‘ดาวโจนส์’ปิดบวก 19 จุดแม้สหรัฐรายงานเงินเฟ้อพุ่ง

‘ดาวโจนส์’ปิดบวก 19 จุดแม้สหรัฐรายงานเงินเฟ้อพุ่ง

ดัชนีดาวโจนส์ ปิดตลาดวันพฤหัสบดี (10 มิ.ย.)ปรับตัวขึ้น 19 จุด แม้สหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อสูงเกินคาด

ดัชนีเฉลี่ยอุตสาหกรรมดาวโจนส์ เพิ่มขึ้น 19.10 จุด หรือ 0.06% ปิดที่ 34,466.24 จุด ดัชนีเอสแอนด์พี 500 เพิ่มขึ้น 19.63 จุด หรือ 0.47% ปิดที่ 4,239.18 จุด และดัชนีแนสแด็ก เพิ่มขึ้น 108.58 จุด หรือ 0.78% ปิดที่ 14,020.33 จุด

กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภค (ซีพีไอ) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค ในวันนี้ โดยระบุว่า ดัชนีซีพีไอดีดตัวขึ้น 0.6% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.8% ในเดือนเม.ย.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนีซีพีไอพุ่งขึ้น 5.0% ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนส.ค.2551 และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 4.7% หลังจากเพิ่มขึ้น 4.2% ในเดือนเม.ย.

นอกจากนี้ หากไม่นับรวมหมวดอาหารและพลังงาน ดัชนีซีพีไอพื้นฐานพุ่งขึ้น 0.7% ในเดือนพ.ค. เมื่อเทียบรายเดือน สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 0.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 0.9% ในเดือนเม.ย.

เมื่อเทียบรายปี ดัชนีซีพีไอพื้นฐานพุ่งขึ้น 3.8% ในเดือนพ.ค. ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 29 ปี สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ที่ระดับ 3.5% หลังจากเพิ่มขึ้น 3.0% ในเดือนเม.ย.

นักวิเคราะห์ระบุว่าตัวเลขเงินเฟ้อถูกบิดเบือนจากการเปรียบเทียบกับตัวเลขฐานที่ต่ำผิดปกติในปีที่แล้ว ซึ่งขณะนั้นราคาสินค้าได้ทรุดตัวลงโดยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และจากการประกาศมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

นอกจากนี้ ตัวเลขเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นในเดือนพ.ค.ยังมีสาเหตุจากราคารถยนต์มือสองและรถบรรทุกที่ทะยานขึ้นมากกว่า 7% ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนการเพิ่มขึ้นราว 1 ใน 3 ของการดีดตัวขึ้นของเงินเฟ้อในเดือนพ.ค. โดยการเพิ่มขึ้นของราคารถยนต์มือสองมักเป็นปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นเพียงชั่วคราว และเกี่ยวข้องกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19

ขณะเดียวกัน ดัชนีดาวโจนส์ยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานที่ลดลงติดต่อกันเป็นสัปดาห์ที่ 6

ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงสู่ระดับ 376,000 รายในสัปดาห์ที่แล้ว ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดในรอบเกือบ 15 เดือน หรือนับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐเมื่อเดือนมี.ค.2563

ขณะนี้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานได้ปรับตัวลงติดต่อกัน 6 สัปดาห์ โดยต่ำกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านี้ที่ระดับ 385,000 ราย แต่สูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ที่ระดับ 370,000 ราย

อย่างไรก็ดี ถึงแม้ตัวเลขผู้ยื่นขอสวัสดิการว่างงานครั้งแรกลดลงในสัปดาห์ที่แล้ว แต่ก็ยังคงสูงกว่าระดับ 230,000 ราย ซึ่งเป็นค่าเฉลี่ยต่อสัปดาห์ในช่วงก่อนเกิดการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในสหรัฐ

ขณะเดียวกัน กระทรวงแรงงานสหรัฐรายงานว่า จำนวนชาวอเมริกันที่ยังคงขอรับสวัสดิการว่างงานต่อเนื่องลดลง 258,000 ราย ซึ่งเป็นการลดลงมากที่สุดนับตั้งแต่กลางเดือนมี.ค. สู่ระดับ 3.5 ล้านราย