เปิดผลศึกษาฉีด'วัคซีนโควิด19สลับชนิด'ในไทยฉีดแล้ว1,200คน

เปิดผลศึกษาฉีด'วัคซีนโควิด19สลับชนิด'ในไทยฉีดแล้ว1,200คน

เปิดผลศึกษาฉีดวัคซีนโควิด19สลับชนิดในไทย ซิโนแวคเข็ม1+แอสตร้าฯเข็ม 2 ภูมิขึ้นสูง ใช้ระยะเวลาเร็วขึ้นถึง 1 เท่าตัว สู่สายพันธุ์เดลตา ฉีดแล้ว 1,200 คน ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง

"ฉีดวัคซีนสลับชนิด ภูมิต้านทานขึ้นสูง ในเวลารวดเร็วเพียง 6 สัปดาห์ ไทยฉีดแล้ว 1,200 คน ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรง"ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ


12 ก.ค.2564 คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติเห็นชอบให้มีการฉีดวัคซีน 2 เข็ม สลับชนิดกัน โดยเข็มแรกเป็นชิโนแวค(ชนิดเชื้อตาย)และเข็ม 2 เป็นแอสตร้าเซนเนก้า(ชนิดไวรัส แว็กเตอร์) เพราะจะเพิ่มภูมิต้านทานให้สูง โดยใช้ระยะเวลาสั้นลง จะสู้กับเดลตาได้ทันเวลา ขณะที่แง่ความปลอดภัยมีการฉีดสลับแล้ว 1,200 คน ไม่มีอาการข้างเคียงที่รุนแรง

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อธิบายถึงการให้วัคซีนโควิด19 สลับชนิดว่า โรคโควิด 19 ระบาดมา 1 ปีครึ่ง จะหยุดวิกฤตได้ด้วยวัคซีน เพราะถ้าส่วนใหญ่รับวัคซีนมีภูมิต้านทานเกิดขึ้น จะลดการป่วย ลดการเสียชีวิต เป็นสิ่งที่ต้องการ และถ้าวัคซีนป้องกันการติดเชื้อได้ด้วยจะยิ่งดียิ่งขึ้น ในประเทศไทยเริ่มฉีดวัคซีนวันที่ 28 ก.พ. 2564 ถึงปัจจุบันฉีดไม่ถึง 13 ล้านโดส ซึ่งขอบเขตที่ไม่สามารถไปถึงเป้าหมายได้รวดเร็ว เพราะปริมาณวัคซีนมีจำกัด จึงต้องบริหารวัคซีนให้ได้ประโยชน์สุงสุด เพราะฉะนั้นการศึกษาวิจัยรูปแบบการให้วัคซีนในประเทศไทยจึงมีความจำเป็นเป็นอย่างยิ่ง
"ในระยะแรก วัคซีนทุกบริษัททุกยี่ห้อ ผลิตมาจากต้นแบบสายพันธุ์ของไวรัสโคโรนาที่ต้นกำเนิดมาจากอู่ฮั่น กว่าจะได้ใช้เวลาร่วม 1 ปี แต่ 1 ปีไวรัสก็มีการเปลี่ยนแปลงตัวเองหรือกลายพันธุ์ หนีออกจากระบบภูมิต้านทาน"ศ.นพ.ยงกล่าว

วิธีผลิตชนิดเชื้อตาย-ไวรัส แว็กเตอร์
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีข้อจำกัดวัคซีนที่ใช้ ขณะนี้ใช้ชนิดเชื้อตาย คือ ซิโนแวคและซิโนฟาร์ม กับไวรัส แว็กเตอร์ คือ แอสตร้าเซนเนก้า ซึ่งต่างชนิดกัน โดยชนิดเชื้อตาย ทำมาโดยวิธีแบบโบราณมากว่า 50 ปีแล้ว ด้วยการเพาะเลี้ยงไวรัสเช่นเดียวกับเชื้อโปลิโอ พิษสุนัขบ้า แล้วฆ่าทำลายด้วยสารเคมี ทำให้บริสุทธิ์ และมาทำเป็นวัคซีนโดยใส่ตัวเร่งภูมิต้านทาน คือ อะลูมิเนียม

