'พลังงานแสงอาทิตย์' ลดคาร์บอนฯ สู่การสร้างรายได้ครัวเรือน

'พลังงานแสงอาทิตย์' ลดคาร์บอนฯ สู่การสร้างรายได้ครัวเรือน

พลังงานแสงอาทิตย์ หนึ่งในพลังงานหมุนเวียนที่นอกจากจะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ลดการสร้างโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิล ลดภาระค่าไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้จากการผลิตไฟฟ้าส่วนเกิน ผ่านระบบ Net Metering และยังส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานอีกด้วย

จากรายงาน คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (IPCC) แห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนตุลาคม 2561 ระบุว่า หากเราสามารถจำกัดไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส จะเป็นประโยชน์ต่อประชากรโลกและระบบนิเวศทางธรรมชาติ ก่อให้เกิดสังคมที่ยั่งยืนและมีความเท่าเทียม จึงจำเป็นต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สุทธิ 45% ภายในปี 2573 เมื่อเทียบกับปี 2553 และปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ สุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

ทำให้หลายประเทศทั่วโลกไม่ว่าจะเป็นฝั่งยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือแม้กระทั่งฝั่งเอเชีย หันมาให้ความสนใจและสนับสนุนพลังงานหมุนเวียนมากยิ่งขึ้น มีการผลักดันระบบ Net Metering ซึ่งเป็นระบบหักลบกลบหน่วยอัตโนมัติจากไฟฟ้าที่ผลิตใช้เองจากโซลาร์เซลล์บนหลังคากับไฟฟ้าที่ใช้จากการไฟฟ้า และที่เหลือสามารถขายคืนในราคาที่ใกล้เคียงกับที่ซื้อมา

ด้าน ภาคธุรกิจ อาทิ “หัวเว่ย” และ “เป่าเฟิง กรุ๊ป” ที่ร่วมมือเปลี่ยนทะเลทราย 107 ตร.กม. ในเขตใหม่ปินเหอ เขตปกครองตนเองหนิงเซียะ สู่โมเดลเกษตรกรรมด้วยการปลูกโกจิเบอร์รี่ฟื้นฟูทะเลทราย พร้อมสร้างระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ลดการระเหยของความชื้นในดินราว 30%-40% เพิ่มพื้นที่เพาะปลูก 85% ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ 1.841 พันล้านกิโลกรัม เทียบเท่าการปลูกต้นไม้ 80 ล้านต้น

161064819261

ขณะเดียวกัน รายงาน “การจ้างงานพลังงานหมุนเวียนในประเทศไทย” (Renewable Energy Job Creation in Thailand) โดย กรีนพีซ ประเทศไทย ได้ประมาณการณ์ การจ้างงานโดยตรงหากมีการใช้พลังงานหมุนเวียน 100% ในปี 2593 ในประเทศไทยและ 4 ประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา ลาว เวียดนาม ระบุว่า ประเทศที่จะมีการจ้างงานมากที่สุด คือ เวียดนาม 176,658 ตำแหน่ง รองลงมาคือ ไทย 172,164 ตำแหน่ง เมียนมา 72,066 ตำแหน่ง ลาว 34,236 ตำแหน่ง และกัมพูชา 23,744 ตำแหน่ง ตามลำดับ โดยการจ้างงานสูงสุด คือ พลังงานแสงอาทิตย์ และ ชีวมวล

และยังทำให้เกิดการจ้างงานโดยอ้อม จากการผลิตและบริการของโซล่าร์เซลล์ ไม่ว่าจะเป็น การผลิตเซลล์และแผงโซล่าร์เซลล์ , การจ้างงานในโครงการโซลาร์ รูฟท็อป , อุตสาหกรรมรีไซเคิลแผงโซลาร์เซล , การผลิตเครื่องกำเนินดไอน้ำระบบเผาไหม้สำหรับโรงไฟฟ้าชีวมวล , การพัฒนาระบบสายส่งและระบบส่งไฟฟ้า และ การผลิตวัตถุดิบสำหรับพลังงานชีวมวล

