โควิดพ่นพิษครัวเรือน 'มาตรการเยียวยา' ไม่พอช่วยเหลือ

(ชมคลิปข่าวด้านล่าง) โควิด-19 ระลอกที่สามฉุดดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนเดือนเม.ย. กำลังซื้อเปราะบางจากจังหวะเวลาเกิดการระบาดหนักในขณะที่มาตรการเยียวยาเพิ่มเติมยังไม่ออกมา

​​สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่เริ่มต้นขึ้นในเดือนเม.ย. ส่งผลกระทบให้ดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนในเดือนเม.ย. ปรับตัวลดลงอย่างมากอยู่ที่ 37.0 จาก 40.4 ในเดือนมี.ค. มีนัยต่อความเปราะบางของกำลังซื้อครัวเรือนจากจังหวะเวลาเกิดการระบาดหนัก ในขณะที่มาตรการเยียวยาเพิ่มเติมยังไม่ออกมา รวมถึงราคาพลังงานที่ปรับเพิ่มอย่างมาก โดยสะท้อนจากดัชนีที่ปรับลดลงในทุกองค์ประกอบ โดยเฉพาะในส่วนของมุมมองต่อการมีรายได้และงานทำ รวมถึงค่าใช้จ่ายของครัวเรือนที่ไม่รวมภาระหนี้ ความกังวลที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวสอดคล้องไปกับทิศทางของดัชนีราคาผู้บริโภคที่ปรับสูงขึ้นในรอบ 8 ปี ซึ่งจะยิ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือนในระยะข้างหน้า


ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนใน 3 เดือนข้างหน้าพบว่าปรับตัวลดลงเช่นกันอยู่ที่ 39.4 จาก 41.5 ในเดือนมี.ค. สอดคล้องไปกับมุมมองของศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่มองว่าดัชนีภาวะเศรษฐกิจและการครองชีพของครัวเรือนยังเผชิญกับความเสี่ยงหลากหลายด้าน ตลาดแรงงานในภาพรวมยังไม่ฟื้นตัวโดยเฉพาะในภาคการท่องเที่ยว

ดังนั้นกำลังซื้อของครัวเรือนจะถูกกระทบอย่างมากจากรายได้ที่มีแนวโน้มลดลง ในขณะที่ฐานะทางการเงินของครัวเรือนมีแนวโน้มเปราะบางลงเรื่อยๆ ต่อเนื่องมาจากการระบาดในครั้งก่อนๆ แม้ว่าภาครัฐจะมีมาตรการช่วยเหลือออกมาเพื่อบรรเทาผลกระทบอยู่บ้างแต่ขนาดไม่เท่ากับมาตรการเยียวยาในรอบก่อน (เม.ย.-พ.ค.63) เพื่อบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจต่อภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ นอกจากการเร่งดำเนินการจัดหาและฉีดวัคซีนแล้ว มาตรการบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจเพื่อประคับประคองภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มเติมจากมาตรการเยียวยาที่ ครม. มีมติในวันที่ 5 พ.ค.ที่ผ่านมา