ทำอย่างไร เมื่อกลายเป็น 'ผู้ป่วยโควิดสีเขียว' และต้อง 'กักตัวที่บ้าน'

ทำอย่างไร เมื่อกลายเป็น 'ผู้ป่วยโควิดสีเขียว' และต้อง 'กักตัวที่บ้าน'

อย่างที่รู้กันว่า สถานการณ์เตียงรับผู้ป่วย 'โควิด-19' ขณะนี้เข้าขั้นวิกฤติ การ 'กักตัวที่บ้าน' หรือ 'Home isolation' ใน 'ผู้ป่วยโควิดสีเขียว' จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกเพื่อลดความแออัด อย่างไรก็ตามวิธีนี้ยังมีข้อจำกัดและข้อปฏิบัติที่ต้องเคร่งครัด

กระทรวงสาธารณสุข จับมือ ภาคเอกชน เตรียมพัฒนาเทคโนโลยีรองรับมาตรการ 'Home Isolation' ให้ผู้ป่วยโควิดสีเขียวรักษาที่บ้าน อาทิ ระบบติดตามตัว ระบบข้อความแจ้งเตือน ระบบการรายงานผลออกซิเจน และอุณหภูมิ ส่งไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัด เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงทีและเร็วที่สุด แพทย์แนะวิธีปฎิบัติตัวของ ผู้ป่วย 'โควิด-19' เมื่อจำเป็นต้อง 'กักตัวที่บ้าน' ('Home Isolation') ให้ปลอดภัยต่อตนเองและครอบครัว

วานนี้ (28 มิถุนายน 2564) นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ภายหลังตรวจเยี่ยมศูนย์ฉีดวัคซีน 'โควิด-19' โรงพยาบาลศรีธัญญาว่า สถานการณ์ 'โควิด-19' ในพื้นที่ กทม. และปริมณฑล ยังมีการระบาด ตัวเลขผู้ติดเชื้อสูงอย่างต่อเนื่อง โดยจะมีการประชุมเครือข่ายกรมการแพทย์และโรงเรียนแพทย์ เพื่อแก้ไขและจัดลำดับความสำคัญ การดูแลผู้ป่วยหนักสีแดงที่มีอาการรุนแรง ให้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีเตียงรองรับเพียงพอ ลดการเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด

162489890738

  • 'ผู้ป่วยโควิดสีเขียว' ที่ไม่มีอาการรักษาที่บ้าน

โดยมีข้อเสนอการดูแล 'กักตัวที่บ้าน' 'Home Isolation' เน้นใน 'ผู้ป่วยโควิดสีเขียว' ที่ไม่มีอาการรักษาที่บ้าน เพื่อเข้าระบบ ให้มีเตียงดูแลผู้ป่วยอาการหนัก ได้มีการหารือกับภาคเอกชนพัฒนาเทคโนโลยี เช่น จัดทำระบบติดตามตัว ระบบข้อความแจ้งเตือน และระบบการรายงานผลออกซิเจนและอุณหภูมิ รายงานผลไปยังโรงพยาบาลต้นสังกัดหรือโรงพยาบาลที่ดูแล ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมทันท่วงทีและเร็วที่สุด ป้องกันกรณีที่มีอาการหนักแต่ไม่ได้รับการดูแล 

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเดินหน้าพัฒนาแนวทางการดูแล 'ผู้ป่วยโควิดสีเขียว' ที่บ้าน ('Home Isolation') จะใช้เฉพาะพื้นที่กทม.อยู่ภายใต้การการพิจารณาของบุคลากรการแพทย์ และอยู่ในระบบการตรวจสอบ ติดตามอาการ หากอาการเปลี่ยนแปลงมีระบบส่งต่อไปรักษาตัวยัง รพ. หวังว่าจะได้รับความร่วมมือจากประชาชน คาดว่าจะใช้เพื่อลดปัญหาความแออัดในสถานพยาบาลสำหรับในบางเขตพื้นที่ ของ กทม.

ข่าวที่เกี่ยวข้อง 

 

  • แนวทาง 'Home isolation'

นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัส 'โควิด-19' ในประเทศไทยที่ขยายเป็นวงกว้างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งอาจทำให้การรองรับของสถานพยาบาลไม่เพียงพอต่อปริมาณผู้ป่วย กรมการแพทย์ จึงได้มีแนวทางปรับการรักษาให้สอดคล้องกับสถานการณ์ดังกล่าว โดยให้กลุ่มผู้ป่วยที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการ สามารถกักตัวรักษาได้ที่บ้าน ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ พยาบาล ซึ่งจะทำให้โรงพยาบาลสนาม สามารถบริหารจัดการเตียงให้กับผู้ป่วยที่มีอาการหนักได้

162489890740

โดยแนวทาง 'Home isolation' หรือ แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดที่บ้าน ว่า เบื้องตันให้โรงพยาบาลประเมินผู้ป่วย ที่มีอาการน้อย หรือ กลุ่มสีเขียว มีความยินยอมที่จะรักษาตัวอยู่ที่บ้าน จากนั้นจะประเมินปัจจัยแวดล้อม เช่นมีห้องนอน หรือ ห้องน้ำ ที่สามารถแยกการใช้งานได้หรือไม่ หากคนกลุ่มนี้มีโรคประจำตัวต้องเป็นผู้ที่มีอาการคงที่สามารถควบคุมโรคได้ ทีมแพทย์จะมีการส่งที่วัดไข้ / เครื่องวัดออกซิเจน ส่งให้กับผู้ป่วยที่บ้าน โดยจะมีทีมแพทย์ให้คำปรึกษา / สอบถามอาการผู้ป่วย ผ่านโทรศัพท์ วันละ 1 ครั้ง