161064819560

“จริยา เสนพงศ์” หัวหน้างานรณรงค์เพื่อการเปลี่ยนผ่านทางพลังงาน กรีนพีซ ประเทศไทย อธิบายว่า เวียดนามเป็นประเทศที่น่าสนใจ จุดเปลี่ยนแรกมาจากการถกเถียงเรื่องการลงทุนเรื่องพลังงานถ่านหินที่จะเพิ่มขึ้นตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ ขณะเดียวกันเวียดนามเจอสถานการณ์เดียวกับหลายประเทศ คือ มลพิษทางอากาศ จุดเปลี่ยนเกิดขึ้นเมื่อมีปัญหา PM2.5 ทำให้มีการทบทวน หรือชะลอแผนใหม่ เกิดการเปลี่ยนผ่าน เรื่องของพลังงานหมุนเวียนขึ้น และการจ้างงานถือเป็นอีกหนึ่งโอกาสทางธุรกิจ โอกาสทางเศรษฐกิจ รวมทั้งมีประโยชน์เรื่องสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจะ PM2.5 หรือการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ

ปัจจุบัน เวียดนาม มีความคืบหน้ามากที่สุด ในเรื่องการออกแบบและพัฒนาตลาดพลังงานแสงอาทิตย์ และ พลังงานลม มาตรการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (Feed-in-Tariffs : FiT) กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นจาก 134 เมกะวัตต์ในปี 2561 เป็น 5,500 เมกะวัตต์ภายในสิ้นปี 2562 การลงทุนพลังงานแสงอาทิตย์และพลังงานลมในเวียดนาม โดยมีบางโครงการสรุปจบได้ในปี 2562 นั้น ไม่มีต้นทุนด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล ดังนั้น จึงไม่ได้รับผลกระทบจากความผันผวนของราคาเชื้อเพลิงฟอสซิลเช่นที่ส่งกระทบกับหลายประเทศในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19

กลับมาดูที่ประเทศไทย พัฒนาการแรกของพลังงานหมุนเวียนของไทย เริ่มต้นจากพื้นที่ห่างไกล โดยการใช้โซลาร์เซลล์เพื่อให้เข้าถึงไฟฟ้า หลังจากนั้น ในพื้นที่เขตเมืองเริ่มให้หันมาให้ความสนใจ เป้าหมายเพื่อลดค่าใช้จ่าย รวมถึงนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ทำให้เกิด “Prosumer” ผู้บริโภคที่สามารถเป็นทั้งคนซื้อไฟฟ้าและขายไฟฟ้า ลุกขึ้นมาทำให้เกิดการเปลี่ยนผ่านพลังงานวิถีใหม่ เป็นตลาดที่เร็วเพราะเขาถือว่าเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า ลดค่าใช้จ่าย สร้างรายได้หากสามารถขายไฟฟ้าได้ และเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้น ซึ่งปัจจุบัน การรับซื้อไฟฟ้าจากบ้านเรือนประชาชนอยู่ที่หน่วยละประมาณ 1.68 บาท

161064819058

ขณะเดียวกัน จากการเดินหน้าผลักดันรณรงค์ของกรีนพีช ผ่านกองทุนแสงอาทิตย์ เพื่อติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อปหลังคาโรงพยาบาล 8,170 แห่ง นำร่อง 7 รพ. และหลาย รพ.ให้ความสนใจลงทุนติดตั้งเอง รวมทั้งสิ้นราว 20 แห่งทั่วประเทศ โดยเฉพาะกระทรวงสาธารณสุข ที่ผลักดันนโยบายสู่ รพ.ในสังกัด ทุ่มงบกว่า 1 ล้านบาท ติดตั้งโซล่าเซลล์ 35 กิโลวัตต์ สามารถประหยัดค่าไฟปีละ 2 แสนบาท และคุ้มทุนภายใน 5 ปี

 

