เหตุใด? 'วัคซีนโควิด 19' ถึงล่าช้า 'Moderna' เข้าไทยจริงหรือ?

เหตุใด? 'วัคซีนโควิด 19' ถึงล่าช้า 'Moderna' เข้าไทยจริงหรือ?

‘วัคซีนโควิด 19’ อีกหนึ่งปัญหาที่หลายคนตั้งคำถาม ถึงการทำงานของรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข ถึงกระบวนการจัดหาวัคซีนทั้งวัคซีนหลัก ทำไมถึงล่าช้า? แล้ววัคซีนทางเลือก อย่าง 'Moderna' จะเข้าตามกำหนดหรือไม่?

เหตุใด? ถึงล่าช้า เหตุใด? ที่ตอนนี้ประชาชนแห่รอวัคซีน Pfizer ที่ทางสหรัฐอเมริกาจะบริจาคเข้ามา 1.5 ล้านโดส แต่แว่วว่าจะฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ ทั้งที่บุคลากรกลุ่มนี้ ฉีดวัคซีน Sinovac ครบทั้ง 2 เข็ม การฉีด Sinovac 2 เข็มแล้วไม่ได้ประสิทธิภาพหรือไร? ขณะที่ประชาชนอีกจำนวนมากยังได้ฉีดวัคซีนชนิดใดเลย และเหตุใด? ประชาชนถึงเลือกจองฉีดวัคซีน Moderna มากขึ้นเรื่อยๆ

  • เป้าหมายจัดหาวัคซีนหลัก 150 โดส

ขณะนี้ เป้าหมายในการจัดหาวัคซีนหลักอยู่ที่ 150 ล้านโดส โดยเจรจาแล้ว 105.5 ล้านโดสและมีแผนจัดหาเพิ่มเติมอีกประมาณ 50 ล้านโดส โดยแผนการจัดหาวัคซีนของไทยถูกปรับเพิ่มเติมขึ้นมาจาก 100 ล้านโดสในปี 2564 เป็น 150 ล้านโดสในปี 2565 (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มิ.ย.ที่ผ่านมา)  โดยขณะนี้ประเทศไทยมีการจัดหาดำเนินการเจรจาจองวัคซีนแล้ว 105.5 ล้านโดส ประกอบด้วย AstraZeneca 61 ล้านโดส, Sinovac 19.5 ล้านโดส, Pfizer 20 ล้านโดส, Johnson & Johnson 5 ล้านโดส

ประเทศไทยต้องเตรียมงบประมาณจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมให้ครบ 150 ล้านโดส โดยให้ภาครัฐจัดหาวัคซีนดังต่อไปนี้ วัคซีน Sinovac ประมาณ 28 ล้านโดส วัคซีนโควิด-19 อื่นๆ ประมาณ 22 ล้านโดส

162546827146

ขณะเดียวกัน ทาง ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ได้จัดหาวัคซีน Sinopharm ล็อตแรกจำนวน 1 ล้าน เพื่อจัดสรรให้องค์กรต่างๆ เป็นวัคซีนทางเลือก ถึงประเทศไทยแล้วเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยได้มีการจัดสรรให้แก่องค์กรต่างๆ ที่แจ้งความประสงค์ต้องการวัคซีน

ส่วนวัคซีน Pfizer ที่สัญญาการลงนามเพื่อนำไปสู่การสั่งซื้อจะเข้าคณะรัฐมนตรีในวันที่ 6 ก.ค.นี้ เพื่อพิจารณา ซึ่งหากดำเนินการแล้วเสร็จคาดว่าจะสั่งซื้อได้ทันที แต่ขณะนี้ได้รับบริจาคมาจากสหรัฐอเมริกา 1.5 ล้านโดส คาดว่าจะนำเข้าไทยมาเร็วๆ นี้