ส่วนไวรัสแว็กเตอร์เป็นเทคโนลยีใหม่ โดยใช้ดีเอ็นเอที่มีรหัสพันธุกรรมแปลโค้ดเดียวกับรหัสพันธุกรรมส่วนสไปท์โปรตีนโคโรนาไวรัส ใส่ในอะดิโนไวรัสของชิมแปนซี ซึ่งไม่ใช้ไวรัสก่อโรคในคนเพราะถ้าคนมีภูมิต้านทานต่อเชื้อตัวนี้ ฉีดเข้าไป ภูมิต้านทานที่มีอยู่เดิมก็จะทำลายอะดิโนไวรัส จึงใช้ของลิงการถูกทำลายจึงน้อย เมื่อเข้าไปแล้วจะเกิดการติดเชื้อในร่างกาย แต่แพร่ไม่ได้ ถูกทำหมันแล้ว แต่คนที่ฉีดจะเป็นไข้หวัดชิมแปนซี จะมีการปวดเมื่อย มีอาการไข้บ้าง แต่ไวรัสแพร่ไม่ได้ เจริญเติบโตไม่ได้ ก่อโรครุนแรงกว่านี้ไม่ได้ แพร่ไปคนอื่นไม่ได้ แต่จะสร้างโปรตีนที่คล้ายกับโคโรนาไวรัสที่ใส่เข้าไปจะกระตุ้นให้ร่างกายสร้างภุมิต้านทาน อย่างไรก็ตาม ชนิดไวรัสเวคเตอร์ เคยใช้ในคนคือ อีโบลามาร่วม 5 ปี ในวัคซีนโควิด 19 จึงไม่ใช่ตัวแรก

วัคซีนที่ไทยใช้อยู่ 2 ตัวนี้ คุณสมบัติแตกต่างกัน เดิมวัคซีนชนิดเชื้อตาย กระตุ้นภุมิต้านทานได้น้อยกว่าไวรัส แว็กเตอร์ที่ไม่แพร่พันธุ์แต่ทำให้เกิดการติดเชื้อในเซลล์ จึงกระตุ้นภุมิต้านทานโดยก่อกำเนิดจากเซลล์ สร้างโปรตีนแอนติเจนมากระตุ้นภูมิต้านทาน จึงกระตุ้นภูมิต้านทานสูงกว่าเกิดจากเชื้อตาย ทั้งนี้ เดิมทีซิโนแวคที่คิดค้นขึ้นมา กระตุ้นภูมิต้านทานเกิดขึ้นสูงเท่าเทียมหรือสูงกว่าคนที่หายป่วยแล้ว เพราะฉะนั้น เมื่อคนหายป่วยแล้วมีภูมิระดับนี้ เมื่อคนฉีดวัคซีนเชื้อตายเข้าไป โดยมีระบภูมิที่สูงกว่าหรือเท่าเทียมการติดเชื้อ จึงป้องกันได้

"แต่เมื่อไวรัสกลายพันธุ์ตลอดเวลา ทำให้หลบหลีกภูมิต้านทานจากวัคซีนเชื้อตายได้ง่ายกว่า เมื่อติดสายพันธุ์ใหม่อัลฟา เดลตา ต้องการภูมิต้านทานที่สูงขึ้นจึงจะป้องกันได้ จึงทำให้ประสิทธิภาพวัคซีนลดลง และการลดลงนี้ลดลงในวัคซีนทุกตัวที่มีการผลิตจากสายพันธุ์อู่ฮั่น แต่วัคซีนบางตัว ระดับภูมิต้านทานสูงกว่า แม้ลดลงก็ยังป้องกันได้"ศ.นพ.ยงกล่าว

ฉีดสลับชนิดภูมิขึ้นสูง-เร็ว
ในการปฏิบัติจึงต้องพิจารณาว่า ถ้าฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็ม ห่างกัน 10 สัปดาห์ เพราะชนิดไวรัสแว็กเตอร์ ห่างฉีดกันน้อยกว่า 6 สัปดาห์ภูมิจะสูงไม่เท่าห่างกันเกิน 6 สัปดาห์ ยิ่งห่างนานยิ่งดี ซึ่งเดิมฉีด 1 เข็มพอเพียงป้องกันสายพันธุ์อู่ฮั่นได้ แต่เจอสายพันธุเดลตา ไม่สามารถป้องกันได้ ต้องรอฉีดเข็ม 2 ใน 10 สัปดาห์หรือนานกว่านั้นถึงป้องกันได้ ขณะที่ใช้ซิโนแวค 2 เข็มห่างกัน 3-4สัปดาห์ ไม่พอป้องกันสายพันธุ์เดลตา จึงต้องหาจุดสมดุล ทำอย่างไรให้ประชาชนไทย มีภูมิคุ้มกัน เกิดขึ้นเร็วที่สุด เหมาะสมที่สุดในขณะที่ไวรัสเปลี่ยนพันธุกรรมไปมาก เป็นที่มาของการศึกษาว่าฉีดเชื้อตายก่อน และตามด้วยไวรัสแว็กเตอร์

