เอ็กซิมดันผู้ส่งออกเอสเอ็มอีแสนรายใน4ปี

เอ็กซิมดันผู้ส่งออกเอสเอ็มอีแสนรายใน4ปี

เอ็กซิมแบงก์ตั้งเป้าดันผู้ประกอบการส่งออกเพิ่ม 7 หมื่นรายเป็น 1 แสนราย ใน 4 ปี ผ่านการสนับสนุนด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการทั้งรายใหญ่และรายเล็ก เพื่อให้เกิดซัพพลายเชนในสายการผลิต พร้อมเปิดบริการใหม่ “สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร” เสริมสภาพคล่องต้นน้ำ

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย(เอ็กซิมแบงก์)เปิดเผยว่า ภายในระยะเวลา 4 ปี ธนาคารจะสนับสนุนให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเป็นผู้ประกอบการส่งออกไปยังต่างประเทศให้มากขึ้นหรือราว 1 แสนราย จากปัจจุบันที่มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีส่งออกอยู่เพียง 3 หมื่นราย จากผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในประเทศทั้งหมดราว 6 ล้านราย

ทั้งนี้ ในจำนวนผู้ประกอบการ 6 ล้านรายดังกล่าว เป็นผู้ประกอบการในระบบ 3.1 ล้านราย ส่วนที่เหลืออีกกว่า 2.7 ล้านราย เป็นผู้ประกอบการนอกระบบ ซึ่งผู้ประกอบการเหล่านี้จะแข่งขันกันในประเทศที่มีจำนวนประชากรเพียง 70 ล้านคนเท่านั้น ดังนั้น จึงไม่สามารถสร้างรายได้ดั่งตั้งใจ ขณะที่ ระยะ10 ปีที่ผ่านมา จีดีพีของประเทศเติบโตน้อยหรือเฉลี่ย 2% เท่านั้น

นอกจากนี้ สัดส่วนของผู้ประกอบการส่งออกเทียบผู้ประกอบการรวมในประเทศถือว่า มีน้อยมากหรือเพียง 1% ขณะที่ ประเทศคู่แข่งมีสัดส่วนผู้ประกอบการส่งออกต่อผู้ประกอบการในประเทศสูงกว่า 10%

“เศรษฐกิจไทยที่เติบโตเฉลี่ย 2% ต่อปี ขณะที่ จำนวนประชากรในประเทศเข้าสู่สังคมสูงวัย เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เวียดนาม อินโดนีเซียที่มีประชากรวัยทำงานในสัดส่วน 60-70% ฉะนั้น สนามรบในประเทศไม่มีศักยภาพแล้ว เพราะตลาดเล็ก การเพิ่มยอดขายยาก ฉะนั้น สิ่งที่เราควรทำ คือ ต้องออกไปหาตลาดต่างประเทศ”

เขากล่าวด้วยว่า ทางรอดของเอสเอ็มอีไทยจึงได้แก่ การเข้าไปเชื่อมโยงในวงจรการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งทำได้ 2 แนวทาง โดยแนวทางแรก คือ การยกระดับไปเป็นผู้ส่งออก ซึ่งแนวทางนี้อาจต้องใช้ระยะเวลาในการพัฒนาองค์ความรู้และเสริมประสบการณ์ในด้านต่างๆ

ส่วนแนวทางที่สอง สามารถทำได้ทันที ได้แก่ การสนับสนุนให้เอสเอ็มอีเข้าไปอยู่ในซัพพลายเชนของผู้ส่งออก โดยให้ธุรกิจส่งออกที่มีความแข็งแรงและมีประสิทธิภาพในการบริหารจัดการซัพพลายเชนค้ำจุนผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้มีโอกาสขายสินค้าเพิ่มมากขึ้นและยาวนาน

“ภายใต้ซัพพลายเชนที่แข็งแรงดังกล่าว ซึ่งคาดว่าปัจจุบันมีเอสเอ็มอีไทยจำนวนไม่น้อยเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชนผู้ส่งออกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง เนื่องจากภาคส่งออกไทยพึ่งพาวัตถุดิบในประเทศถึงเกือบ 70% ของมูลค่าส่งออกรวม”

ทั้งนี้ ธนาคารจึงพร้อมสนับสนุนเอสเอ็มอีไทยให้เข้าสู่หรือเชื่อมโยงกับซัพพลายเชนในวงจรการค้าระหว่างประเทศ ด้วยบริการใหม่ คือ สินเชื่อเครือข่ายธุรกิจครบวงจร เพื่อเสริมสภาพคล่องให้แก่ธุรกิจที่เป็นซัพพลายเออร์ของผู้ประกอบการรายใหญ่ (Sponsor)โดยไม่ต้องใช้หลักประกันเพิ่ม

โดยสามารถนำ Invoice มาใช้ยื่นขอสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษผ่าน Digital Platform ได้ วงเงินกู้สูงสุด 25% ของยอดขายรวมปีล่าสุด โดยอ้างอิงบนเครดิตที่แข็งแรงของ Sponsor บริการดังกล่าวช่วยให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อได้สะดวกขึ้นและมีต้นทุนต่ำลง มีความคล่องตัวในการดำเนินธุรกรรมทางออนไลน์ โดยไม่จำเป็นต้องเดินทางมาที่ธนาคาร

ขณะที่ Sponsor ซึ่งเป็นลูกค้าของธนาคารจะได้รับเครดิตเทอมเพิ่มจากคู่ค้าที่เป็นเอสเอ็มอีและมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน เป็นประโยชน์ในการขยายธุรกิจต่อไปในอนาคตข้างหน้า