ส่องเทรนด์ 'ทัวร์ฉีดวัคซีนโควิด' ในต่างแดน

ส่องเทรนด์ 'ทัวร์ฉีดวัคซีนโควิด' ในต่างแดน

ส่องเทรนด์ "ทัวร์ฉีดวัคซีนโควิด" ในต่างแดน ขณะที่อัตราฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของสหรัฐก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง

ตามที่มีข่าวหนาหูว่า คนไทยจำนวนหนึ่งบินไปฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของไฟเซอร์ที่สหรัฐ เว็บไซต์ทราเวลเดลีมีเดีย รายงานเรื่องนี้ไว้เมื่อวันที่ 3 พ.ค.ว่า ขณะที่อัตราฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของสหรัฐก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่โชคไม่ดีที่ประเทศยากจนกว่าบางประเทศยังฉีดได้ไม่มากนักเพราะต้องนำวัคซีนไปฉีดให้กับบุคลากรด่านหน้าและกลุ่มเสี่ยงก่อน ประชาชนคนอื่นๆ จึงหาทางบินมาฉีดวัคซีนที่สหรัฐ ในรูปของทัวร์ฉีดวัคซีน

ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร มีระบบป้องกันไม่ให้คนนอกประเทศเข้าไปฉีดวัคซีนได้ การฉีดกระทำผ่านหมอประจำตัว โดยต้องยืนยันข้อมูลส่วนบุคคลทุกอย่างรวมถึงที่อยู่ ขณะที่กฎระเบียบในสหรัฐหละหลวมกว่า แต่ใช่ว่าไปถึงสหรัฐแล้วจะได้ฉีดวัคซีน เพราะข้อกำหนดแตกต่างกันไปในแต่ละรัฐ บางรัฐไม่กำหนดว่าต้องมีถิ่นที่อยู่ที่นั่นถึงจะฉีดได้ เช่น แคลิฟอร์เนีย ไอโอวา ลุยเซียนา ฯลฯ

อย่างไรก็ตาม เว็บไซต์ Visaplace แนะนำว่า ควรปรึกษาทนายความด้านการเข้าเมืองก่อนเดินทางมาฉีดวัคซีน และไม่มีหลักประกันว่า เมื่อไปถึงรัฐที่ไม่กำหนดเรื่องถิ่นพำนักแล้วจะได้ฉีด

ในยุโรปก็มีรายงานเรื่องนี้เช่นกัน เว็บไซต์ยูโรนิวส์รายงานเมื่อกลางเดือนเม.ย.ว่า“World Visitor” บริษัทท่องเที่ยวนอร์เวย์ เสนอแพ็กเกจทัวร์รัสเซียให้ลูกค้าเลือกได้หลากหลายทุกแพ็กเกจรวมการฉีดวัคซีนสปุตนิกวีของรัสเซียไว้ด้วยไม่ว่าจะเป็นแพ็กเกจราคา 1,199 ยูโร ที่ลูกค้าสามารถเดินทางได้สองเที่ยวสำหรับวัคซีนสองโดส หรือ แพ็กเกจ 2,999 ยูโร ให้ลูกค้าได้พักผ่อนที่รีสอร์ทเพื่อสุขภาพสุดหรูของรัสเซีย 22 วันโดยได้รับวัคซีนตั้งแต่เริ่มและจบทริป

ทางเลือกที่ 3 คือไปพักสปาในตุรกีโดยแวะที่สนามบินมอสโก ที่เร็วๆ นี้จะตั้งศูนย์ฉีดวัคซีนในอาคารผู้โดยสาร

บริษัทท่องเที่ยวฟิตแทรเวลของเยอรมนี เริ่มเสนอทัวร์ฉีดวัคซีนตั้งแต่เดือน ก.พ.ที่ผ่านมา แต่ไอเดียนี้ถูกชะลอไป เนื่องจากคาดว่าเยอรมนีจะฉีดวัคซีนเพิ่มได้ภายในเดือน เม.ย. แต่ในเมื่อความจริงยังฉีดได้ไม่มาก บริษัทนำเที่ยวก็อาจคิดทำทัวร์วัคซีนอีก