"การฉีดเชื้อตายก่อน จะเปรียบเสมือนให้ร่างกาย คล้ายกับการติดเชื้อ แล้วไปสอนนักรบหรือหน่วยความจำร่างกาย จากนั้นอีก 3-4 สัปดาห์จึงไปกระตุ้นด้วยวัคซีนไวรัสแว็กเตอร์ ที่มีอำนาจกระตุ้นเซลล์ร่างกายสร้างภูมิต้านทานร่างกายมากกว่า ผลพบว่ากระตุ้นได้สูงกว่าที่คาดไว้ ดังนั้น ถ้าให้เชื้อตายซิโนแวค ก่อนตามด้วยไวรัสแว็กเตอร์ แอสตร้าฯ ภูมิสูงขึ้นเร็ว แม้จะสูงไม่เท่า แอสตร้าฯ 2 เข็ม แต่ได้ภูมิที่สูงในเวลา 6 สัปดาห์เท่านั้น แทนที่จะรอถึง 12 สัปดาห์ เร็วขึ้นเท่าตัว"ศ.นพ.ยงอธิบาย

ศ.นพ.ยง ขยาความต่อว่า คนไข้มากกว่า 40 คน ที่ติดตามมา กลุ่มแรกฉีดซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิที่เกิดมาสูงเท่ากับคนติดเชื้อธรรมชาติแล้วหาย ป้องกัน สายพันธุ์อู่ฮั่นได้ แต่สายพันธุ์เดลตาป้องกันไม่ได้ ถ้าฉีดแอสตร้าฯ 2 เข็มห่างกันที่ 10 สัปดาห์ วัดระดับภูมิที่ 14 สัปดาห์ ภูมิจะสูงเพียงพอที่จะป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้ แต่ใช้เวลาถึง 14 สัปดาห์ให้ภูมิสูง แต่ถ้าฉีด 2เข็มสลับกัน ให้เข็ม 1 เป็นซิโนแวค เข็ม 2 เป็นแอสตร้าฯ ภูมิต้านทานอยู่ที่ 800 จะเห็นว่าภูมิขึ้นใกล้เคียงฉีดแอสตร้า 2 เข็มที่ภูมิต้านทานอยู่ที่ 900 แต่ซิโนแวค 2 เข็ม ภูมิอยู่ที่ 100 ส่วนการติดชื้อธรรมชาติอยู่ที่ 70-80
"การฉีดสลับชนิดนี้ โอกาสป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ได้มีมากกว่า และการสัมฤทธิ์ผลภูมิสูงขึ้นใช้เวลา 6 สัปดาห์ ขณะที่ถ้าใช้แอสตร้าฯ 2 เข็ม ใช้วลาไม่น้อยกว่า 12 สัปดาห์ ยาวนานกว่ากันเท่าตัว"ศ.นพ.ยงกล่าว

ศ.นพ.ยง กล่าวย้ำว่า ในสถานการณ์การระบาดของโรคที่รุนแรงรวดเร็ว จะรอถึง 12 สัปดาห์ไม่ได้เพื่อให้ภูมิสูงขึ้นเร็ว การฉีดสลับชนิดใช้เวลา 6 สัปดาห์ภูมิสูงใกล้เคียงกับการฉีด 12 สัปดาห์ น่าจะเป็นประโยชน์สูงสุดกับประเทศไทยในขณะนี้ที่มีการระบาดของโรค และไทยมีวัคซีน 2 ชนิด ส่วน อนาคตถ้ามีวัคซีนอื่นที่พัฒนาดีกว่า สลับชนิดดีกว่า ค่อยหาวิธีการที่ดีกว่า หรืออนาคตถ้ากลายพันธุ์มากกว่านี้ อาจมีวัคซีนจำเพาะเจาะจงกับสายพันธุ์นั้น เช่น ไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดทุกปี

"ก็คงจะทำให้เข้าใจว่าการฉีดสลับชนิด จะบรรลุผลสำเร็จในการกระตุ้นภูมิต้านทานที่สูง แต่ใช้ระยะเวลาสั้นกว่ากันเท่าตัว ซึ่งข้อมูลทางวิชาการที่ศึกษามาเป็นประโยชน์ในการใช้จริง"ศ.นพ.ยงกล่าว

