ไทยผงาด ‘ยูนิคอร์น’ รายแรก ‘บิ๊กคอร์ป’ ร่วมดัน ‘แฟลช' ปิดดีล 4.7 พันล.

ไทยผงาด ‘ยูนิคอร์น’ รายแรก ‘บิ๊กคอร์ป’ ร่วมดัน ‘แฟลช' ปิดดีล 4.7 พันล.

‘บิ๊กคอร์ป’ร่วมดัน ‘แฟลช' ปิดดีล 4.7 พันล. ใช้เวลาแค่ 3 ปี มูลค่าธุรกิจพุ่ง 3 หมื่นล. วงการชี้สัญญาณดี -กรุงศรีฯ จับตาอีก 3 สตาร์ทอัพจ่อขึ้นยูนิคอร์นอีก 3 ปี

เร่งสปีดบริการ-ขยายสู่ต่างประเทศ

นายคมสันต์ กล่าวว่า กลุ่มธุรกิจแฟลช ก่อตั้งขึ้นจากแนวคิด การเป็นผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซสัญชาติไทยแบบครบวงจร โดยได้รับความไว้วางใจจากกลุ่มนักลงทุนหลายอุตสาหกรรมเข้ามาร่วมสนับสนุน ปัจจุบันกลุ่มธุรกิจแฟลช มีอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด พร้อมธุรกิจในเครือหลากหลายประเภท อาทิ Flash Express ผู้ให้บริการขนส่งแบบครบวงจร ที่ใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นหัวใจหลักในการบริหารจัดการด้านระบบขนส่ง โดยปัจจุบัน Flash Express มียอดจัดส่งพัสดุต่อวันสูงสุดร่วม 2 ล้านชิ้น 

นอกจากนี้ยังมีบริการ Flash Fulfilment คลังสินค้าแบบครบวงจร ที่มีบริษัทชั้นนำเป็นพันธมิตร และใช้บริการมากมาย รวมถึงบริษัทในเครืออีกหลายบริษัทที่สอดคล้องกับธุรกิจอีคอมเมิร์ซ และรูปแบบตลาดของประเทศไทย รวมไปถึงบริการใหม่ที่เตรียมขยายออกสู่กลุ่มประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (SEA)

“ถือเป็นความสำเร็จที่น่าภูมิใจของทีมงานแฟลชทุกคน ที่ทำให้ผู้ลงทุนเชื่อมั่นในศักยภาพของเรา จากนี้บริษัทฯ จะทยอยประกาศความร่วมมือที่จะเกิดขึ้นระหว่างกลุ่มธุรกิจแฟลช กับผู้ลงทุน ซึ่งแน่นอนว่ากลยุทธ์หลักของแผนการทำงานยังคงมุ่งไปที่การเป็นผู้ให้บริการแบบวันสต็อปเซอร์วิส สำหรับอีคอมเมิร์ซทั้งในไทย และสากล รวมถึงเร่งขยายบริการออกสู่ต่างประเทศโดยยึดความตั้งใจเดิม คือ เริ่มจากกลุ่มประเทศในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แม้จะมีอุปสรรคช่วงโควิด-19 แต่แผนทำงานของ แฟลช กรุ๊ป ยังเดินหน้าต่อ คาดว่าในไตรมาส 4 ของปีนี้จะชัดเจนมากขึ้น จากการทยอยเปิดให้บริการบางส่วนใน SEA” นายคมสันต์ กล่าว

3 สตาร์ทอัพไทยจ่อขึ้นยูนิคอร์น

นายแซม ตันสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท กรุงศรี ฟินโนเวต จำกัด บริษัทในเครือธนาคารกรุงศรีอยุธยา หรือ BAY กล่าวว่า สตาร์อัพไทย มีโอกาสเป็นยูนิคอร์นเพิ่มขึ้นแต่อาจใช้เวลาอีก 2-3 ปี เพื่อสร้างการเติบโตให้มูลค่าธุรกิจถึงระดับ 3 หมื่นล้านบาท 

