เปิดฉาก โดมิโน่ “ล้มรัฐบาล” อย่าพลาดให้ “ฝ่ายค้าน” เดินเกม

เปิดฉาก โดมิโน่ “ล้มรัฐบาล”  อย่าพลาดให้ “ฝ่ายค้าน” เดินเกม

แม้ เกมในสภาฯ "ฝั่งรัฐบาล" จะครองเสียงข้างมากเกินครึ่ง แต่ที่ผ่านมาเคยพลาดท่า เสียเหลี่ยม "ฝ่ายค้าน" ในระหว่างประชุมมาแล้ว ดังนั้นในการพิจารณากฎหมายสำคัญของรัฐบาลต้องคุมเกมให้ดี

       สมรภูมิการเมือง กลับมาสู้กันใน “สภาหินอ่อน” อีกครั้ง

       ประเดิมที่ 2 พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ซึ่งคณะรัฐมนตรีเสนอคือ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.2564 เพื่อแก้ไขอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ จากร้อยละ 7.5 ต่อปี เป็น ร้อยละ 3 ต่อปี เพื่อบรรเทาภาระของลูกหนี้ในสถานการณ์ระบาดของโควิด-19

       และ พ.ร.ก.การให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูผู้ประกอบธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ.2564 (ซอฟ์ทโลน) วงเงินไม่เกิน 3.5 แสนล้านบาท เพื่อปรับหลักเกณฑ์การเข้าถึงการกู้ยืมเงินจากธนาคารพาณิชย์ ส่วนผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่เคยเป็นลูกหนี้ของธนาคาร

       ทั้ง 2 เรื่องนี้ถูกวางปฏิทินไว้ 2 วัน คือ 27 - 28 พฤษภาคม

       สิ่งที่ถูกจับตาคือ บทบาทของฝ่ายค้านที่จะใช้เวทีสภาฯ ทั้ง 2 วันเพื่อซ้อมใหญ่ ก่อนอภิปรายร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.)งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2565

       กับประเด็นนี้ “วิรัช รัตนเศรษฐ” ประธานวิปรัฐบาล บอกอย่างสบายใจว่า เตรียมส.ส.อภิปราย และมีการชี้แจงรายละเอียดไว้แล้ว ซึ่ง 2 วันที่พิจารณา 2 พ.ร.ก. ไม่มีอะไรหนักหนา ไม่ว่าฝ่ายค้านจะใช้เป็นเวทีซ้อมใหญ่ หรือซ้อมย่อย พร้อมบอกด้วยว่าการรับมือฝ่ายค้านสิ่งที่ต้องเตรียมไว้ให้รัดกุมคือการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบฯ 65

162207682299        

       สำหรับ พ.ร.บ.งบฯ 65 วงเงิน 3.1 ล้านล้านบาทกำหนดพิจารณาวาระแรก ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม ถึง 2 มิถุนายน

       แม้พรรคเพื่อไทยจะประกาศชัดเจนว่า “ไม่รับหลักการ” เหมือนที่เคยทำเมื่อการพิจารณา พ.ร.บ.งบฯ 64 โดยนำ ส.ส.พรรคฝ่ายค้านลงมติไม่รับหลักการมาแล้ว

       แต่ครั้งนี้ต้องจับตาการอภิปรายที่หวังผลทางการเมืองนอกสภาฯ

       โดยเฉพาะการสร้างแรงกดดัน “รัฐบาล” ถอนตัวจากบัลลังก์อำนาจ และเพิ่มแนวร่วม “ไทยไม่ทน-คนไม่เอา พล.อ.ประยุทธ์”

       ดังนั้นประเด็นที่ “ฝ่ายค้าน” หยิบจับเชื่อแน่ว่าคือการนำเรื่องที่กระทบกับอารมณ์คนไทย สะเทือนใจ รวมถึงสะท้อนความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นพลเมือง และนายทุน-กองทัพ ที่เริ่มจากการระบาดของโควิด-19 ลามเป็นลูกโซ่ตั้งแต่วงการสาธารณสุข - เศรษฐกิจ - สังคม - การศึกษา จนมาถึงความมั่นคง-กองทัพ

       เรื่องนี้ประธานวิปรัฐบาลยอมรับว่าเป็นงานหนักของรัฐบาล แต่ยังมั่นใจว่าการควบคุมและกำกับเสียงโหวตใน “สภาฯ” จะเป็นไปตามเป้าหมาย เพราะขณะนี้ ส.ส.ฝั่งรัฐบาล คือเสียงข้างมากที่แข็งแกร่ง 272 เสียงจากจำนวน ส.ส.ที่มีล่าสุด 484 คน และยังไม่นับอีกกว่า 10 เสียงที่ซุกไว้กับ “กลุ่มพรรคฝ่ายค้าน”

162207705861

       อย่างไรก็ตาม มีสิ่งที่พรรครัฐบาลต้องไม่ชะล่าใจคือจำนวน ส.ส.ที่ต้องใช้เป็นองค์ประชุม หรือลงคะแนนในบางประเด็นสำคัญ

       เพราะที่ผ่านมาเคยมีบทเรียนให้ฟากรัฐบาลเสียเหลี่ยมมาแล้วจากการประมาทเรื่องจำนวน ส.ส.ที่มากกว่าแต่ไม่เช็คว่าช่วงลงมตินั้นมีพอจะเอาชนะฝ่ายค้านหรือไม่

       ทั้งกรณีการลงมติ ญัตติตั้งกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญศึกษาผลกระทบจากประกาศและคำสั่ง คสช.และการใช้อำนาจ หัวหน้า คสช.ตามมาตรา 44 เมื่อ 27 พฤศจิกายน 62 ซึ่งผลลงคะแนน ฝ่ายค้านชนะ ไป 4 เสียง ด้วยคะแนนเห็นด้วย 234 เสียง ต่อไม่เห็นด้วย 230 เสียง

       ทำให้ “ฝั่งรัฐบาล” ต้องแก้เกมขอนับคะแนนใหม่ แม้ผลลงคะแนนใหม่จะกลับมติได้ เพราะฝ่ายค้านวอล์คเอาท์

       แต่รอบนั้นถือว่าพรรคพลังประชารัฐเสียหายทางการเมืองครั้งใหญ่ที่ไม่สามารถคุมเสียงข้างมากในสภาฯ ได้ และในรอบนั้นทำให้สภาฯ มีฉายาชั่วคราวว่า “โรงเหล้าเถื่อน"

162207705872

       ล่าสุด คือ ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ที่ กมธ.เสียงข้างน้อยชนะในรัฐสภา ให้บัญญัติขอบเขตการทำประชามติครอบคลุมเรื่องที่รัฐสภา และประชาชนเสนอ ที่ทำให้มีผลกระทบต่อเนื้อหาและกระทบต่อการพิจารณา ที่ทำให้ร่างพ.ร.บ.ประชามติ ค้างเติ่งในวาระพิจารณา

       นี่ยังไม่นับเกม ขอนับองค์ประชุมของฝ่ายค้าน ขณะที่ตัวเองถอยฉากไม่แสดงตนจนทำองค์ประชุมล่มอีก

       ดังนั้นสมรภูมิการเมืองในสภาฯ ประมาทไม่ได้แม้นาทีเดียว แต่หาก “ฝ่ายรัฐบาล” ยังชะล่าใจ ไม่ประคอง-กำกับเสียงข้างมากให้ดี

       หากพลาดท่าระหว่างพิจารณาร่างกฎหมายที่ ครม.เสนอ แน่นอนว่าโดมิโน่ตัวต่อมาคือ“รัฐบาลต้องรับผิดชอบทางการเมือง”.