จริยา กล่าวต่อไปว่า ในเดือน ธ.ค. 63 ที่ผ่านมาเริ่มผลักดันโซลาร์รูฟท็อปในโรงเรียน นำร่อง 7 แห่งกลุ่มสายอาชีพ ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษากาญจนบุรีเป็นแห่งแรก เนื่องจากวิทยาลัยสายอาชีพ เสียค่าไฟปีละหลักล้าน สิ่งสำคัญ คือ เป็นประโยชน์โดยตรงกับเด็กที่จบไปในเรื่องของการจ้างงาน เพราะสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ได้ ตอนนี้ตลาดด้านโซลาเซลล์เป็นที่ต้องการอย่างมาก และหลักสูตรการศึกษาเองก็มีการปรับตัวที่จะเข้ามารองรับเพื่อจะทำให้เด็กจบออกไปมีงานทำ ส่งผลต่อเศรษฐกิจโดยรวม

ปัจจุบันในประเทศไทยเหตุผลที่นิยมติดโซลาร์เซลล์อันดับแรก คือ ลดค่าใช้จ่าย แม้ที่ผ่านมา แผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย Power Development Plan : PDP มีการผลักดันและลงทุนเรื่องพลังงานหมุนเวียนเพิ่มมากขึ้น แต่ความท้าทายไม่ใช่การผลิต แต่คือ นโยบายการรับซื้อและระบบโควตาในการรับซื้อ ภาคประชาชนที่มีศักยภาพเรื่องการลงทุนติดโซลาร์เซลล์บนหลังคาบ้าน โรงเรียน หรือโรงพยาบาล ที่จะขายเข้าสู่สายส่งได้ ก็ถูกปิดไปเพราะโควตาเปิดเป็นรอบ

ขณะเดียวกัน มาตรการเชิงนโยบายยังไม่จูงใจ ระบบ Net Metering ซึ่งมีสองส่วนคือหักลบกลบหน่วย และราคาที่รัฐรับซื้อไฟฟ้ากับประชาชนต้องใกล้เคียงที่สุดจากที่รัฐรับซื้อจากเอกชนหรือเชื้อเพลิงฟอสซิล ปัจจุบัน ประชาชนจ่ายค่าไฟฟ้าในหน่วยละราว 4 บาท ขณะที่ รัฐรับซื้อคืนจากโซลาร์เซลล์ 1.68 บาท และมีการหารือปรับไปที่ 2 บาท ซึ่งหลายคนอาจจะมองว่ายังไม่คุ้มทุนหากลงทุนติดตั้ง ดังนั้น ต้องอธิบายถึงต้นทุน การลงทุนสายส่ง เพื่อให้ประชาชนเข้าใจกลไกลทางด้านราคามากขึ้น

161064819738

ทั้งนี้ หากจะทำให้ระบบ Net Metering เกิดขึ้น เสนอว่าในการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า ควรศึกษาผลกระทบทางยุทธศาสตร์และเสนอออกมาเป็นทางเลือกให้ประชาชน พร้อมกับนโยบายที่เป็นแรงจูงใจในการรับซื้อไฟฟ้ากลับในราคาที่ใกล้เคียงที่ขายเช่นเดียวกับในยุโรปและหลายๆ ประเทศ รวมทั้งการสนับสนุนแหล่งเงินทุนไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน หรือรูปแบบสหกรณ์ เช่น กระบี่ ที่กลุ่มสหกรณ์ภาคการเกษตร ส่งเสริมเงินทุนให้เกษตรกรเข้าถึงโซลาร์เซลล์ ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่การใช้พลังงานหมุนเวียน

“ขณะเดียวกัน ตัวขับเคลื่อนหลักคือผู้บริโภค เดิมที่เป็นผู้ซื้ออย่างเดียวกลายเป็นผู้ผลิตไฟฟ้า เป็นกลไกตลาดที่สำคัญมาก และยิ่งสถานการณ์โควิด-19 คนจะเห็นการลงทุนทำอย่างไรให้คุ้มค่าและประหยัดค่าใช้จ่าย ไม่ได้มองเฉพาะหน้าแต่มองระยะยาว” จริยา กล่าว