สำหรับ วัคซีน Moderna ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนต้องจัดซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม ล่าสุด องค์การเภสัชกรรม ได้ออกมาชี้แจงว่ากำลังรอรพ.เอกชน จัดส่งงบและยอดสั่งซื้อมาอยู่ เพราะวัคซีนตัวนี้ไม่ได้รับการจัดสรรงบจากรัฐ แต่ใช้งบของเอกชน จึงต้องเตรียมงบ และให้ รพ. เอกชน 300 แห่งทั่วประเทศรวบรวมความต้องการส่งให้สมาคม รพ.เอกชน ซึ่งมีการเสนอเข้ามาเบื้องต้น 9 ล้านโดส แต่ อภ. สนองตอบได้ในไตรมาส 4 จำนวน 4 ล้านโดส และอีก 1 ล้านโดส ในต้นปี 2565 ดังนั้น ปัจจุบันยังไม่มีการเซ็นสัญญาสั่งซื้อวัคซีน Moderna

  • ประชาชนแห่จองวัคซีนทางเลือก 'Moderna'

ขณะนี้แม้ไทยยังไม่ได้ทำสัญญาในการสั่งของ วัคซีน Moderna แต่ปรากฏว่าเมื่อทางโรงพยาบาลเอกชน รวมถึงโรงพยาบาลรัฐบางแห่ง ได้มีการเปิดให้ประชาชนจองฉีดวัคซีน Moderna กลับพบว่า หลายๆ แห่งมีการจองเต็มอย่างรวดเร็ว  ไม่ว่าจะเป็น รพ.เมดพาร์ค ที่ได้ประกาศว่ามีผู้ลงทะเบียนจองวัคซีน วัคซีน Moderna เต็มจำนวนที่เปิดรับไว้เรียบร้อย เช่นเดียวกับ รพ.รามาธิบดี ที่ได้เปิดของวัคซีนทางเลือก Moderna พบว่า ภายใน 2 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ของเสร็จ มีผู้ที่จองสำเร็จและต้องชำระเงินเต็มจำนวน เรียบร้อย และขณะนี้ได้มีการปิดการจอง  

รวมถึง รพ.เอกชนอื่นๆ ก็ปิดการจองเช่นกัน อาทิ โรงพยาบาลวิภาวดี ประกาศขออภัยปิดรับจองวัคซีน โมเดอร์นา เนื่องจากปริมาณผู้ต้องการ จำนวนมากเกินความคาดหมาย ทำให้ปริมาณวัคซีนที่ โรงพยาบาล วิภาวดีจองไว้กับองค์การเภสัชกรรม มีผู้จองเต็มจำนวนแล้ว โรงพยาบาลจำเป็นต้องปิดรับจองก่อนเวลาที่กำหนดไว้ หากสามารถเปิดรับจองเพิ่มได้อีก โรงพยาบาลจะรีบประกาศให้ทราบ  หรือ โรงพยาบาลธนบุรี ประกาศ ปิดระบบการจองวัคซีน โมเดอร์นา และ ขอขอบคุณผู้จองวัคซีนทางเลือกทุกท่าน โรงพยาบาลอาจจะเปิดรับจองวัคซีนอีกครั้ง หากทราบแน่นอนถึงจำนวนวัคซีนที่ได้รับ  และโรงพยาบาลวิชัยยุทธ  โรงพยาบาลพระราม 9  โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล ก็ปิดการจองเช่นเดียวกัน

ด้าน นพ.บุญ วนาสิน ประธานกรรมการบริษัทธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวผ่านรายการ เรื่องเด่นเย็นนี้เสาร์-อาทิตย์ วันที่ 4 ก.ค.ที่ผ่านมา ว่า โรงพยาบาลเครือธนบุรีได้แสดงความจำนงไปที่องค์การเภสัชกรรม 2 ล้านโดส จากจำนวนทั้งหมดกว่า 9 ล้านโดส อีกทั้ง รพ.เอกชนกว่า 300 แห่ง ไม่มีปัญหาเรื่องเงินที่สั่งจองวัคซีน ยินดีจ่ายเงิน ซึ่งในสัปดาห์หน้านัดหมายจ่ายเงินกับ อภ.แล้ว

162546836590

  • เปิดรายชื่อรพ.จองวัคซีนทางเลือก 'Moderna'

