'Home Isolation' รับเฉพาะผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว แก้ปัญหาเตียงเต็ม

'Home Isolation' รับเฉพาะผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเขียว แก้ปัญหาเตียงเต็ม

มาตรการ 'Home Isolation' หรือ 'กักตัวที่บ้าน' เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยลดความแออัดในโรงพยาบาล แก้ปัญหาเตียงเต็ม

แต่ทั้งนี้ ใช่ว่า 'ผู้ป่วยโควิด 19' กลุ่มสีเขียว กลุ่มที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยทุกคนจะต้องเข้าร่วมมาตรการ 'Home Isolation' แต่ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ เป็นมาตรการที่ใช้เฉพาะพื้นที่กทม. และปริมณฑลบางจังหวัดเท่านั้น

จากจำนวนผู้ป่วยรายใหม่ โควิด 19 ที่นับวันจำนวนจะเพิ่มขึ้นเป็น 4,000-5,000 คน ล่าสุด (วันที่ 1 ก.ค.2564) ศูนย์ข้อมูล COVID-19 ของรัฐบาลและศูนย์ EOC กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รายงานข้อมูลเบื้องต้น สถานการณ์ผู้ติดเชื้อโควิด-19 พบผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 5,533 ราย จำแนกเป็นการติดเชื้อใหม่ 5,489 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 44 ราย หายป่วยกลับบ้าน 3,223 ราย ผู้ป่วยสะสม 235,971 ราย (ตั้งแต่ 1 เมษายน) และเสียชีวิตเพิ่มอีก 57 ราย และทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมพุ่งขึ้นไปอยู่ที่ 2,080 ราย

ยอดผู้ติดเชื้อรายใหม่มากกว่าผู้ป่วยหายแล้วกลับบ้านได้ ส่งผลให้เตียงในโรงพยาบาลเข้าขึ้นวิกฤต ไม่เพียงพอในการรองรับผู้ป่วย ทางรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ออกมาตรการ 'Home Isolation' หรือ 'กักตัวที่บ้าน' ซึ่งเป็นมาตรการสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดที่ไม่มีอาการ และมีอายุน้อยกว่า 60 ปี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ เป็นทางออกแก้ปัญหาเตียงไม่พอกับผู้ป่วย โดยเฉพาะในกทม. และปริมณฑลที่กำลังประสบปัญหาอย่างหนัก ไม่ว่าจะเป็นผู้ป่วยกลุ่มไหน สีเขียว สีเหลือง หรือสีแดง

162515264564

พญ.นฤมล สวรรค์ปัญญาเสิศ”  นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่าขณะนี้สถานการณ์เตียงในโรงพยาบาลกำลังจะเข้าสู่ภาวะวิกฤต ในหลายๆ โรงพยาบาลไม่มีเตียงรองรับผู้ป่วย เพราะจำนวนผู้ป่วยโควิด 19 เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกัน การดูแลรักษาคนไข้ในโรงพยาบาล ไม่ใช่เฉพาะผู้ป่วยโควิด 19 ทั่วนั้น ยังต้องดูแลผู้ป่วยจากโรคอื่นๆ ร่วมด้วย

เบื้องต้นมีผู้ป่วยโควิด 19 กลุ่มสีเขียวที่ยินยอมรักษาตัวที่บ้าน เฉพาะในเขตกทม.และปริมณฑลบางจังหวัด ประมาณ 1,800 กว่าคน ซึ่งทางสธ.จะมีเจ้าหน้าที่กระทรวงสาธารณสุข และโรงพยาบาลเข้าไปดูถึงความพร้อมของที่พัก สภาพแวดล้อมต่างๆ รวมถึงจะต้องมีการตรวจอาการคนไข้อย่างละเอียด เพราะทางสาธารณสุขอยากให้ผู้ป่วยโควิด 19 ทุกรายได้อยู่โรงพยาบาล” พญ.นฤมล กล่าว

  • 'Home Isolation' กักตัวที่บ้านแต่ดูแลเหมือนอยู่รพ.

