'พลังงานทดแทน' เส้นทางสู่เป้าหมายลด 'ก๊าซเรือนกระจก' ในไทย

'พลังงานทดแทน' เส้นทางสู่เป้าหมายลด 'ก๊าซเรือนกระจก' ในไทย

เป้าหมายของไทยที่จะลดการปล่อย 'ก๊าซเรือนกระจก' ให้ได้ 20-25% หรือ 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573 การส่งเสริมให้ใช้ 'พลังงานทดแทน' เช่น การส่งเสริมให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์ 'โซลาร์เซลล์' เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

ปัจจุบันทั่วโลกต่างให้ความสำคัญต่อ พลังงานสะอาด และมีความมุ่งมั่นในการลดการปล่อย'ก๊าซเรือนกระจก' ตามความตกลงปารีส หรือ COP 21 ที่มีเป้าหมายรักษาระดับอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับอุณหภูมิโลกในยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้ 'พลังงานทดแทน' 'พลังงานหมุนเวียน' ได้รับความสนใจในหลายประเทศ

สำหรับของประเทศไทย ตาม NDC (Nationally Determined Contribution) ที่เสนอไปนั้น กำหนดเป้าหมายการลดการปล่อย 'ก๊าซเรือนกระจก' ให้ได้ร้อยละ 20-25 หรือจำนวน 111-139 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี 2573 ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยได้มีการขับเคลื่อนนโยบายด้านเศรษฐกิจและด้านพลังงานให้ตอบโจทย์ทิศทางของโลกและข้อตกลงดังกล่าวอย่างชัดเจน ทั้งการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านโมเดล BCG ที่มุ่งเน้นการพัฒนาเศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ ด้านเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว

ขณะที่ แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ. 2561 – 2580 “สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์” รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า ได้กำหนดเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าจาก 'พลังงานทดแทน' ให้ได้ร้อยละ 37 ภายในปี พ.ศ. 2580 โดยจะสนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้าในประเทศ เพื่อเพิ่มการเข้าถึงพลังงานสะอาด ช่วยลดมลพิษทางอากาศ ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

นำไปสู่ความมั่นคงด้านพลังงานอย่างยั่งยืนให้กับประเทศ เกิดความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคประชาชนที่สอดประสานกับทิศทางนโยบายเศรษฐกิจสีเขียวของรัฐบาลและนโยบายการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานเพื่อนำไปสู่เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตามข้อตกลงปารีสร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมอีกด้วย

  • 'กองทุนพัฒนาไฟฟ้า' ขับเคลื่อน 'พลังงานหมุนเวียน'

ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ('กกพ.') ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นเพื่อกำกับดูแลการประกอบกิจการพลังงาน ทั้งกิจการไฟฟ้า กิจการก๊าซธรรมชาติ และกิจการระบบโครงข่ายพลังงาน การอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน กำกับดูแลอัตราค่าบริการ กำหนดมาตรฐานให้บริการพลังงานและมาตรฐานความปลอดภัยในการประกอบกิจการพลังงาน คุ้มครองสิทธิประโยชน์ผู้ใช้พลังงาน รวมทั้งคุ้มครองผู้ประกอบการให้มีการแข่งขันอย่างเป็นธรรม ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ใช้พลังงาน ประชาชน และผู้ได้รับผลกระทบจากการประกอบกิจการพลังงานในการบริหารจัดการและพัฒนาพลังงานของประเทศ

ที่ผ่านมา 'กกพ.' ได้จัดตั้ง 'กองทุนพัฒนาไฟฟ้า' มีวัตถุประสงค์เพื่อ เป็นทุนสนับสนุนให้มีการให้บริการไฟฟ้าไปยังท้องที่ต่างๆ อย่างทั่วถึง กระจายความเจริญไปสู่ท้องถิ่น พัฒนาชุมชนในท้องถิ่นที่ได้รับผลกระทบจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้า และส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนและเทคโนโลยีในการประกอบกิจการไฟฟ้าที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อย