สำหรับ วัคซีนทางเลือก Moderna  อภ.จะเป็นส่วนกลางจัดสรรวัคซีน ให้กับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ในช่วงไตรมาส 4/2564 ถึงต้นเดือน ม.ค. 65 จำนวน 5 ล้านโดส ภายหลังทบทวนจำนวนผู้ลงทะเบียนฉีดวัคซีนทางเลือกและราคาที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บ กระทั่งจัดส่งวัคซีน โดยขณะนี้มีโรงพยาบาลเอกชนต่างๆ เปิดจองอย่างเป็นทางการในราคาเข็มละ 1,700 บาท ซึ่งผู้เข้ารับการฉีดวัคซีนจะต้องฉีดทั้งหมด 2 เข็ม

โรงพยาบาลที่เปิดรับลงทะเบียนวัคซีนโควิดทางเลือก กรุงเทพฯ ปริมณฑล

  1. โรงพยาบาลวิภาวดี
  2. เครือโรงพยาบาล BCH
  3. โรงพยาบาลพระรามเก้า
  4. โรงพยาบาลบางโพ
  5. โรงพยาบาลจุฬารัตน์
  6. โรงพยาบาลจุฬารัตน์ 3
  7. โรงพยาบาลธนบุรี 1
  8. โรงพยาบาลธนบุรี 2
  9. โรงพยาบาลธนบุรี บำรุงเมือง
  10. โรงพยาบาลบางปะกอก 9 อินเตอร์เนชั่นแนล

ลงทะเบียนฉีดวัคซีนโควิดทางเลือกโรงพยาบาลต่างจังหวัด

  1. โรงพยาบาลธนบุรี บูรณาการ จ.ปทุมธานี
  2. โรงพยาบาลภัทร-ธนบุรี จ.ปทุมธานี
  3. โรงพยาบาลราชธานี จ.พระนครศรีอยุธยา
  4. โรงพยาบาลธนบุรี อู่ทอง จ.สุพรรณบุรี
  5. โรงพยาบาลลานนา จ.เชียงใหม่
  6. โรงพยาบาลรวมแพทย์ พิษณุโลก
  7. โรงพยาบาลอุบลรัตน์ธนบุรี จ.อุบลราชธานี
  8. โรงพยาบาลราชพฤกษ์ จ.ขอนแก่น
  9. โรงพยาบาลร้อยเอ็ดธนบุรี จ.ร้อยเอ็ด
  10. โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ ธนบุรี จ.กาฬสินธุ์
  11. โรงพยาบาลสิโรรส จ.ยะลา
  12. โรงพยาบาลราษฎร์ยินดี จ.สงขลา
  13. โรงพยาบาลธนบุรี ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช
  14. โรงพยาบาลธนบุรี ชุมพร จ.ชุมพร
  15. โรงพยาบาลสิริเวช จ.จันทบุรี

  • ‘10 ล้านโดส การฉีดวัคซีนโควิด 19 ในไทย"

ศ.ดร.นพ. สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่าขณะนี้ประเทศไทยได้ฉีดวัคซีนโควิด 19 แล้ว เป็นจำนวนถึง 10 ล้านโดส โดย 1 ล้านโดสแรกใช้เวลาถึง 54 วัน และใช้เวลารวม 101 วันในการฉีดครบ 5ล้านโดสแรก แต่ได้เร่งความเร็วในการฉีดเมื่อประกาศเป็นวาระแห่งชาติ โดยใช้เวลาเพียง 23 วันในการฉีดอีก 5 ล้านโดส ฉะนั้น  ขณะนี้มีประชากร 11.1% ที่ได้รับวัคซีนโควิด 19 แล้วอย่างน้อยหนึ่งเข็ม และมี 4.3% ที่ฉีดครบสองเข็มแล้ว

ในการฉีดวัคซีน 10 ล้านโดส นี้ มีการใช้วัคซีนโควิด 19 จำนวน 3 ชนิด ได้แก่ Sinovac 62.6% ของจำนวนโดส , AstraZeneca 36.8% และ Sinopharm 0.6%    แต่ในแง่จำนวนคนนั้น มีคนที่ได้วัคซีนสองชนิดจำนวนพอๆ กัน คือ  AstraZeneca จำนวน 3,705,978 คนได้รับวัคซีน และ Sinovac 3,600,823 คน

