การบินไทยลุ้นแผนฟื้นฟู ศาลล้มละลายชี้ชะตา 15 มิ.ย.

การบินไทยลุ้นแผนฟื้นฟู ศาลล้มละลายชี้ชะตา 15 มิ.ย.

ถือเป็นระยะเวลาราว 1 ปี บนเส้นทางฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน)

นับจากวันที่ 19 พ.ค. 2563 ตามมติของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอ เพื่อให้การบินไทยเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการ ตาม พ.ร.บ.ล้มละลาย ภายใต้คำสั่งศาลล้มละลายกลาง

ก่อนจะเริ่มเดินหน้าตามกระบวนการศาลล้มละลาย นัดไต่สวนเจ้าหนี้และเคาะบทสรุปของแผนฟื้นฟูนำยื่นต่อกรมบังคับคดี และเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์ ในวันที่ 2 มี.ค. 2564

บนเส้นทางฟื้นฟูกิจการของการบินไทยครั้งนี้ จึงกล่าวได้ว่า “ไม่หมู” หากนับตั้งแต่การนัดไต่สวนครั้งแรก มีลูกหนี้อย่างน้อย 16 ราย ยื่นคัดค้านแผนฟื้นฟู ส่งผลให้คดีฟื้นฟูกิจการของการบินไทยต้องนัดไต่สวนเพิ่มอีก 2 ครั้ง หรือแม้กระทั่งการนัดประชุมเจ้าหนี้ ที่มีเหตุเจ้าหนี้คัดค้านและต้องเลื่อนประชุมเจ้าหนี้ออกไปจาก 12 พ.ค.2564 เป็น 19 พ.ค.2564

หลังจากนั้นผ่านกระบวนการโหวตแผนฟื้นฟูจากเจ้าหนี้ ก้าวเข้าสู่การพิจารณาแผนฟื้นฟูจากศาลล้มละลายกลาง ที่มีการนัดพิจารณาในวันที่ 28 พ.ค.ที่ผ่านมา ก็เป็นเหตุต้องเลื่อนพิจารณาออกไป เนื่องจากมีเจ้าหนี้ยื่นคำร้องคัดค้านแผนฟื้นฟูกิจการและศาลรับไว้ จำนวน 2 ฉบับ พร้อมทั้งให้ผู้ทำแผนและเจ้าหนี้ชี้แจงเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ภายใน 7 วันหลังจากนั้น

โดยชนวนของการเลื่อนพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง จากคำร้องคัดค้าน 2 ฉบับนั้น มาจากการยื่นคัดค้านของเจ้าหนี้รายที่ 13020 ซึ่งเป็นพนักงานการบินไทย มีมูลหนี้ 548,390.42 บาท ยื่นคัดค้านเนื่องจากแผนฟื้นฟูไม่ได้ระบุวิธีการชำระหนี้ของเจ้าหนี้ดังกล่าว

ท้ายที่สุดนัดชี้ชะตาแผนฟื้นฟูการบินไทยจะเป็นอย่างไร คงต้องร่วมลุ้นในการพิจารณาของศาลล้มละลายกลาง 15 มิ.ย.2564 เวลา 10.00 น.

           

ขณะที่รายละเอียดของแผนฟื้นฟูการบินไทย ได้ระบุไว้ว่า การบินไทยจะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์และพัฒนาแบบองค์รวมภายใต้วิสัยทัศน์ใหม่ คือ สายการบินเอกชนคุณภาพสูง ที่ให้บริการเต็มรูปแบบ ด้วยความแข็งแกร่งของอัตลักษณ์ความเป็นไทย เชื่อมโยงประเทศไทยสู่ทั่วโลก และสร้างผลกำไรที่ดีอย่างต่อเนื่อง (Private High Quality Full Service)

เครื่องมือการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ผ่านกลยุทธ์ 4 ด้าน ได้แก่

1.เป็นสายการบินที่ลูกค้าเลือกเป็นอันดับแรก ด้วยทางเลือกผลิตภัณฑ์ตามความพึงพอใจของลูกค้า

