พาณิชย์ ปลื้ม  ผลไม้ไทยเนื้อหอม ส่งออกตลาดจีนไตรมาสแรกพุ่ง

พาณิชย์ ปลื้ม  ผลไม้ไทยเนื้อหอม ส่งออกตลาดจีนไตรมาสแรกพุ่ง

กรมการค้าต่างประเทศ เผยไทยใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน  ในช่วงฤดูกาลผลไม้ไทย พบยอดส่งออกไปจีนคึกคัก โดยเฉพาะการค้าผ่านแดนไทย-จีน ส่งผลให้ปริมาณการขอ Form E พุ่ง แม้จะมีการระบาดของโควิด -19

นายกีรติ รัชโน อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า  ประเทศไทยเป็นเมืองแห่งผลไม้ ซึ่งในแต่ละปีผลผลิตภาคการเกษตรที่ออกสู่ตลาดมีปริมาณเพิ่มขึ้น และผลไม้ไทยเป็นที่นิยมของตลาดต่างประเทศเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะประเทศจีน จากสถิติการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค. – เม.ย.) กรมฯ ออกหนังสือรับรองฯ Form E ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) จำนวน 80,368 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 232,018 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้เป็นการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E สำหรับการส่งออกสินค้าผลไม้ จำนวน 30,431 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าการส่งออกกว่า 46,408 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.21 %  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า42,887 ล้านบาท โดยผลไม้ที่มีการส่งออกสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1. ทุเรียนสด  46.02%  2. ลำไย  27.09 %  และ 3. มะพร้าว  16.38% 

ผลไม้ที่ส่งออกส่วนใหญ่นั้น มาจากสวนผลไม้หรือโรงคัดบรรจุ (ล้ง) ของไทยที่ได้รับการขึ้นทะเบียนทั้งจากกรมวิชาการเกษตร (กวก.) และสำนักงานศุลกากรของจีน (GACC) ทำให้ลูกค้าต่างประเทศมั่นใจว่า ผลไม้จากไทยมีคุณภาพและได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหาร (GAP) และการขึ้นทะเบียนโรงงานผลิตสินค้าพืช (DOA) จากภาครัฐ

นอกจากนี้ ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2564 (ม.ค. – เม.ย.) สถิติการค้าผ่านแดนไทย-จีนเติบโตอย่างต่อเนื่อง มีมูลค่ารวม 102,271 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 54.25%  เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2563 ที่มีมูลค่า  66,303 ล้านบาท  ซึ่งแบ่งเป็นมูลค่าการส่งออก 51,793 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 44.53 % และมูลค่าการนำเข้า 50,478 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 65.68% โดยไทยยังคงได้ดุลทางการค้าต่อเนื่องที่ 1,316 ล้านบาท ซึ่งสอดคล้องกับการใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน (ACFTA) ของผู้ประกอบการในช่วงฤดูกาลผลไม้เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

  162399355419

 

จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ของไทย กรมฯ ยังคงให้บริการได้ตามปกติและได้ใช้ระบบออนไลน์มาปรับรูปแบบการปฏิบัติงานให้เจ้าหน้าที่สามารถอนุมัติงานผ่านระบบด้วยการ Work From Home เน้นการให้บริการที่สอดคล้องกับนโยบายเว้นระยะห่างทางสังคม (Social Distancing) ของภาครัฐ และยังคงตระหนักถึงความปลอดภัยของผู้รับบริการด้วยการเดินหน้ายกระดับการให้บริการด้วยนวัตกรรมดิจิทัลอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายของนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์  รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ที่มุ่งอำนวยความสะดวกทางการค้าให้แก่ผู้ประกอบการในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยการนำระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal: ESS) มาให้บริการออกหนังสือรับรองฯ เนื่องจากระบบ ESS ช่วยลดขั้นตอน ลดระยะเวลา และลดการสัมผัสเอกสารโดยไม่จำเป็นต้องมีการประทับตราและลงนามด้วยมือ เพราะระบบ ESS จะนำลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์จากฐานข้อมูลของกรมฯ มาพิมพ์บนหนังสือรับรองฯ โดยอัตโนมัติ ช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับความสะดวกรวดเร็วมากยิ่งขึ้น และสามารถลดเวลาในการขอรับบริการเหลือเพียง 10 นาที/ฉบับ 

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 2564 เป็นต้นไป กรมฯ จะให้บริการออกหนังสือรับรองฯ Form E ด้วยระบบการลงลายมือชื่อและตราประทับอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Signature and Seal: ESS) เฉพาะการส่งออกไปปลายทางประเทศจีน ดังนั้น เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อม จึงขอเชิญชวนให้ผู้ประกอบการยื่นคำขอจดทะเบียนเพื่อส่งตัวอย่างลายมือชื่อของกรรมการหรือผู้รับมอบอำนาจ และตราประทับของนิติบุคคล (ถ้ามี) ผ่านระบบลงทะเบียนผู้ประกอบการ Registration Database ของกรมฯ (http://reg-users.dft.go.th) ได้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป นอกจากนี้ วันที่ 10 มิ.ย.พ.ศ. 2564 ที่ผ่านมา กรมฯ ได้จัดฝึกอบรมออนไลน์ด้วยการใช้โปรแกรม Zoom หัวข้อ “กรอกฟอร์ม E ด้วยระบบ ESS อย่างไรให้ถูกต้อง” เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมให้ผู้ประกอบการ ปรากฏว่าได้รับความสนใจและได้รับความพอใจจากผู้เข้ารับการฝึกอบรมเป็นอย่างมาก เพราะผู้เข้ารับการฝึกอบรมสามารถสอบถามประเด็นข้อสงสัยจากวิทยากรได้โดยตรง