  • แผนการจัดหาวัคซีนแต่ละล็อตของไทย

การดำเนินการจัดหาวัคซีนในแต่ละล็อตนั้น เป็นหน้าที่ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งมอบหมายให้กรมควบคุมโรค และองค์การเภสัชกรรม เป็นผู้ดำเนินการ แต่วัคซีนที่นำเข้ามาต้องผ่านการอนุมัติจากคณะรัฐมนตรี เพราะต้องใช้งบประมาณของรัฐ  การจัดหาวัคซีนที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ สามารถสรุปได้ดังนี้  

17 พ.ค. 2563 ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด 19 วงเงิน 2,379,430,600 บาท ให้สธ. โดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เพื่อดำเนินการจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้าจากบริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท AstraZeneca UK 

162546839778

ต่อมาวงเงินงบประมาณที่อนุมัติเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดหาวัคซีน สำหรับประชาชนไทยโดยการจองวัคซีนแอสตราเซเนกาล่วงหน้า ภายใต้กรอบวงเงินรวม 6,049,723,117 บาท ประกอบด้วย งบจัดหาวัคซีนโดยการจองล่วงหน้า วงเงิน 2,379,430,600 บาท รับผิดชอบโดยสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ,จัดซื้อวัคซีนที่ได้จากการจองล่วงหน้าเมื่อคู่สัญญาสามารถจัดหาวัคซีนให้ได้สำเร็จ วงเงิน 1,586,287,067 บาท รับผิดชอบโดยกรมควบคุมโรค และเงินบริหารจัดการวัคซีน วงเงิน 2,084,005,450 บาท รับผิดชอบโดยกรมควบคุมโรค

5 ม.ค. 2564 ครม.มีมติรับทราบความคืบหน้าการจัดหาวัคซีนโรคโควิด-19 เพิ่มเติมให้ครอบคลุมประชากรไทยในปี 2564 จำนวน 33 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 50 ของประชากรทั้งประเทศ ประกอบด้วย

การจัดหาวัคซีนจากการตกลงแบบทวิภาคี โดยสั่งจองล่วงหน้ากับบริษัท แอสตราเซเนกา จำกัด ร้อยละ 20 (จำนวน 26,000,000 โดส) คาดว่าจะได้รับวัคซีนประมาณเดือนมิถุนายน 2564 และที่ประชุมมีมติให้พิจารณาสั่งซื้อเพิ่มอีก 35 ล้านโดส รวมจำนวนวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ประเทศไทยจัดหาจำนวน 61 ล้านโดส

การจัดหาวัคซีนจากแหล่งอื่น ร้อยละ 10 กระทรวงสาธารณสุขได้เจรจาซื้อวัคซีนซิโนแวคเพื่อให้ได้รับวัคซีนเร่งด่วนภายในไตรมาสแรกของปี 2564 จำนวน 2 ล้านโดส วงเงินงบประมาณ 1,228,208,000 บาท การจัดหาวัคซีนจากโครงการ COVAX Facility ร้อยละ 20 อยู่ระหว่างการพิจารณาเงื่อนไขและเจรจาต่อรอง

19 ม.ค. 2564 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติปรับกรอบงบประมาณโครงการจัดหาวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยการจองวัคซีนแอสตราเซเนกาล่วงหน้า จำนวน 21 ล้านโดส ที่ลงนามเมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2563 เพิ่มเงินงบประมาณ 166,530,000 บาท จากวงเงินเดิม 6,049.72 ล้านบาท เป็นวงเงินงบประมาณ 6,216.25 ล้านบาท เพื่อให้มีงบประมาณเพียงพอสำหรับจ่ายค่าภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย

2 ก.พ. 2564 ครม.มติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564  วงเงิน 2,741,336,000 บาท ให้กรมควบคุมโรคดำเนินการภายใต้โครงการจัดหาวัคซีน ในส่วนที่กรมควบคุมโรคมีหน้าที่ชำระเงินร้อยละ 40 ของค่าวัคซีน และบริหารจัดการวัคซีน ตามมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 17 พ.ย.2563

162546841840

  • ก.พ.ไทยเริ่มได้รับวัคซีนโควิด 19 เข้ามาแล้ว

24 ก.พ.2564 ไทยได้รับวัคซีนซิโนแว 200,000 โดส เป็นลอตที่ 1 จากสัญญาจัดซื้อ 2 ล้านโดส