โดยมองว่า 3 ธุรกิจสตาร์ทอัพไทยในตอนนี้ที่จะเป็นยูนิคอร์นได้แก่ 1.ธุรกิจเกี่ยวเนื่องกับโลจิสติกส์ อย่างไลน์แมน และวงใน หากขยายบริการทั่วประเทศตอบโจทย์ความต้องการที่เพิ่มขึ้นรวดเร็วช่วงโควิด-19และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน เพราะในตลาดนี้คู่แข่งมากและเป็นรายใหญ่ 

2.ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลอย่าง บิทคับ หากธุรกิจนี้มีความยั่งยืนและมีโมเมนตัมเติบโตต่อเนื่องเป็นที่น่าเชื่อถือในวงกว้างได้ในอนาคต และ 3.ธุรกิจฟินเทคอย่าง ฟินโนมินา ซึ่งบริษัทให้การสนับสนุนเงินลงทุนและเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ในอีก 2 ปีข้างหน้า เพื่อสร้างการเติบโตเพื่อไปสู่ยูนิคอร์นธุรกิจฟินเทคตัวแรกในระยะ 2-3 ปี ข้างหน้า ด้วยปัจจัยสนับสนุนการเติบโตในช่วงโควิด-19ทำให้มีเงินลงทุนใหม่เข้ามากขึ้น

สำหรับกรุงศรี ฟินโนเวต พร้อมเดินหน้าสนับสนุนสตาร์อัพในไทยต่อเนื่องในช่วง 2 ปีนี้ เตรียมงบลงทุนไว้ราว 3,000 ล้านบาท มีการลงทุนไม่ต่ำกว่า 120 โครงการ โดยสนใจลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีโคซิสเต็มส์รถยนต์และที่อยู่อาศัย รวมถึงการศึกษา บล็อกเชน และ Decentralized Finance (Defi) เพื่อต่อยอดธุรกิจธนาคาร

ชี้จุดแข็ง แฟลช มาถูกเวลารับโควิด

นายแซม กล่าวว่า กรณี แฟลช ที่ขึ้นเป็นยูนิคอร์นตัวแรกของไทย มาจากคุณสมบัติพิเศษที่ต่างจากสตาร์ทอัพราย อื่นๆ 3 ด้าน คือ 1.มี CO-Founder ที่แข็งแกร่ง มีความขยันมาก 2.มีเทคโนโลยีจากจีนที่มีศักยภาพสูงและเก่ง 3.อยู่ในธุรกิจโลจิสติกส์ที่มาถูกเวลาในช่วงโควิด-19 เร่งเติบโตเร็ว 

ทั้ง 3 ส่วนถือเป็นจิ๊กซอว์สสำคัญทำให้ประสบความสำเร็จ และมีศักยภาพเติบโตในอนาคต จากแผนธุรกิจขยายการเติบโตในต่างประเทศ

อย่างไรก็ตาม ปัจจัยเร่งที่จะทำให้สตาร์ทอัพไทยไปเป็นยูนิคอร์นได้เร็วขึ้น อยู่ที่ภาครัฐสนับสนุน ด้วยการนำเทคโนโลยีของสตาร์ทอัพไปใช้งานก่อน พบว่า ปัจจุบันมีบางเทคโนโลยีของสตาร์อัพไทยสามารถนำไปใช้ได้ เช่น QueQ ที่นำไปใช้ในระบบโรงพยาบาลหรือหน่วยงานราชการต่างๆได้

ส่งสัญญาณดีต่อสตาร์ทอัพทั้งระบบ 

ด้านนายพณชิต กิตติปัญญางาม กูรูวงการสตาร์ทอัพไทย และอดีตนายกสมาคมไทยแลนด์ เทค สตาร์ทอัพ กล่าวกับ "กรุงเทพธุรกิจ" ว่า เป็นสัญญาณที่ดีของวงการสตาร์ทอัพไทย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤติโควิดแบบนี้ ซึ่งถือเป็นโมเดลที่จะต่อยอดความสำเร็จให้กับสตาร์ทอัพไทยรายอื่นได้ 

