให้เป็นสินค้าควบคุมตามกฎหมายว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ

แม้ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์พยายามหาแนวทางแก้ปัญหาชุดตรวจโควิดที่มีราคาแพง หลังจากความต้องการของประชาชน แต่ก็ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งในหลักการสามารถที่จะกำหนดให้ชุดตรวจโควิดเป็นสินค้าควบคุมได้ แต่เนื่องจากชุดตรวจโควิดเป็นเวชภัณฑ์ทางการแพทย์ที่ไม่ใช่สินค้าที่จำหน่ายโดยทั่วไป จำเป็นต้องผ่านกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งแตกต่างกับหน้ากากอนามัยเพราะส่วนใหญ่ผลิตในประเทศไทย ขณะที่ชุดตรวจโควิดผลิตจากต่างประเทศและนำเข้ามาจำหน่ายในประเทศ จึงมีความแตกต่างและมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน  ดังนั้นต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงสาธารณสุข แต่เชื่อว่าจะมีความชัดเจนได้เร็วๆนี้ เพราะประชาชนมีความต้องการสูง ส่งผลให้ราคาจำหน่ายแพงเกินจริง