เอกชน ปั้นพอร์ตธุรกิจลดปล่อยคาร์บอน สอดรับทิศทางแผนพลังงานแห่งชาติ

เอกชน ปั้นพอร์ตธุรกิจลดปล่อยคาร์บอน สอดรับทิศทางแผนพลังงานแห่งชาติ

ภาคธุรกิจพลังงาน กำหนดกลยุทธ์ลงทุนชูเทรนด์ลดปล่อยคาร์บอนต่ำ สอดรับภาคนโยบายเร่งยกร่างแผนพลังงานแห่งชาติ เกาะติดกระแสโลก มุ่งพลังงานสะอาด สกัดตกเทรน์พลังงานแห่งอนาคต

การส่งสัญญาณยกร่างแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ของกระทรวงพลังงาน ให้สอดรับกับกระแสโลกที่มุ่งสู่การใช้พลังงานสะอาด และการทยอยออกมาประกาศเป้ามายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์(CO2)ที่เข้มข้น เพื่อก้าวสู่การปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) และมีกำหนดยกร่างแผนฯให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ก่อนจะมีผลบังคับใช้ในปี 2565 เป็นต้นไป

ปัจจุบัน สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างเร่งยกร่างรายละเอียด ซึ่งจะมีผลต่อทิศทางการพัฒนาพลังงานที่สำคัญตามแผนปฏิบัติการ 5 แผนฯ ที่จะเปลี่ยนแปลไปในอนาคต เช่น ด้านไฟฟ้า เน้นเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนและพลังงานสะอาด ส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า(EV) พัฒนาและยกระดับเทคโนโลยีระบบไฟฟ้า (Grid Modernization)  ตลอดจนการผลิตเอง ใช้เอง (Prosumer) ที่มากขึ้น รวมถึงมุ่งปลดล็อคกฎระเบียบการซื้อขายไฟฟ้าเพื่อรองรับการผลิตเองใช้เอง

ด้านก๊าซธรรมชาติ  เน้นเปิดเสรีและ จะต้องวางแผนสร้างสมดุลระหว่างการจัดหาในประเทศและการนำเข้า LNG ด้านน้ำมัน  ยังเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศ แต่จะได้รับผลกระทบจากการใช้รถอีวี ที่มากขึ้น ด้านพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน จะมีการปรับเป้าหมายการผลิตและการใช้พลังงานทดแทน ตลอดจนการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานจากทุกภาคส่วนให้เข้มข้นมากขึ้น

162314611961

สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า หนึ่งในปัญหาโลกร้อน ซึ่งหลายประเทศในสหประชาชาติตั้งเป้าที่จะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ.2050 ประเทศไทยต้องการมีส่วนในการสนับสนุนเรื่องนี้เช่นกัน โดยที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับสหรัฐฯ ทำโครงการผลิตแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียนที่อีอีซี เพื่อเก็บพลังงานไฟฟ้าขนาด 8,000 เมกะวัตต์ ซึ่งเป็นระดับที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน โครงการนี้นับเป็นการสนับสนุนการเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมยานยนต์และการพัฒนาพลังงานสะอาดของอีอีซี และประเทศไทย

162314616145

การส่งสัญญาณดังกล่าวของฝ่ายนโยบาย ทำให้ทิศทางการขับเคลื่อนการลงทุนด้านพลังงานของประเทศสอดรับกับแผนธุรกิจของภาคเอกชนมากขึ้น เพราะก่อนที่กระทรวงพลังงาน จะประกาศยกร่างแผนพลังงานแห่งชาติโดยกำหนดเป้าหมายใหม่ที่ชัดเจนมากขึ้นนั้น ในส่วนของภาคเอกชนด้านพลังงาน หลายบริษัทได้กำหนดกลยุทธ์แผนขับเคลื่อนธุรกิจที่มุ่งสู่เป้าหมายปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ไปก่อนหน้าแล้ว ดังนั้น เมื่อนโยบายรัฐและเอกชนปรับมาสอดรับทิศทางเดียวกันก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะขับเคลื่อนการลงทุนได้ตรงตามเป้าหมายที่ตั้งไว้

สำหรับภาคเอกชนด้านพลังงานที่กำหนดแผนธุรกิจโดยเน้นเรื่องของปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (Carbon Neutral) ได้แก่

บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU มีการตั้งเป้าหมายในการลงทุนในโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนไม่น้อยกว่า 20% ภายในปี 2568 เพื่อลดอัตราการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของบริษัทฯ ต่อกำลังการผลิตในปัจจุบัน

สมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร BANPU ระบุว่า บริษัท ที่ได้วางเป้าหมายระยะยาวในการดำเนินธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งพิจารณาร่วมกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องกับเทรนด์สิ่งแวดล้อมโลก

โดยงบการลงทุนของบ้านปู ตั้งแต่ปี 2559-2563 สัดส่วนประมาณ 90% เป็นการลงทุนในธรุกิจพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเทคโนโลยีพลังงาน สอดคล้องกับกลยุทธ์ Greener & Smarter นับว่าสอดคล้องกับแผนพลังงานแห่งชาติ โดยกลยุทธ์ดังกล่าวจะผลักดันให้บริษัทก้าวสู่เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้ารวม 6,100 เมกะวัตต์ภายในปี 2568

162314619027

บริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ BCP ตั้งเป้าลดการปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ (Zero Emission) ในปี 2573 โดยมุ่งมั่นในการนำนวัตกรรมสีเขียวมาพัฒนาธุรกิจอย่างสอดคล้องกับประโยชน์ส่วนรวม และมีส่วนร่วมในการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของสังคมไทย ด้วยการสร้างสมดุลระหว่างมูลค่า คือ ผลประกอบการ และคุณค่า คือการดูแลสิ่งแวดล้อมและสังคมเพื่อความยั่งยืน

ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บางจากฯ ระบุว่า ในเร็วๆนี้ บางจากฯ เตรียมเปิดตัว คาร์บอนมาร์เก็ตคลับ ซึ่งยังไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดในขณะนี้

162314626623

กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT วางเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ 27% ในปี 2573 โดยตั้งเป้าหมายภายในปี 2573 จะเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของพอร์ต New Energy เป็น 20-23% ซึ่งจะเข้ามาส่วนเสริมรายได้ให้กับพอร์ตของปตท.ในอนาคต

อรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ปตท. มองว่า เทรนด์ของพลังงานในอนาคต จะมุ่งไป 2 เรื่อง คือ GO GREEN และ GO ELECTRIC ซึ่งในช่วงของการเปลี่ยนผ่านพลังงานดังกล่าว ปตท.จึงได้กำหนดกลยุทธ์ขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้แนวคิด PTT by PTT หรือ Powering Thailand’s Transformation หรือ PTT ที่มุ่งหวังทำให้กลุ่มปตท. เป็นองค์กรด้านพลังงานของประเทศไทย ที่พร้อมขับเคลื่อนประเทศให้ก้าวผ่านการเปลี่ยนแปลงโดยใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมสู่ทุกภาคส่วน ยกระดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ พัฒนาสังคม และคุณภาพชีวิตของคนไทย

โดยในส่วนของลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ (New Energy) ได้ตั้งเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าทั้งเชื้อเพลิงทั่วไป (conventional) หรือ เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ก๊าซธรรมชาติ,น้ำมัน และถ่านหิน และพลังงานหมุนเวียน (Renewable) ให้บรรลุเป้าหมายมีกำลังการผลิตในมืออย่างละ 8,000 เมกะวัตต์ หรือ รวมอยู่ที่ 16,000 เมกะวัตต์ ภายในปี 2573 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มพอร์ตการลงทุนด้านพลังงานสะอาดมากขึ้น

นอกจากนี้ ปตท.จะต่อยอดการเติบโตจากธุรกิจหลัก เร่งพัฒนาและขยายธุรกิจใหม่ เข้าสู่ธุรกิจที่มีศักยภาพเติบโตสูงตามทิศทางโลก ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1. New Energy 2. Life Science 3. Mobility & Lifestyle 4. High Value Business 5. Logistics & Infrastructure 6. AI & Robotics Digitalization

เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่ม ปตท. ได้จับมือกับ บริษัท หงไห่ พริซิชั่น อินดัสทรี จำกัด (Hon Hai Precision Industry Co., Ltd.) หรือ ฟ็อกซ์คอนน์ กรุ๊ป ทุ่ม 1 พันล้านดอลลาร์ ศึกษาการสร้างแพลตฟอร์มผลิตรถยนต์พลังงานไฟฟ้าครบวงจรในประเทศ และศูนย์กลางผลิตรถชั้นนำในอาเซียน