ปัจจุบันต้องยอมรับว่า สตาร์ทอัพในไทยหลายบริษัทมีความน่าสนใจ โดยเฉพาะในกลุ่มอีคอมเมิร์ซ อย่างไรก็ตาม การที่แฟลช ขึ้นมาเป็นยูนิคอร์นได้ จุดได้เปรียบหนึ่ง คือ ในตลาดขนส่งระดับลาสไมล์ยังมีการแข่งขันกัน หรือ เรียกว่า เกมยังไม่จบ และยังไม่มีใครครองตลาดได้แบบเบ็ดเสร็จ เหมือนในกลุ่มขนส่งขนาดใหญ่ อย่าง ดีเอชแอล หรือเฟดเอ็กซ์ ซึ่งไม่มีสตาร์ทอัพรายไหนไปแข่งอยู่แล้ว ขณะที่ แฟลช อยู่ในกลุ่ม ขนส่งระดับ ลาสไมล์ ที่เน้นในกลุ่มคอนซูเมอร์ ยังมีการแข่งขัน ซึ่งแฟลช ก็เหมือนมาถูกที่ ถูกเวลา

"ผมว่ามันทำให้บรรยากาศมันครึกครื้นขึ้น หลังจากที่โควิดมันทำให้มืดมัว เป็นสัญญาณที่ดี  คือ ผมชอบเขานะซีอีโอแฟลช เป็นคนเก่ง ดูสตอรี่หลายอย่าง เป็นคนจริงจัง และการที่ไทยมียูนิคอร์น ครั้งนี้จะทำให้ความน่าสนใจของไทยดีขึ้น ซึ่งมันก็ต้องมี success case เกิดขึ้น นักลงทุนเริ่มมีความเชื่อมั่น ทำให้วงการสตาร์ทอัพไทยกลับมาคึกคักได้อีก" 

ขณะที่ เขามองว่า แฟลช เองสุดท้ายก็ต้องมีพนักงานที่ เข้า ออก ซึ่งบุคลากรเหล่านี้จะมีประสบการณ์ หรือทักษะที่ดี ช่วยหนุนให้วงการคอร์ปอเรท หรือสตาร์ทอัพไทย มีคนเก่งๆ กระจายเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สตาร์ทอัพ ที่เป็นกลุ่มอีคอมเมิร์ซ ยังคงน่าจับตา หลังจากนี้  

อินโดฯ แหล่งยูนิคอร์นอาเซียน

อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีหลายบริษัทสตาร์ทอัพในไทย ที่มีศักยภาพ และสามารถก้าวถึงยูนิคอร์นได้ ไม่ว่าจะเป็น โอมิเสะ ทูซีทูพี  ฟินโนมินา และรายอื่นๆ 

สำหรับวงการสตาร์ทอัพในภูมิภาคอาเชีย ประเทศที่สะสมสตาร์ทอัพไว้ได้มากที่สุด คือ อินโดนีเซีย ด้วยขนาดประชากรกว่า 270 ล้านคน โดยขนาดตลาดใหญ่ขนาดนี้ ไม่ยากเลยที่สตาร์ทอัพจะก้าวขึ้นสู่ระดับยูนิคอร์น รองลงมายังเป็นสิงค์โปร์ และฟิลิปปินส์ ตามลำดับ ขณะที่ เวียดนามเองก็น่าจะจับตาไม่น้อย เพราะมีสตาร์ทอัพตัวเด่นที่เป็นยูนิคอร์นแล้วเช่นกัน

