กรมท่าอากาศยาน เคาะจ้างบริหารสนามบินภูมิภาค

กรมท่าอากาศยาน เคาะจ้างบริหารสนามบินภูมิภาค

กรมท่าอากาศยานเร่งศึกษาแผนโอนท่าอากาศยานภูมิภาค ชี้แนวทางเหมาะสม เตรียมชงจ้าง ทอท.บริหาร หวังเพิ่มรายได้พื้นที่เชิงพาณิชย์ เหตุรัฐวิสาหกิจสามารถปลดล็อคทำสัญญาเช่าพื้นที่ระยะยาว 30 ปี เชื่อจูงใจเอกชนร่วมลงทุน

นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ทย.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการศึกษาแนวทางให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. บริหารจัดการท่าอากาศยานภูมิภาคของ ทย. โดยระบุว่า ขณะนี้ ทย.อยู่ระหว่างศึกษาข้อกฎหมาย ประโยชน์ที่รัฐจะได้รับ และประชาชนจะต้องไม่เสียประโยชน์ในการดำเนินการเรื่องดังกล่าว เพื่อเตรียมนำไปเสนอกระทรวงคมนาคม และหารือร่วมกับ ทอท. ซึ่งปัจจุบันการศึกษาถือว่าคืบหน้าไปมากแล้ว

 

“ทย.เรายืนยันเสมอว่าการดำเนินการในเรื่องนี้ จะต้องเกิดประโยชน์ตอบแทนแก่รัฐสูงสุด และประชาชนจะต้องไม่เสียประโยชน์ ตอนนี้ถือว่ายังอยู่ในขั้นตอนการศึกษา เราเตรียมความพร้อมเสมอ หากกระทรวงฯ มีนโยบายในการเรียกดูผลศึกษา เราก็พร้อมที่จะนำเสนอ”

 

รายงานข่าวจาก ทย. เผยว่า การศึกษาความเป็นไปได้ในตอนนี้ ไม่ใช่แนวทางในการโอนสิทธิบริหารท่าอากาศยาน เพราะ ทย.ไม่สามารถโอนท่าอากาศยานให้ใครได้ เนื่องจากผิดกับข้อกฎหมาย แต่ศึกษาพบว่าแนวทางที่เหมาะสม คือการเปิดให้เช่าบริหาร และแบ่งรายได้ ซึ่งนโยบายของกระทรวงฯ มองว่าการมอบให้ ทอท.เช่าบริหารจะเป็นประโยชน์สูงสุด เกิดการบริหารอย่างคล่องตัวในระบบรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ หาก ทอ.เช่าบริหารท่าอากาศยาน จะสามารถบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในท่าอากาศยานให้เกิดรายได้มากกว่า ทย. เนื่องจากไม่มีข้อจำกัดการทำธุรกิจ อีกทั้ง ทอท.เป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่สามารถทำสัญญาเช่าต่อกรมธนารักษ์ด้วยระยะเช่าที่ยาวถึง 30 ปี มากกว่าขีดความสามารถของ ทย.ที่เช่าได้ในระยะสั้น 3 ปี ดังนั้น ทอท.จะสามารถบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ และดึงดูดเอกชนร่วมลงทุนได้

 

“จากการหารือกับกระทรวงฯ และ ทอท.ในขณะนี้ ทย.ยังยืนยันว่าไม่สามารถมอบสิทธิบริหารท่าอากาศยานกระบี่ให้ได้ เพราะกระบี่เป็นท่าอากาศยานหลักที่สามารถสร้างรายได้ให้ ทย. และปัจจุบัน ทย.ก็จัดใช้งบประมาณพัฒนาขีดความสามารถไปมากแล้ว อีกทั้งบุคลากรของ ทย.ยังสามารถบริหารจัดการจนมีรายได้และกำไรเพียงพอ”

 

อย่างไรก็ดี ผลการศึกษาจะมีการจ้าง ทอท.เข้ามาบริหารท่าอากาศยานภูมิภาคแห่งใดบ้าง ขณะนี้ยังไม่สามารถตอบได้ เนื่องจากต้องรอนำเสนอผลการศึกษาไปยังกระทรวงคมนาคม และหารือร่วมกับ ทอท.ก่อน แต่จากการศึกษาก่อนหน้านี้ มี 4 แห่ง ประกอบไปด้วย ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานอุดรธานี ท่าอากาศยานชุมพร และท่าอากาศยานบุรีรัมย์ ส่วนแนวทางการเพิ่มรายได้เพิ่มขึ้นนั้น เบื้องต้นประเมินว่า ทอท.สามารถพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสาร และหารายได้จากธุรกิจลานจอดรถ เป็นต้น

 

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า กระทรวงคมนาคมได้มีการหารือร่วมกับ ทย.และ ทอท. ก่อนหน้านี้ โดยพิจารณารูปแบบให้สิทธิบริหารท่าอากาศยานภูมิภาค ซึ่งพบว่าแนวคิดในการดำเนินการที่สามารถกระทำได้มี 2 รูปแบบ คือ 1.แบบกิจการร่วมค้า (Joint Venture หรือ JV) และ 2.ตั้งบริษัทนิติบุคคลเฉพาะกิจ (Special Purpose Vehicle หรือ SPV)

 

โดยท่าอากาศยานที่จะมีการเช่าบริหาร ประกอบด้วย 3 แห่ง ได้แก่ ท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานอุดรธานี เบื้องต้นจะเริ่มที่ท่าอากาศยานอุดรธานีเป็นแห่งแรก เพื่อให้เป็นต้นแบบในการดำเนินการของท่าอากาศยานอื่นๆ