2.เพิ่มศักยภาพด้านการพาณิชย์ ด้วยการปรับปรุงด้านการพาณิชย์ให้แข็งแกร่งขึ้น หารายได้มากขึ้น

3.การบริหารต้นทุนให้สามารถแข่งขันในอุตสาหกรรมการบินได้ อาทิ การปรับปรุงสัญญาเช่าเครื่องบินที่เป็นประโยชน์ต่อการบินไทย

4.เป็นองค์กรที่มีประสิทธิภาพสูงด้านการปฏิบัติการ และความปลอดภัยและการเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อเครือข่ายสายการบินพันธมิตรมายังจุดบินต่างๆ ในประเทศไทย

นอกจากนี้ การบินไทยมีแผนเพิ่มรายได้และลดค่าใช้จ่าย ผ่านการจัดตั้งฝ่ายขับเคลื่อนองค์กร และได้ริเริ่มโครงการใหม่จากพนักงานทุกระดับและสายงานกว่า 600 โครงการ ซึ่งคาดว่าจะทำให้การบินไทยเกิดกำไรก่อนดอกเบี้ยและภาษี (EBIT) ประมาณ 10% ภายในปี 2568 เช่น การเพิ่มรายได้ทั้งจากธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการบิน และธุรกิจที่ไม่เกี่ยวข้องกับการบิน

ส่วนการลดค่าใช้จ่าย เช่น การปรับลดขนาดองค์กร โดยปัจจุบันดำเนินการแล้วเหลือพนักงาน 10,990 อัตราลดค่าใช้จ่ายจาก 3 หมื่นล้านบาท เหลือราว 1 หมื่นล้านบาท อีกทั้งยังลดขนาดฝูงบิน และปรับลดแบบเครื่องบินจาก 12 แบบ เหลือ 5 แบบ และปรับลดแบบเครื่องยนต์จาก 9 แบบ เหลือ 4 แบบ เพื่อให้สอดคล้องกับอุตสาหกรรมการบิน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี 15 มิ.ย.นี้ ถือเป็นวันชี้ชะตาการบินไทย สู่การนับ 1 ขับเคลื่อนองค์กรภายใต้แผนฟื้นฟู โดยหากศาลล้มละลายกลางมีคำสั่งเห็นชอบแผนฟื้นฟูการบินไทย ก็จะมีผลทำให้การบินไทยสามารถดำเนินกระบวนการฟื้นฟูกิจการต่อไปได้  โดยการชำระหนี้ที่เกิดขึ้นก่อนวันที่มีคำสั่งให้ฟื้นฟูกิจการซึ่งเจ้าหนี้ทั้งหลายยื่นคำขอรับชำระหนี้ จะได้รับการปรับโครงสร้างหนี้ตามแผน การจัดการกระแสเงินสดและทรัพย์สินของบริษัทบางส่วนจะอยู่ภายใต้เงื่อนไขของแผนฟื้นฟูกิจการ

อีกทั้งคำสั่งเห็นชอบด้วยแผนจะมีผลให้ผู้บริหารแผนที่ถูกเสนอชื่อตามแผนฟื้นฟูกิจการและแผนที่แก้ไข คือ นายปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ นายพรชัย ฐีระเวช  นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ นายไกรสร บารมีอวยชัย และนายชาญศิลป์ ตรีนุชกร เป็นผู้มีอำนาจหน้าที่ในการบริหารธุรกิจของบริษัทฯ และดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป         

ทั้งนี้หนึ่งในเป้าหมายฟื้นฟูกิจการ การบินไทยได้กำหนดไว้ว่า การฟื้นฟูกิจการต้องดำเนินการตามแผนแล้วเสร็จในช่วงแรก 5 ปี และขยายได้อีก 2 ครั้ง ครั้งละ 1 ปี โดยรวมจึงจะใช้เวลาดำเนินการแผนฟื้นฟูไม่เกิน 7 ปี ซึ่งหากดำเนินแผนเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่อง จะทำให้การบินไทยกลับมามีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เป็นบวกภายใน 3-5 ปี