โดยคำนึงถึงความสมดุลของทรัพยากรธรรมชาติและสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า พัฒนาหรือฟื้นฟูชุมชนในพื้นที่รอบโรงไฟฟ้าให้มีความเจริญและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และภารกิจสำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การส่งเสริมสังคมและประชาชนให้มีความรู้ มีส่วนร่วมทางด้านไฟฟ้า รวมถึงสร้างความตระหนักในเรื่องของพลังงานทดแทน พลังงานหมุนเวียน

ข่าวทีเ่กี่ยวข้อง 

 

  • รับซื้อไฟฟ้าจาก 'โซลาร์ประชาชน'

“คมกฤช ตันตระวาณิชย์” เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ('กกพ.') กล่าวว่า พลังงานหมุนเวียนมีการสนับสนุนในนโยบายมาตั้งแต่อดีต ปัจจุบันอยู่ในรูปแบบโซลาร์ในภาคประชาชน ทำเพื่อใช้เองในบ้านและสามารถขายเข้าระบบได้ในราคาที่เป็นธรรม เช่น โครงการ 'โซลาร์ประชาชน' โดยแต่เดิมโซลาร์ประชาชนที่ผลิตเหลือใช้ และขายเข้าระบบ ตั้งราคารับซื้อไว้ที่ 1.68 บาทต่อหน่วย ราคาเท่ากับไฟฟ้าที่ผลิตจากฟอสซิล

ขณะที่รัฐบาลพยายามผลักดันให้มีการลงทุนเพิ่ม ขณะนี้จึงปรับราคารับซื้ออยู่ที่ 2.2 บาทต่อหน่วย โดยโครงการดังกล่าว มีประชาชนให้ความสนใจอย่างต่อเนื่องและยังคงเปิดรับอยู่ โดยจำนวนที่ดำเนินการแล้วเสร็จและมีการขายเข้าระบบ ในปี 2562 จำนวน 413 ราย ปี 2563 เพิ่มขึ้น 173 ราย และ ปี 2564 อยู่ระหว่างการเปิดให้ลงทะเบียน

ล่าสุด 'กกพ.'ได้ออกประกาศเปิดรับซื้อไฟฟ้า “โครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาลและสูบน้ำเพื่อการเกษตร (โครงการนำร่อง)” จำนวน 50 เมกะวัตต์ ในอัตรา 1 บาทต่อหน่วย โดยจะเปิดผู้สนใจเริ่มสมัครได้ตั้งแต่ 1 มิ.ย. - 30 ก.ย. 2564 รวมปริมาณรับซื้อไฟฟ้า 50 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) รับซื้อไฟฟ้าจากโรงเรียน สถานศึกษา 6 เมกะวัตต์ และโรงพยาบาล 6 เมกะวัตต์ สำหรับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) รับซื้อไฟฟ้าจากโรงเรียน สถานศึกษา14 เมกะวัตต์ ,โรงพยาบาล 14 เมกะวัตต์ และผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทสูบน้ำเพื่อการเกษตร 10 เมกะวัตต์

  • 'โซลาร์เซลล์' ภาคประชาชน

นอกจากการสนับสนุน 'โซลาร์ประชาชน' โรงเรียน โรงพยาบาล แล้ว ที่ผ่านมา กกพ. ยังได้สนับสนุนโครงการผ่านกองทุนพัฒนาไฟฟ้า อาทิ กองทุน 97(3) เป้าหมายเพื่อการพัฒนาชุมชนรอบโรงไฟฟ้า โดยชุมชนเป็นผู้ทำประชาสังคมและตัดสินใจได้เองว่า จะนำทุนไปทำอะไร เช่น พลังงานหมุนเวียน ด้านสาธารณสุข หรือทุนการศึกษาเด็ก ขณะที่ กองทุน 97(4) เป็นทุนสนับสนุนทุนวิจัยและเทคโนโลยีในด้านพลังงานหมุนเวียนใหม่ๆ เป็นการมองไปยังอนาคต และ 97(5) เป็นการสร้างความตระหนักรู้ เช่น โซลล่าเซลล์ แก๊สชีวภาพ ฯลฯ

