ศรัทธารัฐบาล สวนทางผู้ติดเชื้อ

ศรัทธารัฐบาล สวนทางผู้ติดเชื้อ

การตัดสินใจที่ผิดพลาดของ "รัฐบาล" ในการจัดหา "วัคซีน" และการตัดสินใจ "ล็อกดาวน์" พื้นที่ระบาดรุนแรงล่าช้า กำลังฉุดศรัทธาประชาชนลดลงต่อเนื่อง สวนทางจำนวน "ผู้ติดเชื้อโควิด-19" และ "ผู้เสียชีวิต"

สถานการณ์การระบาดของโรค "โควิด-19" ในประเทศไทยมีความรุนแรงมากขึ้น ทำให้ต้องมีการประกาศ "ล็อกดาวน์" และการห้ามออกนอกเคหสถานใน "พื้นที่สีแดงเข้ม" 10 จังหวัด รวม 14 วัน

เป็นการกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้งในกรุงเทพฯ นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นราธิวาส ปัตตานี ยะลาและสงขลา มีเป้าหมายเพื่อยับยั้งการติดเชื้อ "โควิด-19" ที่การติดเชื้อระลอกที่ 3 นับตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.2564 ถึงวันที่ 11 ก.ค.2564 มีถึง 307,508 ราย และกำลังเข้าสู่ระลอกที่ 4

รัฐบาลจัดให้มีการ "ฉีดวัคซีน" มาตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.2564 นับจนถึงวันที่ 10 ก.ค.2564 มีผู้ฉีดวัคซีนรวม 12.46 ล้านโดส แบ่งเป็นการฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 9.21 ล้านคน และผู้ฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 3.25 ล้านคน โดยจำนวนผู้วัคซีนวันที่ 10 ก.ค.2564 เพิ่มขึ้นเพียง 93,284 โดส

ซึ่งจำนวนนี้ถือว่าน้อย เมื่อเทียบกับเป้าหมายที่ต้องฉีดให้ได้ประมาณ 4-5 แสนคน จึงจำเป็นที่ต้องเร่งการรับมอบวัคซีนจากผู้ผลิต รวมถึงการ "จัดหาวัคซีนทางเลือก" ให้เร็วยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการจัดหาวัคซีนเพื่อรับมือกับเชื้อกลายพันธุ์ที่มีความรุนแรง

การจัดหาวัคซีนทางเลือกไม่สามารถดำเนินการได้เต็มที่ ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นเพียงราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ที่ได้นำเข้าวัคซีนทางเลือกเข้ามาแล้วและจัดส่งให้กับหน่วยงานต่างๆ นำไปฉีดให้ประชาชนและพนักงานขององค์กรธุรกิจ ในขณะที่วัคซีนไฟเซอร์ที่รัฐบาลจะจัดซื้อผ่านกรมควบคุมคุมโรค 20 ล้านโดส

รวมถึง "วัคซีนโมเดอร์นา" ที่องค์การเภสัชกรรมเป็นผู้จัดซื้อ จะนำเข้าไปเร็วที่สุดในไตรมาสที่ 4 ปี 2564 นั่นหมายความว่าเกือบทั้งปี 2564 เป็นการพึ่งวัคซีนซิโนแวคและ "วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า" เป็นส่วนใหญ่

การตัดสินใจที่ผิดพลาดในการจัดหาวัคซีนและการตัดสินใจล็อกดาวน์พื้นที่ระบาดรุนแรงล่าช้า รวมถึงการปล่อยให้กลุ่มคนบางกลุ่มละเลยการปฏิบัติตามมาตรการควบคุมการระบาดจนนำมาสู่ "คลัสเตอร์ทองหล่อ" ที่เป็นคลัสเตอร์ลำดับต้นของการระบาดในระลอกที่ 3 ในเดือน เม.ย.-ก.ค.2564 ซึ่งถือเป็นการระบาดที่รุนแรง และทำให้การระบาดระลอกที่ 3 นี้ มียอดผู้เสียชีวิตสะสมสูงถึง 2,617 ราย รวมถึงระบบสาธารณสุขที่รับมือผู้ติดเชื้อแทบไม่ไหว มีผู้เสียชีวิตที่เข้าไม่ถึงระบบสาธารณสุขมากขึ้น

สถานการณ์ที่เกิดขึ้นสร้างความสูญเสียทั้งทางสังคมและเศรษฐกิจมหาศาล ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีผลต่อความเชื่อมั่นในรัฐบาลต่อการรับมือกับสถานการณ์วิกฤติ หลังจากที่รัฐบาลตัดสินใจพลาดหลายครั้ง

จนทำให้คนลืมการควบคุมการระบาดที่อยู่ในเกณฑ์ดีในปีที่แล้วไปหมดและแน่นอนว่าศรัทธาของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลได้ลดลงต่อเนื่องตามจำนวน "ผู้ติดเชื้อโควิด-19" และผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง รัฐบาลจึงต้องกล้าตัดสินใจแก้ปัญหาในบางจุดก่อนที่จะไม่มีใครเชื่อถือรัฐบาล