ขณะเดียวกันบริษัท Impfreisen ของออสเตรียก็เปิดให้จองแพ็กเกจทัวร์รวมทุกอย่างรวมถึงการฉีดวัคซีนป้องกันโควิด แต่อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามสถานการณ์

ขยับเข้ามาหน่อยคือเมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) ที่เศรษฐีอินเดียผู้มีวีซ่าพำนักในดูไบแห่กันไปฉีดวัคซีนมาตั้งแต่เดือน มี.ค.ตามที่เป็นข่าว ธุรกิจเครื่องบินเช่าเหมาลำกำลังไปได้ดี สำหรับคนที่ต้องการฉีดวัคซีนของไฟเซอร์ นอกจากนี้ยังมีวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าและซิโนฟาร์มด้วย ซึ่งการฉีดวัคซีนซินโนฟาร์มที่ยูเออีนี่เอง กลายเป็นประเด็นร้อนในมาเลเซีย

เว็บไซต์สเตรทส์ไทม์สรายงานเมื่อวันที่ 20 เม.ย.ว่าประชาชนโกรธแค้นอย่างหนักเมื่อมีข่าวจากเว็บไซต์เอเชียเซนติเนลว่าสมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่านอับดุลลาห์ อาหมัดชาห์ ทรงฉีดวัคซีนแล้วขณะเสด็จเยือนยูเออีเมื่อเร็วๆ นี้ เป็นวัคซีนซิโนฟาร์มที่ยังไม่อนุมัติให้ใช้ในมาเลเซีย และพระองค์ทรงนำกลับมาอีก 2,000 โดสเผื่อพระบรมวงศานุวงศ์และพระสหาย แต่นายอาดัม บาบา รัฐมนตรีสาธารณสุขมาเลเซียปฏิเสธข้ออ้างตามรายงานข่าว

มัลดีฟส์ก็มีแผนการท่องเที่ยววัคซีนอย่างชัดเจนเมื่อประชากรของตนได้รับวัคซีนครบแล้วก็จะฉีดให้กับนักท่องเที่ยว ตามยุทธศาสตร์ 3V ได้แก่ Visit (เยี่ยมเยือน) Vaccinate (ฉีดวัคซีน) และ Vacation (พักร้อน)

อย่างไรก็ตาม มีข้อน่าสังเกตว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่ใช้ในมัลดีฟส์ได้มาจากโครงการโคแวกซ์ที่นานาประเทศลงขันกันจัดซื้อให้กับประเทศที่เข้าไม่ถึง ส่วนใหญ่เป็นวัคซีนผลิตในจีนและอินเดีย อีกทั้งการจัดส่งวัคซีนตามโครงการน่าจะชะงักไปถึงเดือน มิ.ย.เป็นอย่างน้อย และมีรายงานจากสื่อใหญ่อย่าง

Condé Nast ว่า องค์การอนามัยโลกไม่ปลื้มโครงการนี้ของมัลดีฟส์ เพราะแทนที่วัคซีนจะตกอยู่กับประชาชนกลับเอาไปให้คนอื่น

เรื่องจริยธรรมของการท่องเที่ยววัคซีน เว็บไซต์ยูโรนิวส์สรุปว่า ในบางประเทศ เช่น เซอร์เบีย ที่ประชาชนได้ข้อมูลผิดๆ หรือเพราะเหตุผลอื่นทำให้ลังเลไม่กล้าฉีดวัคซีน การเสนอวัคซีนที่เหลือให้คนอื่นฉีดก่อนหมดอายุอาจทำได้ แต่สำหรับประชาชนในประเทศกำลังพัฒนา การท่องเที่ยววัคซีนอาจทำให้การรอคอยที่เคร่งเครียดอยู่แล้วต้องคอยนานไปอีกส่วนประเทศรวยบางประเทศเริ่มผูกขาดการฉีดวัคซีนด้วยการสั่งของมาเกิน ถ้ามีคนพากันไปทัวร์วัคซีนก็ยิ่งซ้ำเติมปัญหา