ฟื้นระบบเลือกตั้ง “รธน.40” เกมยาว “ระบอบประยุทธ์”

ฟื้นระบบเลือกตั้ง “รธน.40”  เกมยาว “ระบอบประยุทธ์”

รอบ ยกร่าง รัฐธรรมนูญ 2560 "คสช." คือ ผู้วางหลัก สร้างกติกา เพื่อให้ "อยู่ยาว" มารอบนี้ การแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ชัดเจนคือการ ปรับกติกา ชัดเจนอย่างยิ่ง ในเจตนา ที่ว่า "เขายังอยากอยู่อีกยาว"

       การยื่นญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 รอบนี้ ดูเหมือนขาดเอกภาพ โดยเฉพาะประเด็นแก้ระบบเลือกตั้งจากจัดสรรปันส่วนผสม บัตรเลือกตั้งใบเดียวไปเป็นระบบเสียงข้างมากซ้อน และบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แบบรัฐธรรมนูญ 2540

       เสียงที่สนับสนุนให้แก้คือ “พรรคพลังประชารัฐ-พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาธิปัตย์-พรรคชาติไทยพัฒนา”

       เสียงที่ไม่สนับสนุน คือ “พรรคก้าวไกล-พรรคเสรีรวมไทย-พรรคภูมิใจไทย”

       เหตุผลที่ขั้วรัฐบาล และขั้วฝ่ายค้านเสียงแตก มีเพียงอย่างเดียวคือการได้เปรียบ-เสียเปรียบของพรรคการเมืองในสนามเลือกตั้ง

162389569919

       ต่อประเด็นนี้ “เจษฎ์ โทณะวณิก” นักวิชาการด้านนิติศาสตร์ อดีตที่ปรึกษากรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้ให้เห็นภาพว่า ระบบเลือกตั้งแบบจัดสรรปันส่วนผสม บัตรเลือกตั้งใบเดียว และใช้การคำนวณ ส.ส.ที่พึงมีตามคะแนนความนิยมที่แท้จริงทำให้พรรคเพื่อไทยเสียเปรียบ เพราะได้ ส.ส.เขตเต็มคะแนนนิยม ทำให้มองว่าระบบเลือกตั้งแบบเก่าทำให้ได้ประโยชน์กว่า รวมถึงพรรคพลังประชารัฐที่มีกลุ่มนักการเมืองขั้วเก่าซึ่งดึงมาจากไทยรักไทย พลังประชาชน และประชาธิปัตย์ ชาติไทยพัฒนา มองว่าระบบเลือกตั้งนั้นง่ายกว่า คุ้นกว่า

       ส่วนพรรคก้าวไกล หรืออนาคตใหม่เดิม ถือว่าได้อานิสงส์ เช่นเดียวกับพรรคภูมิใจไทย

       “เหตุผลที่ กรธ. ออกแบบบัตรเลือกตั้งใบเดียวที่ไม่มีใครพูดถึงคือ เดิมการเลือกตั้งแบบรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐธรรมนูญ 2550 ที่ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ แต่ผลลัพท์ที่เกิดขึ้นคือผู้มีสิทธิเลือกตั้งมักกาบัตรแบบเขต และบัตรบัญชีรายชื่อเป็นพรรคการเมืองเดียวถึง 80% แต่มีเพียง 20% ที่เลือกผู้สมัครเขต แตกต่างจากบัญชีรายชื่อ ดังนั้นการออกแบบจึงกำหนดให้มีบัตรเลือกตั้งใบเดียว เพื่อใช้หลักพิจารณาเลือกผู้แทน ได้เต็มที่ ส่วนการคิดคะแนนนั้นเพื่อเป็นหลักประกันว่ ทุกคะแนนเสียงของประชาชนไม่ตกน้ำ”

162389543853

       กรณีปรับระบบไปใช้การเลือกตั้งแบบเสียงข้างมากซ้อนเหมือนรัฐธรรมนูญ 2540 ตามพรรคพลังประชารัฐเสนอ “นักวิชาการด้านนิติศาสตร์” มองว่า เป็นความย่ามใจของคนพลังประชารัฐที่คิดว่าจะชนะพรรคเพื่อไทย แต่กลับไม่ได้ดูข้อเท็จจริงอันสำคัญ

       “เลือกตั้งปี 2562 พรรคพลังประชารัฐส่งผู้สมัคร 350 เขต ได้ส.ส.​เข้าสภาฯ น้อยกว่าพรรคเพื่อไทยที่ส่งผู้สมัครเพียง 250 เขต แม้มีความพยายามบอกว่าคะแนนนิยมของพรรคพลังประชารัฐเหนือกว่าพรรคเพื่อไทย แต่แค่ 6 แสนเท่านั้น ดังนั้นหากปรับระบบเลือกตั้ง อาจจะเข้าทางพรรคเพื่อไทย และทำให้เขากลับมาชนะ ไม่ว่ากติกาเลือกตั้งจะเปลี่ยนไป เพราะพรรคเพื่อไทย หรือพรรคไทยรักไทย หรือพรรคพลังประชาชนเดิมมีความเข้มแข็ง ทั้งในภาคเหนือ และภาคอีสานเป็นทุน”

       ดังนั้นสิ่งที่ “พลังประชารัฐ” คิดว่าอยากชนะเลือกตั้งแบบแลนด์สไลด์ หากเปลี่ยนกติกาเลือกตั้งได้ เมื่อลองทำผลลัพท์อาจเข้าทาง “คนเพื่อไทย” ที่ถนัดและเข้มแข็งในระบบเลือกตั้งแบบเก่ามากกว่า

162389542014

       อย่างไรก็ดี “อ.เจษฎ์” มองผ่านเกมแก้รัฐธรรมนูญด้วยว่า สิ่งเดียวที่คนคิดแก้ระบบเลือกตั้งต้องการ คือเพื่อประโยชน์ทางการเมืองเท่านั้น และสิ่งนี้ถือว่า “อันตราย” เพราะอาจทำให้สถานการณ์การเมือง ย้อนกลับไปเป็นสภาพเก่า ที่ถูกตั้งฉายาว่าเผด็จการรัฐสภา - สภาผัวเมีย - องค์กรอิสระเป็นอัมพาต

       ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นจุดเริ่มต้นของวงจร “ล้มระบอบประชาธิปไตย” ไปสู่ยุค “เผด็จการทหาร”

162389562684

       แม้สภาพ “การเมือง” ปัจจุบันจะตกในสถานการณ์ไม่แตกต่างจากอดีตมากนักเพราะ“ระบอบประยุทธ์” ที่พรรคฝ่ายค้านขนานามให้ ปูทางผ่านการสร้างกติกาให้ผู้นำการเมืองปัจจุบันเข้มแข้ง-คุมเสียงข้างมากในสภาฯ-คุม ส.ว.ได้เบ็ดเสร็จ-องค์กรอิสระทำงานได้ไม่เต็มที่

       ดังนั้น เกมปรับระบบเลือกตั้งครั้งนี้ ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าเป็นการปูทางสร้างเกมยาวของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”นายกรัฐมนตรี และองคาพยพที่ปรารถนาอยู่ในอำนาจให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้.