ไทยใช้สิทธิเอฟทีเอ จีเอสพี 5 เดือนแรก มูลค่า 31,863.45 ล้านดอลลาร์

ไทยใช้สิทธิเอฟทีเอ จีเอสพี 5 เดือนแรก มูลค่า 31,863.45 ล้านดอลลาร์

พาณิชย์ เผย ไทยใช้สิทธิเอฟทีเอและจีเอสพี เดือนพ.ค.มูลค่า 7,576.68 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19.19%  ตลาดอาเซียนยังครองอันดับ1ใช้สิทธิเอฟทีเอมากที่สุด  ขณะที่สหรัฐนำโด่งใช้สิทธิจีเอสพี  ส่วนภาพรวม 5 เดือน ใช้สิทธิเพิ่ม 26.49 % มูลค่า31,863.45 ล้านดอลลาร์

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยการใช้สิทธิประโยชน์สำหรับการส่งออกภายใต้ความตกลงการค้าเสรี หรือเอฟทีเอ( FTA) และภายใต้ระบบสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปหรือจีเอสพี (GSP) เดือนพ.ค. 2564 มีมูลค่า 7,576.68 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19.19%  เมื่อเปรียบเทียบกับเดือนเม.ย.  2564 ที่มีมูลค่า 6,356.95 ล้านดอลลาร์ฯ โดยการใช้สิทธิประโยชน์ฯ  5 เดือนแรกปี 64  คือตั้งแต่เดือนม.ค.-พ.ค. 2564 มีมูลค่า 31,863.45 ล้านดอลลาร์ มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 75.99 %  แบ่งเป็นมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้เอฟทีเอ 30,272.12 ล้านดอลลาร์ และมูลค่าการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบจีเอสพี 1,591.33 ล้านดอลลาร์ ทั้งนี้ โดยภาพรวม การใช้สิทธิประโยชน์ฯ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2564 ขยายตัว 26.49  %

162641476867

การใช้สิทธิประโยชน์เอฟทีเอเดือนพ.ค. 2564 มีมูลค่า 7,189.66 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 19.41%  โดยการใช้สิทธิเอฟทีเอ  5 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่า 30,272.12 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 26.24 % มีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ 76.87 % โดยตลาดที่ไทยส่งออกโดยมีมูลค่าการใช้สิทธิฯ ภายใต้เอฟทีเอ  สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. อาเซียน มูลค่า 10,367.07 ล้านดอลลาร์ 2. จีน มูลค่า 10,083.66 ล้านดอลลาร์ 3. ออสเตรเลีย มูลค่า 3,441.92 ล้านดอลลาร์ 4. ญี่ปุ่น มูลค่า 2,784.53 ล้านดอลลาร์ และ 5. อินเดีย  มูลค่า 1,957.81 ล้านดอลลาร์ สำหรับกรอบความตกลงการค้าเสรีที่มีอัตราการใช้สิทธิประโยชน์ฯ สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ 1. ไทย – เปรู  95.43%  2. อาเซียน – จีน  94.28 %  3.  ไทย – ชิลี   83.25%  4. ไทย – ญี่ปุ่น  77.90%  และ 5. อาเซียน – เกาหลี  68.33%

การใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้ระบบจีเอสพี ทั้ง 4 ระบบ สหรัฐอเมริกา สวิตเซอร์แลนด์ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช และนอร์เวย์ เดือนพ.ค. 2564 มีมูลค่า 387.02 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น 15.25%  เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย. 2564 ที่มีมูลค่า 335.81 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับการใช้สิทธิ ภายใต้จีเอสพี 5 เดือนแรกของปี 2564 มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,591.33 ล้านดอลลาร์เพิ่มขึ้น  31.45 %เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีสัดส่วนการใช้สิทธิฯ  62.43 %  ตลาดส่งออกที่ไทยมีมูลค่าการใช้สิทธิมากที่สุดคือ สหรัฐ  มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 1,421.12 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 40.20 % และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ  64.97 % อันดับสองคือ สวิตเซอร์แลนด์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 107.49 ล้านดอลลาร์ลดลง  13.35 % และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ  39.32%  อันดับสามคือ รัสเซียและเครือรัฐเอกราช มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 56.33 ล้านดอลลาร์ ลดลง 15.23%  และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 72.36%  %และนอร์เวย์ มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ 6.39 ล้านดอลลาร์ ลดลง 0.65 % และมีสัดส่วนการใช้สิทธิ 61.24 %

สำหรับสินค้าส่งออกที่มีการใช้สิทธิฯ สูง อาทิ ถุงมือยาง น้ำ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ อาหารปรุงแต่ง สับปะรดกระป๋อง ซอส เนื้อปลาแบบฟิลเล สด แช่เย็น แช่แข็ง ข้าวที่สีบ้างแล้วหรือสีทั้งหมด

162641479043

ช่วง เดือนแรกของปี 2564 พบว่าผู้ประกอบการไทยมีการใช้สิทธิประโยชน์ทางการค้าภายใต้กรอบเอฟทีเอ ต่าง ๆ เพื่อส่งออกไปตลาดคู่ค้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกตลาด อาทิ เปรู ออสเตรเลีย    อินเดีย  อาเซียน  นิวซีแลนด์  เป็นต้น สำหรับสินค้าที่มีมูลค่าการใช้สิทธิฯ สูง ประกอบไปด้วยสินค้าหลากหลาย ทั้งสินค้าอุตสาหกรรม อาหาร เครื่องดื่ม และเกษตร อาทิ รถยนต์ขนส่งของน้ำหนักรถรวมน้ำหนักบรรทุกไม่เกิน 5 ตัน (อาเซียน) เครื่องเพชรพลอยและรูปพรรณทำหรือชุบด้วยเงิน (อาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์) ทุเรียนสด (อาเซียน – จีน) ส่วนประกอบของเครื่องปรับอากาศ (อาเซียน – อินเดีย) ปลาแมคเคอเรล (อาเซียน – ญี่ปุ่น) เครื่องซักผ้า (อาเซียน – เกาหลี) ปลาทูน่า ปลาสคิปแจ็ก และปลาโบนิโตชนิดซาร์ดา (กระป๋อง) ด้ายทำด้วยเส้นใยสังเคราะห์ (ไทย – ชิลี) เป็นต้น