‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.16 บาทต่อดอลลาร์

‘เงินบาท’วันนี้เปิด ‘แข็งค่า’ที่31.16 บาทต่อดอลลาร์

ตลาดการเงินยังผันผวนตามเงินดอลลาร์ และ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ สกุลเงินเอเชียรวมถึงเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าหากตัวเลขเศรษฐกิจออกมาดีกว่าคาด จับตาแนวโน้มการแจกจ่ายวัคซีนที่อาจยังมีปัญหาในช่วงแรก คาดวันนี้เงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบ 31.10-31.20บาทต่อดอลลาร์

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  31.16 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้นจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า ที่ระดับ 31.28 บาทต่อดอลลาร์ มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 31.10-31.20 บาทต่อดอลลาร์ และกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 31.05-31.35 บาทต่อดอลลาร์

สำหรับแนวโน้มของค่าเงินบาทจะยังมีทิศทางเคลื่อนไหวในกรอบ (Sideways) ตามเงินดอลลาร์ และ ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ โดยเราเชื่อว่า เงินดอลลาร์มีโอกาสผันผวนและแข็งค่าขึ้นได้ หากตลาดกลับมากังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น

แต่เงินดอลลาร์อาจไม่ได้แข็งค่าไปมาก เพราะสกุลเงินอื่นๆ อาทิ เงินยูโร หรือ สกุลเงินเอเชียก็มีโอกาสแข็งค่าขึ้น หากข้อมูลเศรษฐกิจในยุโรปและเอเชียออกมาดีเกินคาด

ทั้งนี้ในส่วนของฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติ เรามองว่ายังคงต้องติดตามการแจกจ่ายวัคซีน เพราะการแจกจ่ายวัคซีนที่ดีต่อเนื่องจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนต่างชาติและหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้ อย่างไรก็ดี เรากังวลว่าการแจกจ่ายวัคซีนอาจมีปัญหาในระยะแรก ทำให้เงินบาทจะแกว่งตัวในกรอบ (Sideways) จนกว่าการแจกจ่ายวัคซีนจะเร่งตัวขึ้นได้

สัปดาห์ที่ผ่านมา ยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมสหรัฐฯที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าคาด ได้ช่วยคลายกังวลโอกาสที่เฟดจะปรับลดคิวอีเร็วขึ้น ทำให้ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงหนัก ฉุดให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลงตาม

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรจับตา ทิศทางเงินเฟ้อสหรัฐฯ พร้อมกับ การฟื้นตัวเศรษฐกิจทั่วโลก อาทิ ภาคการส่งออกของเอเชีย รวมถึง ผลการประชุมธนาคารกลางยุโรป (ECB)

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ในฝั่งสหรัฐฯ แนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะช่วยหนุนให้ความต้องการแรงงานยังอยู่ในระดับสูง สะท้อนผ่าน ยอดตำแหน่งงานเปิดรับ (JOLTS Job Openings) ที่อยู่ในระดับสูงถึง 8.4 ล้านตำแหน่ง ทั้งนี้ การจ้างงานที่ดีขึ้น รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่เริ่มกลับสู่ภาวะปกติมากขึ้นตามการแจกจ่ายวัคซีนจะช่วยทำให้ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (UofMichigan Consumer Sentiment) เดือนมิถุนายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 84.2 จุด

อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีการจ้างงานที่ดีขึ้น แต่ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ก็ยังคงเผชิญภาวะขาดแคลนแรงงานอยู่ หลังจากที่ยอดการจ้างงานอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) เดือนพฤษภาคม เพิ่มขึ้นเพียง 5.6 แสนตำแหน่ง เนื่องจากผู้ว่างงานบางส่วนยังคงพอใจกับสวัสดิการการว่างงาน

ขณะที่บางส่วนก็ยังไม่พร้อมสำหรับ New Normal ของการทำงาน อาทิ การทำงานจากบ้าน ซึ่งภาวะขาดแคลนแรงงานจะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาด้านอุปทานที่ไม่สามารถผลิตสินค้าได้ทันกับความต้องการที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ราคาสินค้าปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลต่อเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนพฤษภาคมยังอยู่ในระดับสูงถึง 4.7% ซึ่งก็ได้รับแรงหนุนจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องอีกด้วย

ส่วนในฝั่งยุโรป ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจยุโรปที่ดีขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (Sentix Investor Confidence) เดือนมิถุนายนที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 25.4 จุด ขณะเดียวกัน ดัชนีความเชื่อมั่นเศรษฐกิจเยอรมนี (ZEW Economic Sentiment) เดือนมิถุนายนก็มีแนวโน้มปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 86 จุด หนุนโดยภาพเศรษฐกิจเยอรมนีที่ฟื้นตัวดีขึ้น หลังการเร่งแจกจ่ายวัคซีนสามารถคุมการระบาดได้ดีขึ้นและช่วยให้รัฐบาลทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown

นอกจากนี้ เรามองว่า ธนาคารกลางยุโรป (ECB) จะยังคงใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาทิ Deposit Facility Rate ที่ระดับ 0.50% พร้อมกับเดินหน้าซื้อสินทรัพย์อย่างน้อย 8.5 หมื่นล้านยูโร ต่อเดือน  เพื่อช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ขณะที่ในฝั่งเอเชีย การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในโซนเอเชียยังคงได้รับแรงหนุนจากภาคการส่งออกเป็นสำคัญ สะท้อนผ่านยอดการส่งออกของหลายประเทศที่โตขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะไต้หวันที่ยอดการส่งออก (Exports) ในเดือนพฤษภาคมจะโตขึ้นกว่า 30%y/y จากความต้องการชิพและแผงวงจรที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ส่วนในฝั่งจีน ยอดการส่งออกในเดือนพฤษภาคม ก็จะขยายตัวกว่า 32%y/y เช่นกัน หนุนโดยภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ทำให้ความต้องการสินค้าเพิ่มสูงขึ้น

อย่างไรก็ดี การขยายตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจจีนจะทำให้ความต้องการบริโภคในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ยอดการนำเข้า (Imports) เพิ่มขึ้นกว่า 50%y/y ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นผลของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่พุ่งขึ้น ดังจะเห็นได้จาก ดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI) ในเดือนพฤษภาคม ที่จะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 8.5% จาก 6.8% ในเดือนก่อน เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ที่จะเร่งตัวขึ้นสู่ระดับ 1.6% จาก 0.9% ในเดือนก่อน

และในฝั่งไทย ปัญหาการระบาดของ โควิด-19 รวมถึงความไม่แน่นอนของการแจกจ่ายวัคซีน จะกดดันความเชื่อมั่นของประชาชนต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจ สะท้อนผ่านดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Consumer Confidence Index) เดือนพฤษภาคมที่จะปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 44 จุด