‘ยูนิคอร์น’ ตัวแรก ที่ไม่ควรเป็น ‘ตัวสุดท้าย’

‘ยูนิคอร์น’ ตัวแรก ที่ไม่ควรเป็น ‘ตัวสุดท้าย’

ประเทศไทยมีความพยายามผลักดันให้สตาร์ทอัพแจ้งเกิด และหวังสร้าง "ยูนิคอร์น" ให้เกิดขึ้น ซึ่งขณะนี้ไทยมียูนิคอร์นตัวแรกแล้ว คือ "แฟลช เอ็กซ์เพรส" ผู้ให้บริการขนส่งเอกชน ที่สามารถระดมทุนได้ถึง 4,700 ล้านบาท ที่น่าจะสร้างความหวังให้สตาร์ทอัพไทยได้อย่างดี

พักเรื่องชุลมุนวุ่นวายและแผนการ "กระจายวัคซีนโควิด” ในไทยลงสักครู่ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องยุ่งๆ ของการนำเข้าวัคซีน จำนวนโดส ยี่ห้อวัคซีนที่จะนำเข้ามาเป็นวัคซีนทางเลือก พ่วงด้วยแผนขึงขังว่าจะรีบเร่งกระจายฉีด โดยเฉพาะวันที่ 7 มิ.ย.นี้ เป็นวันคิกออฟฉีดทั่วประเทศ รอดูกันว่าวันนั้นจะเป็นอย่างไร วัคซีนพอไหม หรือจะมีการปรับเปลี่ยนกลางทางจากเหตุการณ์ ปัจจัย ตัวแปรต่างๆ อีกหรือไม่ ท่ามกลางการติดเชื้อในประเทศที่ยังเข้าขั้นวิกฤติ จำนวนผู้เสียชีวิตมีทุกวัน

ย้อนกลับมาเรื่องดีๆ ที่โผล่มาท่ามกลางความมืดมนของวิกฤติโควิด-19 เมื่อชายหนุ่มรุ่นใหม่วัย 30 ปีจากดอยสูงของประเทศ “คมสันต์ ลี” ซีอีโอบริษัท แฟลช กรุ๊ป บริษัทแม่ของแฟลช เอ็กซ์เพรส ผู้ให้บริการขนส่งเอกชน สามารถระดมทุนจากบิ๊กคอร์ปขนาดใหญ่ แบงก์ และกองทุนต่างประเทศ จนปิดการระดมทุนได้กว่า 150 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 4,700 ล้านบาท กลายเป็น “ยูนิคอร์น” รายแรกในไทย และเป็นสตาร์ทอัพไทยรายแรกที่ระดมทุนรวมได้มากที่สุดในระยะเวลาเพียง 3 ปี ส่งผลให้มูลค่าธุรกิจพุ่งไปถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ หรือมากกว่า 30,000 ล้านบาท

นับเป็น success case ในวงการสตาร์ทอัพไทยที่เราพยายามมาอย่างยาวนาน เป็นสัญญาณที่ดีมาก เพราะเมื่อมี 1 success case เกิด แน่นอนว่าแสงสปอตไลท์จะถูกสาดส่องมาที่ประเทศไทย นักลงทุนมองเห็นได้ถนัดขึ้น และมีความเชื่อมั่นในการเข้ามาลงทุน เป็นโมเดลต่อยอดความสำเร็จให้สตาร์ทอัพรายอื่น ยังมีอีกหลายรายที่ “เก่ง” และ “โดดเด่น” มีสิทธิขึ้นเป็นยูนิคอร์นตัวที่ 2 ตัวที่ 3 ได้ในเร็วๆ นี้

หลายปีที่ผ่านมา ประเทศไทยมีความพยายามผลักดันให้สตาร์ทอัพแจ้งเกิด และหวังสร้างยูนิคอร์นให้เกิดขึ้น ซึ่งเพิ่งจะสำเร็จเป็นครั้งแรก ต้องยอมรับว่าในความเป็นจริง แม้เรากำลังเดินหน้าไปได้ดีระดับหนึ่งจากความสำเร็จที่แฟลช กรุ๊ป เปิดทางเอาไว้ แต่จริงๆ แล้วการมาของยูนิคอร์นตัวแรกของไทย อาจจะ “ช้าเกินไป” ด้วยซ้ำ เพราะโลกธุรกิจต้องการอัตราเร่งที่มากกว่านั้น หรือหากเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคเดียวกัน ไทยเรายังตามหลังอยู่ ด้วยเงื่อนไขและอีโคซิสเต็มที่ไม่เอื้ออำนวยเท่า

หลายสตาร์ทอัพแม้นั่งทำงานกันอยู่ในประเทศไทย แต่การจดทะเบียนบริษัทกลับต้องทำที่สิงคโปร์ เพราะกฎเกณฑ์เอื้อต่อการทำธุรกิจมากกว่า ขณะที่ “การระดมเงินลงทุน” ก็เป็นอีกเรื่องที่แม้สตาร์ทอัพบางรายอาจประสบความสำเร็จได้ในอนาคต แต่หากไม่ใช่ธุรกิจที่หวือหวา หรือดูแล้วเซ็กซี่มากพอก็เป็นไปได้ยากที่จะดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน ยิ่งมีปัจจัยลบอย่างโควิด-19 ยิ่งทำให้นักลงทุนระวังมากขึ้น

เส้นทางของสตาร์ทอัพไทยจึงไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบ หรือมีพรมแดงให้เดินนุ่มๆ หากยังต้องฝ่าฟันอุปสรรคที่หนักหนาสาหัสเหมือนเดิม แต่จากความสำเร็จของ “แฟลช กรุ๊ป” ครั้งนี้สร้างความหวังและปลุกพลังฝันให้กับอีกหลายสตาร์ทอัพได้เป็นอย่างดี ขอเพียงสู้ ขยัน มุ่งมั่น มองเกมของโลกให้ออก โดดเด่นอย่างถูกที่และถูกเวลา การสนับสนุนของภาครัฐอย่างจริงจัง เงื่อนไขกฎเกณฑ์ต่างๆ ที่เปิดทางให้บ้าง ไม่นานนักประเทศไทยจะมียูนิคอร์นตัวที่ 2-3-4-5 ตามมาอีกก็เป็นได้