แต่ตอนนี้เมื่อเตียงในโรงพยาบาลมีจำกัดก็ต้องให้ 'ผู้ป่วยโควิด 19' ที่ไม่แสดงอาการ หรืออาการไม่รุนแรงสามารถกักตัวที่บ้านได้ แต่ต้องเป็นไปตามดุลยพินิจของแพทย์ อีกทั้งผู้ป่วยเองเมื่ออยู่ในมาตรการ 'Home Isolation' หรือ 'กักตัวที่บ้าน' ก็ต้องปฎิบัติตามคำสั่งแพทย์ บุคลากรทางการแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะการไม่ออกมาจากบ้าน หรือห้องของตนเอง

พญ.นฤมล กล่าวต่อว่าอย่างไรก็ตามจะมีเจ้าหน้าที่และทีมแพทย์ ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด โดยจะมีการจัดอุปกรณ์วัดไข้ เครื่องออกซิเจน รวมถึงอาหารทั้ง 3 มื้อให้แก่ผู้ป่วยถึงที่บ้าน ซึ่งทางสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)เข้ามาดูแลช่วยเหลือส่วนนี้

ดังนั้น ต่อให้ผู้ป่วยกักตัวอยู่ที่บ้าน เพื่อรอแอดมิตเข้าโรงพยาบาล หรือกลับไปรักษาตัวต่อที่บ้าน ก็จะได้รับการดูแล จากระบบบริการสุขภาพ และมีทีมแพทย์ พยาบาลติดตามตลอดเวลา อีกทั้งหากผู้ป่วยมีอาการรุนแรงขึ้น สามารถติดต่อเจ้าหน้าที่แพทย์ พยาบาลได้ 24 ชั่วโมง 'Home Isolation' ทุกคนจะได้รับการดูแลรักษาเสมือนอยู่ในโรงพยาบาล

“มาตรการดังกล่าวมีการจัดระบบดูแลผู้ป่วยอย่างเคร่งครัด และตอนนี้ดำเนินการเฉพาะในเขตกทม.และปริมณฑลบางจังหวัดเท่านั้น ซึ่งยังเป็นการนำร่องเพียงไม่กี่คนเพื่อดูว่ามีปัญหาหรืออุปสรรคอะไรบ้าง หากโรงพยาบาลมีเตียงพอผู้ป่วยโควิด 19 ทุกคนก็จะได้ไปรับการรักษาที่โรงพยาบาล สิ่งสำคัญที่สุด คือทุกคนต้องช่วยกัน เพราะโรคนี้ไม่เลือกว่าเป็นใคร ทุกคนมีโอกาสติดได้หมด ผู้ป่วยโควิด 19 ที่ต้อง Home Isolation ก็ต้องปฎิบัติตามแนวปฎิบัติอย่างเคร่งครัด อย่าออกจากบ้าน ออกจากห้อง อย่าแพร่กระจายเชื้อให้แก่ผู้อื่น และหากมีอาการ ขอให้โทรสายด่วน1668 ,1669 และ 1330พญ.นฤมล กล่าว

162515262430

อย่างไรก็ตาม การปฎิบัติตัวของผู้ป่วย 'Home Isolation' ถือเป็นเรื่องสำคัญที่สุด เพราะหากติดเชื้อแล้วมองว่าไม่มีอาการ ไปไหนมาไหนก็ได้ การแก้ปัญหาเตียงเต็ม ควบคุมลดแพร่ระบาดของโควิด 19 คงไม่ได้ผลตามที่หวังไว้

ทั้งนี้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 'สปสช.' จะสนับสนุนค่าบริการให้แก่โรงพยาบาลที่ใช้มาตรการ  'Home Isolation' ตั้งแต่ค่าตรวจหาเชื้อ ค่ารักษา ค่ายา และยังจะสนับสนุนค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท และค่าดูแลผู้ป่วยร่วมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท/วัน เป็นเวลา 14 วันให้ด้วย

โดยหลักการคือดูแลเสมือนอยู่ในโรงพยาบาล มีอุปกรณ์ให้ มีระบบการดูแลติดตามอาการทุกวัน และมีการส่งข้าว ส่งน้ำให้ 3 มื้อ โดยโรงพยาบาล จะประกอบอาหารจากโรงครัวแล้วส่งให้ผู้ป่วยที่บ้าน หรืออาจสั่งซื้ออาหารจากร้านค้าแล้วใช้บริการจัดส่งอาหารไปส่งให้ผู้ป่วยก็ได้

  •  7 มาตรการ 'Home Isolation' ต้องทำอย่างไร?

1.เกณฑ์พิจารณาผู้ป่วยโควิดดูแล 'Home Isolation'

**โรงพยาบาลประเมินอาการผู้ป่วยก่อนส่งกลับไปรักษาที่บ้าน

-คนไข้ที่ไม่แสดงอาการ แพทย์อนุญาตให้ไป 'Home Isolation' ได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้เกณฑ์และกฎที่กำหนดไว้

-คนไข้ที่แสดงอาการปานกลางถึงมาก และมีโรคแทรกซ้อน กลุ่มนี้ต้องรักษาตัวที่โรงพยาบาล

-ต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี

-ไม่มีอาการ (asymptomatic cases)

-สุขภาพร่างกายแข็งแรง

-อยู่คนเดียว หรือมีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน

-ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.)