หากมีไม่มีอาการ แพทย์จะสั่งจ่าย ยาฟ้าทลายโจร / แlต่ถ้าเริ่มมีอาการ หรือมีโรคประจำตัวที่สามารถควบคุมได้ แพทย์จะสั่งจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ไปที่บ้าน พร้อมกับส่งอาหารให้ผู้ป่วยที่บ้าน 3 มื้อ ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนนี้ ทางโรงพยาบาลจะเบิกจ่ายกับ สปสช. โดย เป็นค่าอุปกรณ์ไม่เกิน 1,100 บาท / ค่าดูแลผู้ป่วยร่วมอาหาร 3 มื้อ ไม่เกิน 1,000 บาท /วัน

  • นำร่อง 'ผู้ป่วยโควิดสีเขียว' 18 ราย

โดยวิธีการแบบ 'Home isolation' หรือ แนวทางการรักษาผู้ป่วยโควิดที่บ้านมีการนำร่องที่โรงพยาบาลราชวิถีในผู้ป่วย 18 ราย พบว่า 16 รายอาการดีขึ้น ส่วนอีก 2 รายอาการแย่ลง ถูกส่งกลับมารักษาต่อที่โรงพยาบาลราชวิถี เบื้องต้นการรักษาแนวทางดังกล่าว ใช้กับผู้ป่วยที่ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ส่วนผู้ที่อยู่ในสิทธิ์ประกันสังคม และ สิทธิ์ข้าราชการจะมีการหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป  ส่วนผู้ที่อยู่ในชุมชน หรือ ที่อยู่อาศัยไม่เอื้อต่อการแยกกักตัว ก็จะมีการให้ทำจุดพักคอย หรือ Community isolation ซึ่งจะมีการประสานกับกลุ่มจิตอาสาและผู้นำชุมชน ร่วมกันดูแล

162489891649

 

  • 7 ข้อควรปฏิบัติเมื่อ 'กักตัวที่บ้าน'

สำหรับกลุ่มผู้ติดเชื้อที่สามารถกักตัวได้ที่บ้าน ('Home Isolation') นั้น ต้องมีอายุน้อยกว่า 60 ปี ไม่มีอาการ (asymptomatic cases) มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง อยู่คนเดียว หรือ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย > 30 กก./ม.2 หรือ น้ำหนักตัว > 90 กก.) และที่สำคัญที่สุด ไม่ป่วย โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ และโรคอื่นๆ ตามดุลยพินิจของแพทย์ และผู้ป่วยยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเองอย่างเคร่งครัด โดยระหว่างนั้นให้ปฏิบัติ ดังนี้

1. ห้ามผู้ใดมาเยี่ยมบ้านระหว่างแยกกักตัว

2. ไม่เข้าใกล้หรือสัมผัสกับผู้สูงอายุหรือเด็กอย่างเด็ดขาด โดยรักษาระยะห่างอย่างน้อย 2 เมตร

3. แยกห้องพัก ของใช้ส่วนตัวกับผู้อื่น หากแยกห้องไม่ได้ควรแยกบริเวณที่นอนให้ห่างจากคนอื่นมากที่สุด และควรเปิดหน้าต่างให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่ควรนอนร่วมกันในห้องปิดที่ใช้เครื่องปรับอากาศ

4. หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารร่วมกัน ควรรับประทานในห้องของตนเอง หรือหากรับประทานอาหารด้วยกันควรแยกรับประทานของตนเองไม่รับประทานอาหารร่วมสำรับเดียวกันหรือใช้ช้อนกลางร่วมกัน และรักษาระยะห่างระหว่างกันอย่างน้อย 2 เมตร

5. สวมหน้ากากอนามัย หรือ หน้ากากผ้า ตลอดเวลาที่จะออกมาจากห้องที่พักอาศัย

6. ล้างมือด้วยสบู่หรือทำความสะอาดมือด้วย Alcohol gel ทุกครั้งที่จำเป็นจะต้องสัมผัสกับผู้อื่นหรือหยิบจับของที่จะต้องใช้ร่วมกับผู้อื่น

7. แยกซักเสื้อผ้า ผ้าขนหนู และเครื่องนอน ด้วยน้ำและสบู่หรือผงซักฟอก ควรใช้ห้องน้ำแยกจากผู้อื่น หากเลี่ยงไม่ได้ ให้ใช้คนสุดท้าย ปิดฝาชักโครกก่อนกดน้ำและหมั่นทำความสะอาดอยู่เสมอ

สิ่งสำคัญ คือ หมั่นสังเกตอาการตนเอง วัดอุณหภูมิทุกวัน หากมีอาการแย่ลง คือ มีอาการอย่างใดอย่างหนึ่งต่อไปนี้ เช่น หอบ เหนื่อย ไข้สูงลอย ไม่สามารถปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวันได้ ให้รีบโทรติดต่อโรงพยาบาลที่ท่านรักษาอยู่ และเมื่อต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้ใช้รถยนต์ส่วนตัว ไม่ใช้รถสาธารณะ พร้อมใส่หน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่เดินทางหากมีผู้ร่วมยานพาหนะมาด้วย ให้เปิดหน้าต่างรถเพื่อเพิ่มการระบายอากาศเพื่อความปลอดภัยแต่คนรอบข้าง