2 มี.ค. 2564 ครม.มีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 กรอบวงเงิน 6,387,285,900 บาท ให้ สธ.จัดหาวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม 35 ล้านโดส ซึ่งระบุเป้าหมายเป็นวัคซีนแอสตราเซเนกาทั้ง 35 ล้านโดส

20 มีนาคม 2564 แผนการให้บริการวัคซีนโควิด-19 ที่ปลัดกระทรวงสาธารณสุขรายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังระบุว่าวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นวัคซีนหลักของไทย แบ่งเป็นการจัดหาครั้งแรกจำนวน 26 ล้านโดส และครั้งที่ 2 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2564 จำนวน 35 ล้านโดส ส่วนวัคซีนซิโนแวคอยู่ในแผนเพียง 2 ล้านโดส  นอกจากนั้น  ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวคจำนวน 800,000 โดส เป็นลอตที่ 2 จากสัญญาจัดซื้อ 2 ล้านโดส ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 มกราคม 2564 รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคแล้ว 1 ล้านโดส

10 เม.ย. 2564 ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค จำนวน 1 ล้านโดส เป็นลอตสุดท้ายจากสัญญาจัดซื้อ 2 ล้านโดส ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแจ้งให้คณะรัฐมนตรีรับทราบในการประชุมคณะรัฐมนตรี วันที่ 5 มกราคม 2564 รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคแล้ว 2 ล้านโดส

24 เม.ย.2564 ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค จำนวน 500,000 โดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค ณ เวลานั้นเป็นจำนวน 2.5 ล้านโดส

27 เม.ย.2564 ครม.มีมติรับทราบรายละเอียดโครงการจัดหาวัคซีนของซิโนแวค เพิ่มเติม จำนวน 500,000 โดส และมีมติอนุมัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการบรรเทา แก้ไขปัญหา และเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กรอบวงเงิน 321,604,000 บาท สำหรับจัดหาวัคซีนดังกล่าว

5 พ.ค. 2564 สธ.เสนอแผนการให้บริการวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 ต่อที่ประชุมครม.จำนวนวัคซีนในแผนรวม 100 ล้านโดส ซึ่ง ณ ขณะนั้นมีการจัดหาวัคซีนแล้ว 63 ล้านโดส จึงต้องจัดหาจัดซื้อวัคซีนเพิ่มเติมอีกจำนวน 37 ล้านโดสในแผนจัดซื้อจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมยังคงระบุวัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเป้าหมาย ภาพรวมของแผนจำแนกดังนี้

-วัคซีนซิโนแวค จำนวน 2.5 ล้านโดส (เดือนกุมภาพันธ์-เมษายน 2564)

-วัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 26 ล้านโดส (เดือนมิถุนายน-สิงหาคม 2564) และจัดหาเพิ่มเติมอีก 37 ล้านโดส

-วัคซีนแอสตราเซเนกา จำนวน 35,000,000 โดส (เดือนกันยายน-ธันวาคม 2564)

  • เร่งจัดหาวัคซีนเพิ่มเป็น 100 ล้านโดส 

อย่างไรก็ตาม ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเพียงรับทราบแผนการจัดหาและการฉีดวัคซีนเพิ่มเป็น 100 ล้านโดส ไม่ได้มีติเห็นชอบจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกา เพิ่ม 37 ล้านโดส แต่มีมติเห็นชอบในหลักการการจัดหาวัคซีนให้หลากหลาย โดยแบ่งเป็น

ภาครัฐจัดหาวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer Biontech) จำนวน 5-20 ล้านโดส

สปุตนิก วี (Sputnik V) จำนวน 5-10 ล้านโดส

จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (Johnson & Johnson) จำนวน 5-10 ล้านโดส

162546844734

ซิโนแวค จำนวน 5 ล้าน-10 ล้านโดส

วัคซีนอื่นๆ เช่น โมเดอร์นา (Moderna), ซิโนฟาร์ม (Sinopharm), ภารัต (Bharat) หรือวัคซีนอื่นที่จะมีการขึ้นทะเบียนในอนาคต โดยมอบหมายให้กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการ

ขณะที่ภาคเอกชนจัดซื้อวัคซีนอื่นๆ เพิ่มเติม ตามแนวทางความร่วมมือการจัดหาวัคซีนระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน

6 พ.ค. 2564 ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค อีก 1 ล้านโดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค ณ เวลานั้นเป็นจำนวน 3.5 ล้านโดส

14 พ.ค. 2564  วัคซีนซิโนแวค จำนวน 500,000 โดสที่ประเทศจีนบริจาคให้ไทยถูกขนส่งมาถึงประเทศไทย รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค เป็นจำนวน 4 ล้านโดส

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: เต็มแล้ว! ยอดจอง 'โมเดอร์นา' วันแรก เต็มภายใน 1 ชั่วโมง

                     เปิดเอกสาร! วัคซีน 'ไฟเซอร์' กำลังมา ใครจะได้ฉีด ?

