นักลงทุนเมินหนีบจ. “เพิ่มทุน” มองเป็นจุดขาย-ซื้อ เมื่อไร

นักลงทุนเมินหนีบจ. “เพิ่มทุน”  มองเป็นจุดขาย-ซื้อ เมื่อไร

ข่าวคราวการเพิ่มทุนของเหล่าบริษัทจดทะเบียนมีมาให้เห็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องปกติในตลาดทุนที่ “เครื่องมือ” การระดมทุนนี้จะได้รับความสนใจมากกว่าการขอสินเชื่อ เพราะรวดเร็วกว่า ต้นทุนต่ำกว่า แต่ต้องแลกมากับการปรับลดราคาหุ้น (Dilution Effect) 

ทำให้กลายเป็นของแสลงสำหรับนักลงทุนทำราคาหุ้นร่วง บางกรณีกลับพาราคาหุ้นบวกด้วยเช่นกัน

รูปแบบการเพิ่มทุนมักจะมาพร้อมกับจัดสรรในหลายรูปแบบทั้งให้กับผู้ถือหุ้นเดิมทุกรายตามสัดส่วน (Right Offering : RO) ,จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนโดยไม่จัดสรรให้ผู้ถือหุ้นที่จะทำให้บริษัทมีหน้าที่ตามกฎหมายต่างประเทศ (Preferential Public Offering : PPO), จัดสรรให้กับประชาชน (Public Offering : PO) และจัดสรรให้กับบุคคลในวงจำกัด*(Private Placement : PP) กรณีหลังขายให้กับบุคคลในวงจำกัดคือ จำกัดจำนวนไม่เกิน 50 ราย หรือ มูลค่าเสนอขาย ไม่เกิน 20 ล้านบาท ภายในรอบ 12 เดือนหรือเสนอขายต่อผู้ลงทุนสถาบัน

หัวใจสำคัญอยู่มีการนำเม็ดเงินดังกล่าวไปใช้ลงทุนในโครงการอะไร หรือรายชื่อร่วมทุนใหม่มีชื่อเสียงพอที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้นักลงทุนหรือไม่ รวมทั้งออปชั่นเสริมที่ “ปลอบใจ” นักลงทุนให้ยอมจ่ายเพิ่มทุน เช่น แจกฟรีใบสำคัญแสดงสิทธิ (Warrant)

ที่ผ่านมาบริษัทขนาดกลางและเล็กราคาหุ้นปรับขึ้นมารอโปรเจคใหม่จนเป็นราคาหุ้นเป็นที่ “ฮือฮา” มีจำนวนไม่น้อย เช่น บริษัท เอ็กซ์สปริง แคปปิตอล จำกัด (มหาชน) หรือ XPG เพิ่มทุน 1,030 ล้านหุ้นราคา 4.10 บาท ให้กับ บมจ.แสนสิริ (SIRI) บมจ.วิริยะประกันภัย และนายมงคล ประกิตชัยวัฒนา และยังมีการเพิ่มทุนให้กับผู้ถือหุ้นเดิม (RO) อีก 5.73 พันล้านหุ้น ที่ราคา 0.50 บาท ได้รับเงิน 7.11 พันล้านบาท เพื่อลุยธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล แน่นอนว่าราคาหุ้นทะลุ 11.20 บาท (2 ก.ค.) และย่อตัวหลังเปิดเผยข่าว

บริษัท เสริมสร้าง พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SSP เพิ่มทุน PP 50 ล้านราคาหุ้น 12.10 บาท ให้นักลงทุนรายใหญ่ “พงศ์ศักดิ์ ธรรมธัชอารี” เตรียมโปรเจคลงทุนโรงไฟฟ้าจำนวนรวมทั้งสิ้น 400 เมกะวัตต์ภายในปี 2567 ผ่านการเข้าลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ก่อนหน้านี้ SSP มีการแจกวอร์แรนท์ 2 ชุด ฟรีให้กับผู้ถือหุ้นหลังจากมีการเพิ่มทุนไปก่อนหน้านี้จนทำให้ราคาพุ่งขึ้นมา 14

ส่วนบริษัทขนาดใหญ่เปิดตัวเพิ่มทุนไซส์ใหญ่เจออาการ “ราคาหุ้นซ็อก” ไปไม่น้อย บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU เพิ่มทุน 5,074.58 ล้านหุ้น (4 หุ้น เดิม : 1 หุ้นใหม่) ราคา 5 บาท พร้อมออก warrant 3 ชุดให้ผู้ถือเดิมเพิ่มทุน ทำให้ราคาหุ้นปรับตัวขึ้น 16.50 บาท (25 มิ.ย.) แรงเทขายหุ้นร่วงแต่กลับมารีบาวด์ได้รวดเร็ว จากโครงการเข้าไปลงทุนเน้นธุรกิจพลังงานสะอาด ในประเทศและต่างประเทศ

แตกต่างจาก บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ที่เพิ่มทุนครั้งใหญ่ 769 ล้านหุ้น (1.885 หุ้นเดิม : 1 หุ้นใหม่) ระบุลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าในสาธารณรัฐอินโดนีเซีย และโครงการอื่นๆในอนาคต ส่งผลทำให้ราคาหุ้นร่วงหนักหลุด 50 บาท ปัจจุบันอยู่ที่ 44.00 บาท และราคาหุ้นยังไม่กลับมารีบาวด์แรง

ปิดท้ายด้วยบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ประกาศเข้าซื้อหุ้นทั้งหมดใน Allnex Holding GmbH (ANHG) เป็นธุรกิจกลุ่มของอุตสาหกรรมการโค้ทติ้งเรซิ่น โดยแบ่งเป็นศูนย์เทคโนโลยี 23 แห่ง และโรงงานผลิต 34 แห่งทั่ว ด้วยมูลค่ารวม 3.6 พันล้านยูโร หรือ 1.4 แสนล้านบาท จนทำให้เกิดวิตกจะมีการเพิ่มทุนตามมาด้วยกดราคาหุ้นลงไป 54.25 บาท

ก่อนจะกลับมารีบาวด์ หลัง PTTGC ยืนยันไม่มีการเพิ่มทุน รวมทั้งความน่าสนใจของดีลดังกล่าวมีโอกาสเพิ่มกำลังการผลิตรวม 1.25 mntpa จากที่ที่ผ่านมา Allnex ได้มีการซื้อกิจการของ Nuplex ซึ่งเป็นคู่แข่งในเมื่อ 4 ปีก่อน ขนาดของอุตสาหกรรมโค้ทติ้งเรซิ่นอยู่ที่ 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์ในปี 2563 หรือ 58% ของทั้งโลก และในอุตสาหกรรมไม่มีผู้เล่นรายใหญ่ที่มีส่วนแบ่งมาแข่งขันอีกด้วย

ดังกล่าวมองไว้ว่าจากเคส บจ.ที่เพิ่มทุนไม่ใช่ข่าวร้ายทุกดีล หากมาพร้อมกับโครงการลงทุนที่หนุนธุรกิจ หรือสามารถเปลี่ยนธุรกิจอิงกับกระแสโลกในอนาคตเป็นการบริหารจัดการเงินที่มีอยู่จากการใส่เงินของผู้ถือหุ้นที่คุ้มค่าในอนาคต