ฉีดแล้ว1,200คนไม่มีอาการรุนแรง
แน่นอน เรื่องความปลอดภัยวัคซีนต้องมาก่อน จำเป็นต้องมีการศึกษาความปลอดภัย แต่จากการศึกษาเบื้องต้นที่ออกมา การฉีดสลับกันในไทย ฉีดสลับแล้วระหว่างซิโนแวค และแอสตร้าฯมากกว่า 1,200 คน ที่ถูกลงบันทึกอาการข้างเคียงในหมอพร้อม ไม่มีใครมีอาการข้างเคียงรุนแรง เป็นเครื่องยืนยันการให้สลับมีความปลอดภัยในชีวิตจริง การศึกษาของศูนย์ฯจะออกมาให้ดูความปลอดภัยที่ฉีดคนไข้ ที่ติดตามทุกวันเป็นอย่างไร ขอให้มั่นใจไม่ได้ฉีดสลับเป็นคนแรก ในไทยมีฉีดแล้วมากกว่า 1,200 คน


ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ปกติทุกอย่างถ้าเป็นของใหม่อยากให้ทำตามคำแนะนำ อย่างวัคซีนในเด็ก เกือบทุกชนิด ไข้สมองอักเสบ ป้องกันท้องเสีย ผลิตออกมาใหม่ๆ แต่ละบริษัทบอกว่าการใช้ต้องไม่ข้ามกัน เข็ม 1 2 3ยี่ห้อเดียวกัน ต่อมาแม้โรตา ไอกรนบาดทะยักในเด็ก เคยถามไหมว่าลูกฉีดยี่ห้ออะไร ปีนี้ประมูลยี่ห้ออะไร ปีหน้ายี่ห้ออะไร ไวรัสแบคทีเรียไม่รู้วัคซีนยี่ห้ออะไร เช่นเดียวกับวัคซีนโควิดเมื่อผลิตใหม่ๆที่มีต่างแพลตฟอร์ม ทุกบริษัทบอกว่าให้ใช้ตามการศึกษาที่ผ่านมา ยี่ห้อเดียวกัน การใช้สลับกันต้องมีการศึกษานำมาก่อน ซึ่งการใช้ mRNA สลับไวรัสแว็กเตอร์เริ่มในอังกฤษ ตอนที่วัคซีนขาดแคลน มีการเอามาใช้และศึกษาโดยทีมออกฟอร์ด ไฟเซอร์สลับแอสตร้าฯ แล้วดูผล อาการข้างเคียงเพิ่มขึ้นหรือไม่ ผลภูมิต้านทเป็นอย่างไร สิ้นสุดไปแล้ว


"ในเมืองไทยถึงแม้บอกยังไม่ควรสลับ ก็มีการสลับในชีวิตจริง ด้วยเหตุผลอันใดไม่ทราบ บางคนแพ้ อาการข้างเคียงเข็ม1มากเกินไป ซึ่งข้อมูลหมอพร้อม 1,200 คนมากพอสมควรในการบันทึกผลข้างเคียงไม่มีที่รุนแรง ส่วนการศึกษาทางคลินิกโดยละเอียด บันทึกอาการข้างเคียงทุกวัน จะออกในสิ้นเดือนนี้ เชื่อว่าข้อมูลหมอพร้อม 1,200 คน เป็นเหตุผลอันหนึ่งที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาตินำมาพิจารณา"ศ.นพ.ยงกล่าว

ท้ายที่สุด ศ.นพ.ยง ย้ำว่า โรคโควิดจะยุติวิกฤตได้ นอกจากปฏิบัติตัวมีวินัยเคร่งครัดใส่หน้ากาก100 % เว้นระยะห่างแล้ว วัคซีนเป็นทางช่วยอีกตัว ถามว่าควรฉีดวัคซีนหรือไม่ ไม่ควรถามเลย บอกได้เลยว่าควรจะได้รับทุกคน แต่เนื่องจากวัคซีนมีปริมาณจำกัด ขอให้ผู้เสี่ยงและ บุคลากรด่านหน้ารับเต็มที่ก่อน เพราะติดเชื้อแล้ว โอกาสเสียชีวิต นอนรพ.เข้าไอซียูสูง ต่อไปก็ขยายลงไป รวมถึงเด็ก แต่ในเด็กต้องรออีกระยะ เพราะโรคนี้ติดในเด็กความรุนแรงน้อยมาก โอกาสเด็กเสียชีวิตปอดบวมน้อยกว่าผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุมาก เด็กเป็นแล้วไม่รุนแรง ไม่เสียชีวิต วัคซีนใช้ในเด็กได้ต้องคำนึงความปลอดภัยสูงกว่าที่ใช้ในผู้ใหญ่