                     ใกล้ยึดประเทศ ‘สายพันธุ์เดลต้า’ แพร่ระบาดทั่วไทย

  • จัดหาวัคซีนโควิด 19 150 ล้านโดส ภายในปี 2565

15 พ.ค.2564 ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค อีก 500,000 โดสที่จัดซื้อจัดหาเพิ่มเติม รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค (รวมวัคซีนที่จีนบริจาค) เป็นจำนวน 4.5 ล้านโดส

17 พ.ค. 2564 อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ลงนามรับมอบวัคซีนซิโนแวค จำนวน 500,000 โดสที่ได้รับบริจาคจากรัฐบาลจีน ซึ่งขนส่งมาถึงไทยเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม

20 พ.ค.2564 ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค อีก 1.5 ล้านโดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค (รวมทั้งวัคซีนที่จีนบริจาค 500,000) เป็น 6 ล้านโดส

5 มิ.ย. 2564 วัคซีน ซิโนแวค จำนวน 500,000 โดสที่ประเทศจีนบริจาคให้ไทยถูกขนส่งมาถึงประเทศไทย รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคเป็นจำนวน 6.5 ล้านโดส

10 มิ.ย. 2564 ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวค จำนวน 1 ล้านโดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวค (รวมทั้งวัคซีนที่จีนบริจาค 1 ล้านโดส) เป็นจำนวน 7.5 ล้านโดส

162546848436

18 มิ.ย. 2564 ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) อนุมัติแผนจัดหาวัคซีนต้านโควิด-19 เพิ่มกรอบการจัดหาวัคซีนเดิม 100 ล้านโดสภายในปี 2564 เป็น 150 ล้านโดสภายในปี 2565

23 มิ.ย.2564 ไทยได้รับวัคซีนซิโนแวคอีก 2 ล้านโดส รวมยอดการนำเข้าวัคซีนซิโนแวคจากประเทศจีน (รวมทั้งวัคซีนที่จีนบริจาค 1 ล้านโดส) เป็นจำนวน 9.5 ล้านโดส

30 มิ.ย.2564 ไทยจัดหาและจองวัคซีนซิโนแวคแล้ว 19.5 ล้านโดส และมีแผนจะจัดหาจัดซื้อเพิ่มอีก 28 ล้านโดส ตามกรอบการจัดหาวัคซีน 150 ล้านโดส ภายในปี 2565

  • 6 ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับ ‘วัคซีนโควิด 19’ที่ควรทราบ

อว.ได้มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงเกี่ยวกับวัคซีน ระบุว่า วัคซีนโควิด 19สามารถลดการเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ จากการศึกษาในภูเก็ต สมุทรสาคร และเชียงราย นอกจากนั้น ฉีดวัคซีนแล้วยังมีโอกาสติดเชื้อและแพร่เชื้อได้ ผู้ควรรับวัคซีนเป็นลำดับแรก คือ บุคลากรทางการแพทย์และบุคลากรด่านหน้าในการควบคุมโรค ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีโรคประจำตัวเรือรัง

ผู้ที่ยังไม่ควรได้รับวัคซีน เช่นผู้ที่กำลังป่วยและร่างกายอ่อนเพลีย หญิงมีครรภ์ไตรมาสแรก ผู้มีโรคประจำตัวรุนแรงที่อาการยังไม่คงที่ ผู้ที่มีอายุน้อยกว่า 18 ปี ยังไม่สามารถรับวัคซีนได้ เนื่องจากยังต้องประเมินประสิทธิภาพและความปลอดภัยในประชากรกลุ่มนี้ วัคซีนที่ผลิตในปัจจุบันส่วนใหญ่พัฒนามาจากไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดในช่วงแรก จึงอาจทำให้ประสิทธิภาพการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ลดลง

