“พลังงาน” เร่งหามาตรการ บรรเทาโควิดระลอกใหม่

“พลังงาน” เร่งหามาตรการ บรรเทาโควิดระลอกใหม่

“พลังงาน” เตรียมถกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หามาตรการลดค่าครองชีพประชาชน บรรเทาผลกระทบโควิด-19 ระลอก 3 ด้าน “สุพัฒนพงษ์” มอบโจทย์ กกพ.ต่ออายุมาตรการมินิมัม ชาร์จ อุ้มผู้ประกอบการรายใหญ่

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการพิจารณามาตรการเยียวยาผลกระทบการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกที่ 3 โดยจะมุ่งเน้นมาตรการที่จะช่วยลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน เช่น ความเป็นไปได้ในส่วนการลดค่าไฟฟ้า รวมถึงมาตรการอื่นๆ ขณะเดียวกันได้มอบหมายให้ 2 หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงพลังงาน ทั้งการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด(มหาชน) ร่วมพิจารณามาตรการที่จะเข้ามาให้การช่วยเหลือประชาชน และเร่งรัดโครงการลงทุนต่างๆที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศ

“ตอนนี้ กำลังพิจารณามาตรการแบ่งเบาภาระค่าครองชีพให้กับประชาชน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ที่มอบหมายให้ทุกกระทรวงดำเนินการ โดยกระทรวงพลังงาน จะเร่งหารือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และล่าสุด รองนายกฯ และรัฐมนตรีพลังงาน ก็ได้สั่งการให้ กกพ. พิจารณาต่ออายุมาตรการ Minimum Charge ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่เพิ่มเติม”

ทั้งนี้ มาตรการผ่อนผันยกเว้นการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) เป็นการชั่วคราวให้กับผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ หรือครอบคลุมประเภทผู้ใช้ไฟฟ้า ประเภทที่ 3 ประเภทที่ 4 ประเภทที่ 5 ประเภทที่ 6 และประเภทที่ 7 เดิมกำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทดังกล่าวต้องเสียค่าความต้องการพลังไฟฟ้า (Demand Charge) ซึ่งคิดจากค่าไฟฟ้าในอัตราขั้นต่ำในช่วงภาวะเศรษฐกิจปกติ มาเป็นการเสียค่าไฟฟ้าตามจริงในช่วงภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ส่งผลให้ค่าไฟฟ้าลดลง โดยมาตรการนี้ จะสิ้นสุดการช่วยเหลือ เดือน เม.ย. นี้ ก็คาดว่า คณะกรรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อาจจะพิจารณาต่ออายุออกไปอีกประมาณ 3 เดือน หรือ เดือน พ.ค.-ก.ค. นี้ ซึ่งมาตรการนี้ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโรงแรมและธุรกิจท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

ส่วนความคืบหน้าการพิจารณาอนุมัติงบประมาณจากกองทุนส่งเสริมเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ประจำปี 2564 วงเงิน 6,500 ล้านบาท พบว่า มีผู้เสนอยื่นเสนอโครงการเพื่อขอรับงบประมาณถึง 1.5 หมื่นล้านบาท แบ่งเป็น 7 กลุ่มงาน ซึ่งในส่วนของกลุ่มงานที่ 1-6 ผ่านการเห็นชอบเรียบร้อยแล้ว ได้แก่ กฎหมาย วงเงิน 200 ล้านบาท, นโยบายอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน วงเงิน 500 ล้านบาท,งานศึกษา ค้นคว้าวิจัย ฯ355 ล้านบาท ,งานสื่อสาร ฯ 200 ล้านบาท ,พัฒนาบุคลากร 450 ล้านบาท และส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนในกลุ่มโรงงาน อุตสาหกรรม อาคาร บ้านอยู่อาศัย ภาคขนส่ง ธุรกิจฟาร์มเกษตรสมัยใหม่ และพื้นที่พิเศษ 2,200 ล้านบาท

ขณะที่กลุ่มงานที่ 7 กลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานราก วงเงินสนับสนุน 2,400 ล้านบาท เนื่องจากปิดรับข้อเสนอโครงการล่าช้าสุด คือ วันที่ 31 มี.ค. 2564 จึงยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่คาดว่า ภาพรวมทุกโครงการจะอนุมัติเสร็จสิ้นในเดือนพ.ค.นี้ เพื่อให้การใช้งบประมาณของภาครัฐในโครงการต่างๆเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในแต่ละพื้นที่อย่างไรก็ตาม การแพร่ระบาดของโควิด-19 อาจเป็นอุปสรรคการขับเคลื่อนโครงการภาครัฐก็อาจจะพิจารณาขยายกรอบระยะเวลาดำเนินโครงการในระยะต่อไปได้

นายกุลิศ ยอมรับว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกนี้ อาจส่งผลกระทบต่อความต้องการใช้พลังงานในประเทศชะลอตัวลง โดยเฉพาะการใช้ก๊าซธรรมชาติ เพื่อป้อนเป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้า ดังนั้น การพิจารณาเรื่องการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ของผู้ประกอบการรายใหม่ๆ อาจยังไม่ใช่เรื่องเร่งรีบในขณะนี้