โครงการที่ผ่านมา อาทิ สนับสนุนสถาบันอาศรมศิลป์ โครงการส่งเสริมการมีส่วนร่วม และพัฒนาเครือข่ายพลังงานชุมชนในพื้นที่เกาะ เพื่อการพึ่งพาอย่างยั่งยืน หรือโครงการเกาะพลังงานสะอาด ในพื้นที่อำเภอเกาะยาว ครอบคลุมทั้งเกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ อ.เกาะยาว จ.พังงา ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่เกาะ เพื่อให้ชุมชนมีไฟฟ้าใช้จากพลังงานสะอาด

หรือ โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก “โรงไฟฟ้าชุมชน” มุ่งผลิตพัฒนาพลังงานไฟฟ้าในชุมชนตามศักยภาพเชื้อเพลิงพลังงานสะอาดที่หาได้ในพื้นที่ และนำไปใช้ในพื้นที่เป็นหลัก โดยประชาชนสามารถเข้าถึงพลังงานไฟฟ้าได้อย่างทั่วถึงและราคาที่เหมาะสม

สำหรับความคาดหวังในเรื่องของพลังงานหมุนเวียน เลขาธิการ 'กกพ.' กล่าวว่า ตอนนี้อยู่ในจุดที่ว่าเราจะทำพลังงานหมุนเวียนเหล่านี้ ให้อยู่ควบคู่ไปกับระบบไฟฟ้าเก่าที่มีอยู่ได้อย่างไร เพราะอย่าลืมว่าพลังงานหมุนเวียนไม่ได้มีตลอด 24 ชั่วโมง ต้องเสริมซึ่งกันและกัน ดังนั้น ต้องปรับตัวทั้งคู่

“อย่างโครงการ 'โซลาร์ประชาชน' 'กกพ.' พยายามสนับสนุนในเรื่องของข้อมูลเทคนิค การอนุญาต กติกาย่อมเยาไม่เหมือนโรงไฟฟ้าใหญ่ ลดข้อกำหนด อำนวยความสะดวก เป็นกลไกที่จะสนับสนุนให้พลังงานหมุนเวียนอยู่ควบคู่กันไปกับระบบเก่า ต้องไม่มีใครได้ใครเสีย” เลขาธิการ 'กกพ.' กล่าวทิ้งท้าย

  • ไฟจากฟ้า นำร่อง 8 รพ.ชุมชน 8 จังหวัด

เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ร่วมกับ กระทรวงพลังงาน กระทรวงสาธารณสุข มูลนิธิแพทย์ชนบท และภาคีเครือข่าย นำร่องส่งมอบการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์กำลังการผลิตโรงพยาบาลละ 100 กิโลวัตต์ ภายใต้กิจกรรม “101 วัน จากแสงแรกสู่โรงพยาบาลไฟจากฟ้า” ให้กับ 8 โรงพยาบาลชุมชน ในพื้นที่ 8 จังหวัด

ได้แก่ โรงพยาบาลไทรน้อย จ.นนทบุรี โรงพยาบาลบางบ่อ จ.สมุทรปราการ โรงพยาบาลอู่ทอง จ.สุพรรณบุรี โรงพยาบาลขุนหาญ จ.ศรีสะเกษ โรงพยาบาลย่านตาขาว จ.ตรัง โรงพยาบาลหลังสวน จ.ชุมพร โรงพยาบาลบ้านบึง จ.ชลบุรี และโรงพยาบาลปลวกแดง จ.ระยอง

สามารถช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าของโรงพยาบาลได้ถึงเดือนละประมาณ 60,000 บาท หรือราว 720,000 บาทใน 1 ปี โดยแผง 'โซลาร์เซลล์' มีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี ช่วยโรงพยาบาลลดภาระค่าไฟฟ้าได้ราว 18 ล้านบาท ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวมีเป้าหมายทั้งหมด 77 โรงพยาบาล 77 จังหวัด ซึ่งในอนาคตอาจจะมีการขยายไปพื้นที่อื่นๆ เช่น ชุมชน และ โรงเรียน ในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้ทุกคนได้เข้าถึงการใช้พลังงานสะอาดเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น