ระดมทุนสตาร์ทอัพรวมในไทย800ล้านดอลล์ 

ขณะที่ นางสาวอรนุช เลิศสุวรรณกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท เทคซอส มีเดีย จำกัด กล่าวก่อนหน้านี้ว่า ปัจจุบันเทคสตาร์ทอัพในไทยมีการระดมทุนรวมสูงถึง 845.268 ล้านดอลลาร์ (ปี 2555-2564) แม้จะไม่มากเมื่อเทียบกับสิงคโปร์และอินโดนีเซีย แต่เป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่จะทำให้มีโอกาสเติบโต

 ส่วนยอดระดมทุนปีที่ผ่านมาประมาณ 364.37 ล้านดอลลาร์ เมื่อเทียบกับปีก่อนๆ จำนวนดีลอาจไม่มาก แต่มีหลายดีลที่น่าสนใจและสะท้อนให้เห็นว่า ส่วนใหญ่ที่มีการระดมทุนจะเป็นระดับ Growth Stage ส่วนกลุ่ม Early Stage หรือระยะเริ่มต้นธุรกิจอาจจะยังมีไม่มาก เนื่องด้วยสถานการณ์วิกฤติที่เข้ามาและส่งผลกระทบ

ขณะที่ภาคธุรกิจที่มีการระดมทุนสูงสุดในแง่ของจำนวนบริษัทเมื่อปีที่ผ่านมา คือ ภาคธุรกิจทางด้านฟินเทค เช่น เพย์เมนท์เกตเวย์ ที่ได้รับอานิสงส์จากอีคอมเมิร์ซแพลตฟอร์ม กลุ่ม wealth management หุ้น หรือการลงทุนรูปแบบใหม่อย่างคริปโตเคอเรนซี นอกจากนี้ยังมีกลุ่มโลจิสติกส์ และแพลตฟอร์มที่สนับสนุนอีคอมเมิร์ซ ขณะเดียวกันโควิดยังเป็นตัวเร่งที่ทำให้ภาคธุรกิจอย่างเฮลท์แคร์ และเทคโนโลยีด้านการศึกษาทำการระดมทุนอีกหลายราย ส่วนสตาร์ทอัพทางด้านอาหารและการเกษตร ปัจจุบันเริ่มมี accelerator ภาครัฐ และหลากหลายองค์กรเข้ามาสนับสนุน

อย่างไรก็ตาม จุดสำคัญที่ทำให้สตาร์ทอัพไทยประสบความสำเร็จ คีย์สำคัญจะเป็นเรื่องของโมเดลธุรกิจและมายด์เซ็ตตั้งแต่เริ่มต้น ที่จะคิดเฉพาะในประเทศไทยไม่ได้อีกต่อไป เพราะทุกวันนี้เกิดโลกาภิวัตน์ การทำตลาดในไทยใหญ่ไม่พออีกต่อไป ฉะนั้น สตาร์ทอัพหลายรายที่มีโอกาสระดมทุนในระดับภูมิภาคส่วนใหญ่ จะเป็นบริษัทที่มีความพร้อมและคิดโมเดลธุรกิจได้ตั้งแต่วันแรกที่จะขยายไปในระดับภูมิภาค แต่เริ่มแรกอาจจะต้องพิชิตตลาดไทยให้ได้ และต้องเป็นผู้เล่นเบอร์ต้นๆ ด้วย

ขณะเดียวกัน การที่ประเทศไทยจะสามารถเป็นศูนย์กลางเทคสตาร์ทอัพได้จะเห็นได้ว่าทางฝั่งภาครัฐจะต้องให้ความสำคัญในการสนับสนุนโดยเฉพาะกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาประเทศอย่าง เช่น โครงสร้างพื้นฐาน อย่างสมาร์ทซิตี้ หรือแม้กระทั่งกลุ่มที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงด้านอาหารและการเกษตร จึงต้องโฟกัสว่าอะไรคือจุดแข็งของประเทศ และมุ่งโฟกัสไปตรงนั้น จะทำให้เกิดการปรับแก้เรื่องของกฎระเบียบต่างๆ เพื่อช่วยให้ประเทศไทยมี Incentive ที่ดีขึ้น