-ไม่ป่วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์

-ผู้ป่วยยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด

-หากมีอาการ ขอให้โทรสายด่วน1668 ,1669 และ 1330

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :‘Home Isolation’ แยกกักตัวอยู่บ้าน ต้องทำอย่างไร?? ให้ปลอดภัย

                     'Home isolation' มาตรการเสริม รับวิกฤติเตียง 'โควิด-19' เต็ม

                     ทำอย่างไร เมื่อกลายเป็น 'ผู้ป่วยโควิดสีเขียว' และต้อง 'กักตัวที่บ้าน'

  • 'นพรัตน์' นำร่อง 'Home Isolation' 

โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ซี่งเป็นหนึ่งในโรงพยาบาลพื้นที่ กทม. สังกัดกรมการแพทย์ ดูแลรักษา 'ผู้ป่วยโควิด 19' โดยพบว่ามีความพร้อมและความคล่องตัวสูง ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษามาจากการตรวจหาเชื้อที่โรงพยาบาลจากสายด่วน กรมการแพทย์ 1668 และรับส่งต่อจากโรงพยาบาลใกล้เคียง ทั้งนี้หลังจากที่ ศบค. มีนโยบายให้ ผู้ป่วยกลุ่มสีเขียว อาการน้อยหรือไม่มีอาการรักษาตัวที่บ้าน'Home Isolationเพื่อให้มีเตียงรองรับดูแลผู้ป่วยอาการหนัก

นพ.สมบูรณ์ ทศบวร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนพรัตน์  เปิดเผยว่าได้เริ่มดำเนินการครั้งแรกในกลุ่มผู้ป่วยอาการสีเขียวที่ไม่มีอาการ และสมัครใจที่จะรักษาตัวที่บ้าน จำนวน 4 ราย ซึ่งโรงพยาบาลมีการให้คำแนะนำการปฏิบัติตนระหว่างรักษาตัวที่บ้าน พร้อมมอบอุปกรณ์ในการดูแลตนเอง เช่น อุปกรณ์วัดไข้ วัดระดับออกซิเจนในเลือด โดยใช้เทคโนโลยีในการสื่อสารระหว่างผู้ป่วยกับแพทย์ผู้ดูแลหากมีอาการเพิ่มมากขึ้น ก็จะสามารถรับมารักษาตัวในโรงพยาบาลได้อย่างทันท่วงที

162515271751

โดยได้ใช้พื้นที่อาคาร 5 ซึ่งเดิมวางแผนให้เป็นอาคารแพทยศาสตร์ศึกษา เมื่อเกิดสถานการณ์โควิด จึงได้ปรับแผนเพื่อใช้ดูแลผู้ป่วยโควิดกลุ่มสีเหลืองและสีแดงโดยเฉพาะ รวมทั้งสิ้น 100 เตียง นอกจากนี้ยังได้จัดตั้งหอผู้ป่วยโควิดส่วนขยายที่โรงพยาบาลนพรัตนราชธานี สาขาคุ้มเกล้า อีก 60 เตียง ดูแลผู้ป่วยสีเหลืองและสีเขียว

โดยจัดทีมสหวิชาชีพ 3 ทีม ซึ่งเป็นบุคลากรในโรงพยาบาล ปฏิบัติงานทีมละ 14 วัน ประกอบด้วยแพทย์ พยาบาล เภสัชกร เจ้าหน้าที่ และแพทย์สูตินารีเวช สำหรับดูแลผู้ป่วยโควิดแม่และเด็กโดยเฉพาะ เป็นต้น หมุนเวียนกันมาทำงาน หลายคนมีประสบการณ์จากการลงไปช่วยปฏิบัติงานรักษาผู้ป่วยโควิดในพื้นที่ จ.สมุทรสาคร ในช่วงที่มีการระบาดทำให้การดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดเป็นไปด้วยความคล่องตัว

ทั้งนี้ ข้อมูลล่าสุด วันที่ 30 มิถุนายน 2564 เวลา 8.00 น. มีผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลนพรัตนราชธานี ตั้งแต่ระลอกเมษายน-ปัจจุบัน รวมทั้งสิ้นจำนวน 1,199 ราย หายป่วยกลับบ้านได้กว่า 1,005 ราย