ก.ล.ต.กางสถิติไตรมาสแรก ลงดาบทางแพ่ง 11 ราย ปรับ 72.4 ล้านบาท

ก.ล.ต.กางสถิติไตรมาสแรก ลงดาบทางแพ่ง 11 ราย ปรับ 72.4 ล้านบาท

ก.ล.ต.เปิดสถิติสำคัญไตรมาส 1/64 ลงโทษทางแพ่งไปแล้ว 3 คดี จำนวน 11 ราย มูลค่าค่าปรับ 72.4 ล้านบาท พบยอดร้องเรียนพุ่ง 811 เรื่อง นักลงทุนโวยผู้ประกอบการธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลสูงสุด 218 เรื่อง

สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยข้อมูลสถิติสำคัญไตรมาส 1 ปี 2564 ว่า ในไตรมาสแรก ก.ล.ต.ได้ดำเนินคดีมาตรการลงโทษทางแพ่งจำนวน 3 คดี จำนวนผู้กระทำผิด 11 ราย มูลค่าค่าปรับทางแพ่ง 72,418,955 บาท โดยชดใช้เงินเท่าผลประโยชน์ที่ได้รับ 18,004,502 บาท และชดใช้เงินค่าใช้จ่ายในการตรวจสอบ 749,282 บาท

ขณะที่การกล่าวโทษในไตรมาสนี้รวมทั้งสิ้นจำนวน 2 คดี จำนวนผู้ถูกกล่าวโทษรวม 14 ราย ทั้งนี้ เงินค่าปรับทางแพ่งและเงินค่าชดใช้คืนผลประโยชน์ที่ได้รับจากการกระทำผิด เป็นรายได้แผ่นดินที่นำส่งกระทรวงการคลัง

ในส่วนของข้อมูลการร้องเรียนอยู่ที่ 811 เรื่อง ประเภทเรื่องที่ร้องเรียนมากที่สุดนำโดย 1. ระบบการเก็บรักษาทรัพย์สินลูกค้าของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 218 เรื่อง 2. ระบบ IT ของผู้ประกอบธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล 104 เรื่อง 3. ระบบงานของผู้ประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ 53 เนื่อง 4. ผู้บริหาร/กรรมการบริษัทจดทะเบียน 24 เรื่อง และ 5. อื่นๆ 399 เรื่อง โดยจำนวนเรื่องที่รับดำเนินการรวมทั้งสิ้น 22 เรื่อง และจำนวนเรื่องที่ยุติทั้งหมด 789 เรื่อง

ขณะที่ภาพรวมการระดมทุนไตรมาส 1 ปี 2564 ก.ล.ต.อนุญาตให้เสนอขายหลักทรัพย์ประเภทตราสารทุนรวม 11 บริษัท แบ่งเป็นการอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) 7 บริษัท และอนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) 4 บริษัท

ทั้งนี้ คิดเป็นมูลค่าการซื้อขายรวม 74,647.88 ล้านบาท แบ่งเป็น IPO 56,163.70 ล้านบาท และมูลค่าการขายครั้งต่อไป 18,484.18 ล้านบาท

ส่วนมูลค่าการเสนอขายตราสารหนี้อยู่ที่ 471,954.56 ล้านบาท แบ่งเป็น 1. การเสนอขายในประเทศมูลค่า 403,059.76 ล้านบาท ได้แก่ ตราสารหนี้ระยะสั้น 187,576.69 ล้านบาท และตราสารหนี้ระยะยาว 215,483.07 ล้านบาท และ 2. การเสนอขายต่างประเทศ 68,894.80 ล้านบาท

โดยไตรมาสนี้เป็นครั้งแรกที่มีการเสนอขายตราสารหนี้กลุ่มยั่งยืน ได้แก่ ตราสารหนี้เพื่อพัฒนาสังคม (Social Bond) มูลค่า 3,000 ล้านบาท และตราสารหนี้เพื่อความยั่งยืน (Sustainability Bond) มูลค่า 15,000 ล้านบาท