เวิลด์แบงก์ลงพื้นที่ประเมินความยากจนคนไทยส.ค.นี้

เวิลด์แบงก์ลงพื้นที่ประเมินความยากจนคนไทยส.ค.นี้

คลังเผย เวิลด์แบงก์เตรียมพื้นที่เก็บข้อมูลความยากจนในประเทศไทยราวเดือนส.ค.นี้ หลังสถานการณ์โควิด-19 กระทบภาพรวมเศรษฐกิจหลัก โดยคาดการณ์ก่อนหน้านี้จำนวนคนไทยยากจนเพิ่มขึ้น 1.5 ล้านคนในช่วงปี 2563-64 เป็น 5.8 ล้านคน

นายพงศ์นคร โภชากรณ์ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้านเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.)เปิดเผยว่า ราวเดือนส.ค.นี้ ธนาคารโลกหรือเวิลด์แบงก์จะเข้ามาทำการประเมินสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 ที่จะมีผลกระทบต่อรายได้คนไทยหรือทำให้ยากจนมากขึ้นหรือน้อยลงในจำนวนเท่าใด

ทั้งนี้ ที่ผ่านมา เวิลด์แบงก์ได้ทำการประเมินว่า นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ได้ทำให้คนไทยยากจนเพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านคน หรือ เป็น 5.8 ล้านคนในปี 2563-64 จากที่จำนวนคนยากจน 4.3 ล้านคนในปี 2562 โดยการประเมินตัวเลขคนยากจนดังกล่าว ยังไม่ได้นับรวมปัจจัยลบที่เกิดจากการแพร่ระบาดโควิดระลอกสามที่เกิดขึ้นในจังหวัดสมุทรสาครและการระบาดในระลอกปัจจุบัน

เขากล่าวว่า เวิลด์แบงก์ได้ประเมินจำนวนคนจนจากการจัดเก็บสถิติโดยสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติหรือสภาพัฒน์ ซึ่งได้กำหนดคำนิยามด้านรายได้ว่า คนที่ยากจน จะมีรายได้ต่ำกว่า 2,763 บาทต่อคนต่อเดือน หรือ ทั้งปีไม่เกิน 33,156 บาท

“จะเห็นว่า สถานการณ์โควิด-19 ในปีที่แล้ว ได้ทำให้คนไทยยากจนเพิ่มขึ้น และ มีจำนวนยากจนที่มากขึ้นมากกว่าช่วงที่เกิดวิกฤตราคาสินค้าเกษตรตกต่ำในปี 2559 และวิกฤตสงครามการค้าในปี 2561”

สำหรับสถิติคนจนในประเทศไทยที่จัดเก็บโดยสภาพัฒน์ระยะกว่า 30 ปีที่ผ่านมาหรือนับจากปี 2531 ระบุว่า จำนวนคนจนในช่วงเวลาดังกล่าวมีแนวโน้มลดลงตามลำดับ โดยในปี 2531 มีจำนวนคนจนสูงถึง 34.1 ล้านคน และทยอยลดลงมาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในปี 2562 อยู่ที่ 4.3 ล้านคน และ คาดการณ์ว่า จะเพิ่มขึ้นราว 1.5 ล้านคนในช่วงระหว่างปี 2563-64 เนื่องจาก สถานการณ์โควิด-19

อย่างไรก็ดี สำหรับการประเมินจำนวนคนยากจนโดยเวิลด์แบงก์ที่จะเกิดขึ้นราวเดือนส.ค.นี้ อาจจะมีจำนวนคนยากจนที่มากขึ้นหรือน้อยลงจากการประเมินครั้งที่ผ่านมา เนื่องจาก มีทั้งปัจจัยบวกและลบเข้ามาเกี่ยวข้อง โดยปัจจัยลบ คือ การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ ปัจจัยบวก คือ มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมาในช่วงนี้ ซึ่งอาจจะทำให้คนที่ยากจน มีรายได้เพิ่มขึ้น ซึ่งการประเมินความยากจน จะขึ้นอยู่กับรายได้ที่นำมาใช้จ่ายในแต่ละเดือน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมากระทรวงการคลังได้เข้ามาดูแลคนยากจนและกลุ่มผู้มีรายได้น้อยอย่างต่อเนื่องผ่านมาตรการต่างๆ โดยกำหนดคำนิยามของผู้มีรายได้น้อยว่า จะต้องมีรายได้ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อปี ซึ่งมีผู้เข้าข่ายได้รับความช่วยเหลือขณะนี้ประมาณ 13.7 ล้านคน