162546856057

  • ‘หมอยง’ แนะฉีดวัคซีน ป้องกันสายพันธุ์เดลต้า

ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ. หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะ​แพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสผ่านเฟสบุ๊ค  yong poovorawan  ระบุว่า องค์ความรู้ สถานการณ์ เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เป็นที่ทราบกันดีว่าขณะนี้ สายพันธุ์เดลต้า แพร่กระจายได้เร็วมาก เพราะติดต่อง่าย จึงทำให้สายพันธุ์นี้ระบาดได้อย่างรวดเร็ว และจะครอบคลุมทั้งโลก ประเทศไทย สายพันธุ์นี้จะมาแทนที่สายพันธุ์อังกฤษหรือแอลฟา ภายในเดือนนี้ เพราะติดต่อและระบาดได้ง่ายกว่า สายพันธุ์อังกฤษ จะทำให้ตัวเลขสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว

วัคซีนทุกชนิด พัฒนามาจากสายพันธุ์เดิมตั้งแต่อู่ฮั่น ไวรัสก็มีการพัฒนามามากพอสมควร จึงทำให้ ประสิทธิภาพของ วัคซีน ลดลง  วัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันสูง การลดลงก็ยังทำให้พอจะป้องกันได้ดีกว่า ส่วนวัคซีนที่มีภูมิคุ้มกันขึ้นได้ต่ำกว่า ก็จะทำให้การป้องกันได้น้อยลงไปอีก

การพิจารณา ศึกษาวิจัยอย่างรวดเร็ว ทั้งชนิดของวัคซีน และการฉีด รวมทั้งระยะห่างของวัคซีนที่จะใช้ จึงจำเป็นที่จะต้องปรับให้เหมาะสม ที่จะให้ได้ผลสูงสุด ตามทรัพยากรที่มีอยู่ และมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยเฉพาะในประเทศไทย สิ่งที่ทำวันนี้ว่าเหมาะสม อาจจะไม่เหมาะสมในอีก 1 เดือนข้างหน้า หรือยิ่งนานไปก็จะต้องมีการปรับเปลี่ยนอีก การฉีดวัคซีนสลับระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 หรือการให้ในเข็มที่ 3 กระตุ้น จำเป็นต้องมีการศึกษาวา่รูปแบบใดจะให้ผลสูงสุด

การเพิ่มจำนวนการฉีด วัคซีนโควิด 19 มีความจำเป็นที่จะกระตุ้นให้ ภูมิคุ้มกัน สูงขึ้น และรอจนกว่าจะมีวัคซีนที่ใช้สายพันธุ์ใหม่ ที่เหมาะสมตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาด อย่างเช่นวัคซีนไข้หวัดใหญ่ ก็จะได้ผลประโยชน์สูงสุด

ในขณะที่ยังไม่มีวัคซีนสายพันธุ์ใหม่ เมื่อมีวัคซีนอะไร ก็ควรฉีดเข้าร่างกายให้เร็วที่สุด อย่างน้อยก็มีภูมิต้านทานขึ้นมาจำนวนหนึ่ง เพื่อลดความรุนแรงของโรค และป้องกันการเสียชีวิต ไว้ก่อน จนกว่าจะมีวัคซีน ที่นำมากระตุ้น ให้ได้ภูมิคุ้มกันสูงสุด เร็วที่สุด และรอ วัคซีนสายพันธุ์ใหม่ที่ตรงกับสายพันธุ์ที่ระบาดหรือคาดว่าจะระบาดในปีต่อไป

ถ้าไวรัสนี้ยังมีการระบาดมากในโลก ก็จะพัฒนาเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ต่อไปเรื่อยๆ

ทั่วโลกมีความต้องการวัคซีนมากกว่า 10,000 ล้านโดส ภายในปีนี้ และยังต้องการวัคซีนมากระตุ้นอีกไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้อีกต่อไป จึงทำให้วัคซีนไม่เพียงพอกับประชากรโลก ประเทศผู้ผลิต หรือประเทศพัฒนาแล้ว จะมีความได้เปรียบกว่า